เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา สร้างการมีส่วนร่วม มิติใหม่แก้ปัญหาน้ำที่ยั่งยืน
กรมชลประทาน กำหนดวิสัยทัศน์ "เป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2580”
กรมชลประทาน กำหนดวิสัยทัศน์ "เป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2580” ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะเสริมอำนาจประชาชนในระดับพื้นที่ครอบคลุมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ 20 ปี และแนวคิด “RID TEAM” หรือ “เราจะก้าวไปด้วยกัน" ในการขับเคลื่อนงานชลประทาน พร้อมจับมือมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดทำ "โครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และลำพูน"
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า การจัดทำโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของประชาชน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ตลอดจนเป็นช่องทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดรูปแบบโครงการหรือแผนงานในการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
ในขณะเดียวกัน กรมชลประทาน ได้กำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่ระดับชุมชนขึ้นไป ส่งผลให้เกิดเป็นโครงการที่สามารถแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนงานได้อย่างตรงจุด สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ให้รับทราบข้อมูลที่แท้จริง รวมไปถึงการมีบทบาท ภาระหน้าที่ และการดำเนินด้านต่างๆ
นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน หรือร่วมเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานไปจนถึงการทำงานร่วมกันระหว่างประชาชนกับกรมชลประทาน เพื่อนำไปสู่การเสริมอำนาจแก่ประชาชนในการตัดสินใจวางแผนหรือดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จ แก้ปัญหาได้ตรงจุด สร้างความเป็นธรรมและความสุขให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน
สำหรับความคืบหน้าโครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำนั้น เมื่อวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ได้จัดให้มีการประชุมปฐมนิเทศโครงการฯ เพื่อรับฟังความเห็น สร้างความเข้าใจถึงความเป็นมา เหตุผล และความจำเป็นของโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมที่อำเภออมก๋อย และอำเภอดอยเต่า พื้นที่จังหวัดตาก จัดประชุมที่อำเภอท่าสองยาง และพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดประชุมที่อำเภอสบเมย หากประชาชนในพื้นที่ ยังมีข้อกังวลในเรื่องของที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ เนื่องจากไม่มีตลาดสินค้าเกษตร รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ชาวบ้านต้องการให้มีการก่อสร้างฝายทดน้ำหรืออ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก สำหรับเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนไว้ใช้ในพื้นที่
นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนในพื้นที่ อำเภอฮอด มีความต้องการให้กรมชลประทานดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ไปเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับประชาชนในพื้นที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ต้องการให้กรมชลประทานดำเนินการสร้างอาคารบังคับน้ำในลำน้ำปิงท้ายเขื่อนภูมิพล บริเวณอำเภอสามเงาด้วย
การดำเนินโครงการศึกษาสร้างการรับรู้ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนดังกล่าว เป็นการน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานหลักการทรงงานการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” มาต่อยอดขยายผลในการดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด ตลอดจนเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย
กรมชลประทาน จะนำผลที่ได้รับจากโครงการดังกล่าว ไปขยายผลดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรับทราบปัญหา ความคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะที่เกิดจากประชาชนในพื้นที่และสอดคล้องกับสถานการณ์อย่างแท้จริง นับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการหรือแผนงาน ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ เป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง