5 เรื่องคนมักเข้าใจผิด เกี่ยวกับ "บัญชีเงินฝาก" รู้ไว้ ได้ประโยชน์
fintips by ttb แนะนำเรื่องที่หลายคนอาจจะมีความเชื่อ และความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ "บัญชีเงินฝาก" ซึ่งหากเราปรับเปลี่ยนความเข้าใจ และพฤติกรรม จะช่วยให้เราสามารถวางแผนการเงินได้ดียิ่งขึ้น
แม้ว่า “บัญชีเงินฝาก” จะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องมี เนื่องจากเป็นบัญชีพื้นฐานที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่กลับยังมีบางเรื่องเกี่ยวกับบัญชีเงินฝาก ที่คนมักเข้าใจผิด หรือ เข้าใจคลาดเคลื่อน fintips by ttb จึงขอแนะนำเรื่องที่หลายคนอาจจะมีความเชื่อ และความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับบัญชีเงินฝาก ซึ่งหากเราปรับเปลี่ยนความเข้าใจ และพฤติกรรม จะช่วยให้เราสามารถวางแผนการเงินได้ดียิ่งขึ้น
โดยความเชื่อที่หลายคนอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากหลัก ๆ มีทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้
X หากสมุดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดาหาย จะต้องไปทำใหม่สาขาที่เปิดบัญชีเท่านั้น
เป็นความเชื่อที่เข้าใจผิด ซึ่งความจริงนั้นเราสามารถขอออกสมุดบัญชีเงินฝากใหม่ พร้อมแจ้งอายัดสมุดบัญชีเงินฝากเล่มเดิมที่สูญหายได้ทุกสาขา เพียงนำบัตรประชาชนมาติดต่อที่สาขาธนาคาร พร้อมชำระค่าธรรมเนียมขอออกสมุดใหม่ (ค่าธรรมเนียมตามประกาศธนาคาร)
X บัญชีเงินฝากแบบไหน ก็ทำธุรกรรมได้เหมือนกัน
ไม่เหมือนกัน หากเราเลือกใช้บัญชีที่ฟรีค่าธรรมเนียม เช่น ทำธุรกรรมการเงิน ถอน โอน หรือจ่ายค่าอุปโภค บริโภค อย่างน้อย ๆ ใน 1 ปี จะทำให้ประหยัดเงินในกระเป๋าได้ ยกตัวอย่างเทียบเท่ากับดื่มกาแฟในราคาแก้วละ 100 บาทฟรี ประมาณเดือนละ 2 แก้ว
X ฝากออมทรัพย์ ดอกเบี้ยที่ได้ไม่เสียภาษี
ไม่จริง หากฝากเงินแบบออมทรัพย์แล้วได้ผลตอบแทน และดอกเบี้ยรวมทุกบัญชีเกิน 20,000 บาทต่อปี ต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 15% ตามหลักเกณฑ์ของสรรพากร
X บัญชีเงินฝากที่ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุ จะได้ค่ารักษาพยาบาลด้วย
ไม่เสมอไป เพราะบัญชีเงินฝากส่วนใหญ่ให้วงเงินความคุ้มครองอุบัติเหตุในลักษณะชดเชยเงินเป็นจำนวนเท่าของเงินในบัญชี เมื่อเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ จึงจะได้เงินความคุ้มครอง แต่ไม่ได้รวมความคุ้มครองด้านค่ารักษาพยาบาล ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารที่จะเสนอผลิตภัณฑ์ที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลด้วย
X “ผู้ประกอบการ” ใช้บัญชีเดียว ทั้งบัญชีร้าน ทั้งบัญชีส่วนตัว ได้กำไรค่อยแบ่งเก็บ
แนะนำว่าควรแยกบัญชี การรวมบัญชีใช้จ่ายส่วนตัวกับบัญชีร้านค้าเข้าด้วยกันทำให้สับสน และบริหารจัดการเงินได้ยากกว่าเดิม สิ่งที่ควรทำสำหรับผู้ทำธุรกิจค้าขาย หรือผู้ประกอบการ คือ
- แยกบัญชีรายรับ-รายจ่ายส่วนตัว และร้านค้าให้ชัดเจน
- ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ติดตามการใช้จ่ายของตัวเอง
- ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของร้าน เพื่อไม่ให้สับสนในการคำนวณค่าใช้จ่าย ง่ายต่อการคำนวณต้นทุนกำไร รู้ว่าเมื่อไหร่ที่กำลังจะขาดทุน และหาทางแก้ไขได้ทันท่วงที
- แบ่งกำไรจากร้านค้ามาออม โดยอาจจะเริ่มออมจากเงินสำรองฉุกเฉินสัก 6 เดือน และทยอยแบ่งออม พร้อมลงทุนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวเพื่อความมั่นคงทางการเงินมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม อย่ามองข้ามการเงินใกล้ตัวแบบ “บัญชีเงินฝาก” แม้ทุกคนจะใช้งานกันเป็นประจำ แต่หากขาดความรู้และมีความเข้าใจผิด ก็ทำให้เสียสิทธิประโยชน์ในหลายเรื่อง ฉะนั้น รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัญชีเงินฝากกันดีกว่า เพื่อจะช่วยให้จัดการด้านการเงินในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น แถมยังช่วยให้ได้รับประโยชน์จากการใช้บัญชีเงินฝากอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูล : ttbbank.com