เรื่องเล่าโรแมนติกในความผุกร่อนของมุมเมืองเก่า
ท่องมุมเมืองเก่าไปกับบางกอกนัวร์ ผู้หลงใหลแง่งามของความผุกร่อน
ความลึกลับหลีกเร้นไม่ใช่ของน่ากลัวเสมอไป และเป็นสิ่งที่น่าตื่นใจสำหรับคนอีกจำนวนไม่น้อย
หากคุณคือคนหนึ่งที่คลิกติดตามเฟซบุคเพจ: Bangkok Noir บางกอกนัวร์ คุณก็เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบความงามของชุมชนเก่าแก่ อาคารโบราณ สถาปัตยกรรมในอดีต ที่เพียงแค่มองก็รู้สึกถึงเสน่ห์ลึกลับจับใจ เพจที่ถ่ายภาพและนำเที่ยวย่านเก่าของเมืองกรุงมีอยู่มากมาย แต่เพจนี้ต่างตรงที่เน้นมุมหลีกเร้น กับสถาปัตยกรรมเก่าคร่ำคร่าแต่เต็มไปด้วยเรื่องราวชวนระลึก กับสโลแกนที่ว่า “Fairytale in Darktopia”
อิ๋ว - ชวิศา ชวลิตเสวี แอดมินผู้ก่อตั้งเพจเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่ทำงานออกแบบสิ่งพิมพ์ทั้งวารสารของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงพ็อกเก็ตบุ๊คที่หลายคนอาจคุ้นตา หากเป็นแฟนหนังสือของสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด ชวิศาชอบขับรถ ขี่จักรยาน และเดินเท้าตระเวนเข้าไปเก็บภาพอาคาร สถานที่เก่าบ้างร้างบ้าง แต่มีเรื่องราวให้สืบหาอดีตทั้งด้วยจินตนาการและการค้นคว้าเพิ่มเติม จากหนังสือและคำบอกเล่าของคนในพื้นที่
“ชอบความผุกร่อนของกาลเวลา อาคารเก่าเมื่อมาอยู่ในยุคสมัยหนึ่งก็ทำให้เกิดแรงดึงดูดที่แตกต่าง มีเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นอาคาร ผนัง ศาลา ท่าน้ำ อย่างศาลาท่าน้ำเก่าที่เราบังเอิญรู้ประวัติ คนอาจมองผ่าน เราก็ไปถ่ายรูป บรรยาย ทำให้มีตัวตนขึ้นมา บางที่สามารถสืบค้นเรื่องราวได้ บางที่ก็เป็นสถานที่ส่วนบุคคลไม่สามารถเข้าถึง เราก็บรรยายไปตามลักษณะของยุค โดยหาข้อมูลเพิ่มว่าแต่ละยุคมีลักษณะสถาปัตยกรรมอย่างไร”
เพราะเคยทำเพจเกี่ยวกับการถ่ายภาพเมืองกรุงในมุมร้างมาแล้ว เมื่อมาทำบางกอกนัวร์ที่เพิ่งเปิดตัวมาได้ไม่ถึงปี เธอก็คิดว่าทำเพจเล่าเรื่องคงไม่พอ จึงลองจัดทริป “บางกอกนัวร์เที่ยวกัน” ขึ้นมา ตั้งแต่เดือนแรกที่เปิดเพจกับผู้ติดตามราว 700 คนเท่านั้น ทริปก็เต็มภายใน 2 วัน ถึงตอนนี้จะใช้เวลาหลายวันหน่อย แต่การจัด 12 ครั้งที่ผ่านมา ก็ยังมีผู้ร่วมทริปเต็มตลอด
“ตอนนี้เน้นฝั่งธน เริ่มจากการที่กลับมาอยู่บ้านที่ฝั่งธน เราโตมาในชุมชนเก่าแบบนี้ เคยเปิดร้านกาแฟที่อาคารพาณิชย์แห่งแรกในฝั่งธน ซึ่งสร้างแต่สมัยรัชกาลที่ 7 เราก็มองมาตลอด ตอนเด็กๆ ไม่ได้คิดอะไร แค่มองว่าสวยดี กลับกลายเป็นสิ่งที่ประทับอยู่ในใจลึกๆ ไม่สามารถอธิบายได้ ช่วงแรกก็ไม่ได้หาข้อมูลเท่าไหร่ เน้นตระเวนถ่ายรูปเข้าไปในซอกซอย เจออะไรน่าสนใจเยอะ แถวฝั่งธนมีชุมชนเก่าแก่ร้อยสองร้อยกว่าปีอยู่มากมาย หลายที่ตอนนี้กลายเป็นชุมชนแออัดไปแล้ว แต่กลับมีอาคารเก่าอายุ 80 กว่าปีหลงอยู่ท่ามกลางความแออัดนั้น”
ทริปเที่ยวไปกับบางกอกนัวร์ เน้นพาเจาะเข้าไปในสถานที่ที่ไม่ได้รับการเหลียวแล ยังไม่ได้ถูกบูรณะ ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นของใหม่ บางที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากเจ้าของแต่ก็เร้นอยู่ในซอกหลืบ ยากแก่การสังเกตเห็น หรือเห็นแต่ก็ไม่ได้พากเพียรเข้าไปสัมผัส เคาะประตูขอคุยกับเจ้าของ จนเป็นที่มาของการประสานให้กับลูกทริป ได้เข้าไปถึงสถานที่นั้นจริงๆ
อะไรทำให้ชวิศาต้องใช้ความพยายามขนาดนั้น? เมื่อเธอยกตัวอย่างบ้านของพลตรีพระยาอินทรวิชิต ซึ่งสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งอยู่ในมุมหนึ่งของถนนอิสรภาพ แม้ยามนี้หน้าถนนนั้นจะเปิดกว้างเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินแต่ก็ยังมองเห็นได้ยาก มิต้องพูดถึงก่อนหน้านี้ที่ถูกบดบังได้ตึกแถวเก่า จนเมื่อบ้านหลังงามเผยสู่สายตา เราก็ต้องออกปากถามว่า “หาเจอได้อย่างไร” รอยยิ้มเกือบภูมิใจในความพยายามของตัวเอง ชวิศาบอกว่าเพราะ “ความอยากรู้อยากเห็น” ที่ต่อให้ทางเข้าจะลึกหลืบ ยากเย็น ชวนสะพรึง หากไม่เป็นการบุกรุกสถานที่ส่วนบุคคลเธอก็พร้อมที่จะขอเข้าไปให้ใกล้ชิดที่สุด
“มันตื่นเต้นเวลาเจออะไรพวกนี้ ยิ่งไปเจอสถานที่ที่ยังไม่ได้ทำอะไรใหม่ จะขนลุกมาก ไม่ได้คิดว่าน่ากลัวหรือมีผีนะคะ แต่เป็นความตื่นเต้น อย่างตอนเด็กๆ เราเห็นบ้านเก่าปลูกตั้งแต่ ร. 7 ข้างในมีต้นไม้เต็มเลย เป็นเรือนยกพื้นสูงแล้วมีศาลาและบันไดก่อนที่จะเข้าไปในตัวบ้าน เราก็แอบมอง แล้วชอบจินตนาการไปเรื่อย ถึงชีวิตที่ได้อยู่ในบ้านหลังนี้ เรายังจำอารมณ์นั้นได้ ก็ยังมีรูปที่ถ่ายด้วยอารมณ์แอบมองเข้าไปแบบนั้นอยู่เลย”
ความใคร่รู้นั้นเป็นสากล และเป็นจุดร่วมดึงคนมาร่วมทริปกัน ผู้ที่ตอบรับทริปจึงหลากหลาย มีทุกกลุ่มอายุ สารพัดพื้นฐาน การพาคนหมู่มากคราวละ 20 กว่าคนมาเที่ยวด้วยกัน เป็นเรื่องที่ชวิศาต้องปรับตัวไม่น้อย จากคนที่ไม่ชอบพูดคุยหรืออยู่กับคนเยอะๆ และเต็มไปด้วยความกังวลเรื่องข้อมูล เมื่อวางใจมองให้เป็นการเที่ยวด้วยกัน แชร์ความเห็นกัน เธอก็ลดความเครียดและรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น
ตอนนี้บางกอกนัวร์มีทริปหลักอยู่ 2 ทริป ซึ่งใช้เส้นทางเดินเรือล่องจากเจ้าพระยาเข้าคลองเหมือนกัน แต่ต่างที่เส้นหนึ่งขึ้นบกที่วัดกำแพงและวัดอัปสรสวรรค์ แล้วมาจบที่ชุมชนกุฎีเจริญพาศน์ ส่วนอีกเส้นหนึ่งขึ้นบกที่ย่านคลองสานและชุมชนวัดอนงคาราม โดยมีไฮไลต์ของอาคารเก่าต่างกัน ปีนี้เน้น 2 เส้นทางดังกล่าว ส่วนปีหน้า ชวิศาว่าจะลองขยายเส้นทาง หรือเน้นทริปทางบก หรือเป็นทริปยามค่ำคืนก็กำลังวางแผนอยู่
เพจนี้ไม่ได้เป็นทัวร์ท่องเที่ยวไปกับนักประวัติศาสตร์ แต่เหมือนไปกับเพื่อนที่ลัดเลาะและมีความสนใจเฉพาะด้าน ซึ่งบังเอิญทับซ้อนกับความสนใจของเรา หากมีวิทยาการรับเชิญ ก็มักเป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของสถานที่ หรือผู้ดูแล ที่ให้ความรู้ตามประสาคนพื้นที่ที่มีความผูกพันมากกว่าเป็นข้อมูลตามหลักวิชา ซึ่งพร้อมแลกเปลี่ยนความคิด และเล่าเรื่องเก่าๆ หากใครใคร่ถาม
ชวิศายอมรับว่าทริปของบางกอกนัวร์ก็มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ตามจริตความนิยม แต่เพจที่มีผู้ติดตามไม่ถึง 4,000 กับปฏิสัมพันธ์ที่สูง ก็แสดงให้เห็นว่าบางกอกนัวร์มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่เข้าถึงจริงๆ หากยังมีคนมองมุมหม่นของเมืองกรุงเป็นความโรแมนติกเหมือนกัน ทริปเที่ยวกับบางกอกนัวร์ก็คงไปได้อีกยาว