Smartphone อวัยวะชิ้นที่ 33 หรือ สิ่งเสพติด?
ในสังคมของเราในปัจจุบัน โทรศัพท์ Smartphone ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในชีวิตเรา จะเรียกว่าเป็นอวัยวะอีกชิ้นหนึ่งก็ได้
หรือ บางครั้งเราอาจจะมองว่าเป็นสิ่งเสพติดของคนยุคใหม่ก็ได้ครับ ดังนั้น สัปดาห์นี้เรามาดูปรากฏการณ์นี้ที่กำลังลามไปทั่วโลกนะครับ
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากความต้องการของเราในการที่จะเชื่อมต่อหรือ connect กับโลก กับสังคม หรือ กับผู้อื่นตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวยิ่งชัดเจนในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เราเรียกกันว่าเป็นพวก Gen Y ในปี 2012 บริษัท CISCO ได้จัดทำวิจัยขึ้นมาชิ้นหนึ่ง โดยการสอบถามคนรุ่นใหม่ช่วงอายุระหว่าง 18 ถึง 30 กว่า 1,800 คนจาก 18 ประเทศทั่วโลก และพบกว่าโทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นอวัยวะอีกชิ้นหนึ่งของคนรุ่นใหม่จริงๆ
เริ่มกันตั้งแต่ตื่นนอนเลยครับ คนรุ่นใหม่เหล่านี้จะมีความอยากที่จะเชื่อมต่อกับผู้อื่นกันตั้งแต่ตื่นนอนเลย ร้อยละ 90 จากผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก ระบุเลยครับว่ากิจวัตรประจำวันตอนเช้าในปัจจุบันนอกเหนือจากแปรงฟัน แต่งตัวแล้ว ก็ต้องเช็คมือถือก่อนที่จะออกไปทำงานหรือเรียนหนังสือ นอกจากนี้ 3 ใน 4 ของคนรุ่นใหม่ระบุอีกด้วยว่ามีการใช้ Smartphone บนเตียงนอน อีกทั้งกว่าหนึ่งในสามที่จะนำมือถือตนเองเข้าไปทำธุระในห้องน้ำด้วย
จะเห็นได้เลยนะครับว่าเจ้า Smartphone ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในชีวิตคนรุ่นใหม่ แม้กระทั่งช่วงเวลาส่วนตัวสุดไม่ว่าจะเป็นตอนเช้า บนเตียง หรือ ในห้องน้ำ ซึ่งเมื่อมองไปรอบๆ ตัวเราก็เป็นแบบนั้นจริงๆ นะครับ ลูกๆ วัยรุ่นของผมนั้นเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาสิ่งแรกที่ควานหาหรือเรียกหาคือโทรศัพท์มือถือ หรือ คนที่รู้จักหลายคนก็เล่าให้ฟังว่ามือถือกลายเป็นอุปกรณ์บนที่นอนอีกชิ้นนอกเหนือจากหมอนและผ้าห่ม ที่ร้ายกว่านั้นคือบางคนถึงขั้นเป็นริดสีดวงเพราะนำมือถือเข้าห้องน้ำไปด้วยครับ
นอกเหนือจากใช้เจ้า Smartphone ในช่วงเวลาที่เป็นส่วนตัวแล้ว ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่นั้นจะต้องคอยเช็คหรือเหลือบมองมือถือตัวเองตลอดเวลา ร้อยละ 29 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ต้องคอยเช็คมือถือตัวเองตลอดเวลาจนไม่สามารถนับจำนวนครั้งได้ ในขณะเดียวกันหนึ่งในห้าระบุว่าใช้มือถือเช็คเรื่องราวต่างๆ ทุก 10 นาที และอีกหนึ่งในสามของคนทั่วโลกเช็คมือถือทุก 30 นาที นอกจากนี้ยังมีตัวเลขที่น่าสนใจอีกครับนั้นคือผู้หญิงจะเช็คมือถือบ่อยกว่าผู้ชาย (ร้อยละ 85 เทียบกับร้อยละ 63) อีกตัวเลขหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่ามือถือได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 หรือ อวัยวะหนึ่งของร่างกายคือ ร้อยละ 40 ของผู้ตอบแบบสอบถามจะมีความกระวนกระวาย เหมือนกับร่างกายขาดอะไรไปบางอย่าง ถ้าไม่สามารถเช็คมือถืออย่างต่อเนื่อง
จากตัวเลขที่เขาวิจัยมาทั่วโลก เมื่อหันกลับมาดูพฤติกรรมของคนไทยรอบๆ ตัวก็เห็นจะจริงครับ ในรถไฟฟ้านั้นถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าเกือบครึ่งที่ยืนหรือนั่งดูหรือกดโทรศัพท์มือถืออยู่ตลอดเวลา หรือ ในห้องประชุมก็จะพบว่าผู้เข้าร่วมประชุมต่างๆ มักจะอดไม่ได้ที่จะเช็คโทรศัพท์มือของตัวเองอยู่ตลอดเวลา หรือ แม้กระทั่งเดินๆ อยู่เราก็จะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดูอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งเกิดข้อสงสัยเหมือนกันนะครับว่าจริงๆ แล้วเจ้า Smartphone นั้นเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 หรือเป็นสิ่งเสพติดกันแน่?
ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะชิ้นใหม่ของเราหรือสิ่งเสพติด แต่ตัวเลขและพฤติกรรมต่างๆ ข้างต้นเป็นความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้นะครับ และพฤติกรรมข้างต้นนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เป็น Gen Y เท่านั้น กลุ่มคนที่เป็น Baby Boomer และ Gen X จำนวนมากก็มีพฤติกรรมเสพติดมือถือเหมือนคน Gen Y
จริงๆ สิ่งที่เราเสพติดนั้นไม่ใช่เจ้าตัวมือถือหรอกครับ แต่น่าจะเป็นความต้องการของเราที่จะเชื่อมต่อ (Connect) หรือรับรู้ข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอดเวลา โทรศัพท์ Smartphone เป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ทำให้เราได้เชื่อมต่อกับสังคมและโลกภายนอกเท่านั้นเองครับ ซึ่งกระแสของเรื่องการใช้มือถือจนกลายเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งของเราหรือเป็นสิ่งเสพติดนั้น ถือเป็นหนึ่งใน Mega-Trends ที่กำลังลามไปทั่วโลกครับ สำหรับผู้ที่ไม่เสพติดนั้นก็คงต้องทำใจเป็นสำคัญครับ สำหรับนักธุรกิจหรือคนทำงานในองค์กรก็คงต้องหาทางทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสในทางธุรกิจให้ได้นะครับ
สำหรับท่านที่เสพติดนั้น แนะให้ลองทำ Digital Detox บ้างนะครับ นั้นคือตัดขาดจากการเชื่อมต่อเหล่านี้เสียบ้าง อาจจะทำเป็นชั่วโมงหรืออาจจะทำเป็นวันเลย แล้วท่านอาจจะรู้สึกสดชื่นหรือเป็นคนใหม่เหมือนการทำ Detox นั่นแหละครับ