ส.ค.ส.

ส.ค.ส.

ธรรมเนียมส่ง “บัตรอวยพร” ไทยเราเอาอย่างมาจากฝรั่ง

 ที่ใช้ส่งให้กันเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ บัตรนี้เราเรียกว่า “ส่งความสุข” แต่ผู้คนจดจำชื่อย่อ “ส.ค.ส.”

นักสืบค้นคว้าประวัติศาสตร์ “เอนก นาวิกมูล” เขียนไว้ว่า บัตรอวยพรแผ่นแรกของไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์โปรดให้ทำขึ้น เพื่อพระราชทานคณะทูตานุทูต ข้าราชบริพาร และมิตรสหายชาวต่างประเทศ เนื่องในวาระวันขึ้นปีใหม่สากล วันจันทร์ที่ 1 มกราคม 2409

สำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ เดอะ บางกอก รีคอร์ดเดอร์ ของหมอบรัดเลย์ ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2409 เป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุด บันทึก ส.ค.ส.ใบแรกของไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ ปี ค.ศ.1866 หรือ พ.ศ.2409

บัตรอวยพรอันประเมินค่ามิได้อายุ 140 ปีแผ่นนี้ มีผู้ไปพบในร้าน MAGGS BROS.LTD ร้านหนังสือเก่าแก่ ใจกลางกรุงลอนดอน ผู้ซื้อกลับคืนมาสู่แผ่นดินมาตุภูมิ คือ “ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช” นักวิชาการอิสระผู้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามผ่านเอกสารชาวตะวันตก ผู้เขียนหนังสือ “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง”

ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเกิดคำว่า ส.ค.ส. ย่อมาจากคำว่า ส่งความสุข

สำหรับ ส.ค.ส. ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ช่วงปี 2429 มีลักษณะเป็นนามบัตร เขียนคำว่า ส.ค.ส. ปีพ.ศ. ....ลงไป หรือไม่ก็เขียนคำอวยพรลงบนแผ่นกระดาษฝรั่ง นอกจากนี้พบ ส.ค.ส.ฝรั่ง ปะปนอยู่อีกหลายแผ่น เป็นคำถวายพระพร รัชกาลที่ 5 จากข้าราชสำนัก

ส่วนต้นกำเนิด ส.ค.ส. คาดว่า อยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ชาวเยอรมัน พบแม่พิมพ์แผ่นไม้ ทำเป็นภาพรูปบ้าน รูปพระเยซูในวัยเยาว์ พร้อมคำอวยพรว่า Ein gut selig jar หมายถึง “ปีที่ดีและมีสุข”

ต่อมาชาวอังกฤษพัฒนารูปแบบ บัตรอวยพร ให้สวยงาม เพิ่มสีสันมากขึ้น

วารสารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ 1 เดือน มกราคม 2548 ระบุว่า สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รวบรวมบัตรอวยพรย้อนยุค นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงยุคปัจจุบัน ภาพบัตรอวยพร หลากหลายทั้งรูปแบบ สีสัน เป็นบัตรอวยพรที่เจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และชั้นผู้น้อย ส่งมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7

ยุคแรกๆ ลักษณะ ส.ค.ส. ขนาดเล็กเท่านามบัตรปรากฏเฉพาะชื่อ ผู้ส่ง ตำแหน่ง และปีพ.ศ. เท่านั้น ตัวอักษร มีทั้งตัวพิมพ์ เขียนด้วยลายมือ

ส.ค.ส. ยุคต่อมามีขนาดใหญ่ขึ้นเท่าโปสต์การ์ด หรืออาจใหญ่กว่า เป็นภาพวาดสีน้ำ มีสีสัน ลวดลายงดงาม ส่วนใหญ่เป็นภาพดอกไม้ ผลไม้ และสัตว์

ส่วนคำอวยพร มีทั้งเป็นร้อยแก้ว ร้อยกรอง ใช้คำที่แปลกออกไปจากปัจจุบันบ้าง เช่นคำว่า “ศุข” แทนคำว่า “สุข” คำว่า “รฤก” แทนคำว่า “ระลึก” และใช้คำว่า “ถ.ค.ส.” เพื่อ “ถวายความสุข” แด่พระมหากษัตริย์ เป็นต้น

นอกจากส.ค.ส. อวยพรวันปีใหม่ไทย ยังปรากฏบัตรอวยพรเนื่องในวันตรุษฝรั่ง วันที่ 25 ธันวาคม หรือ วันคริสต์มาส และวันขึ้นปีใหม่สากล 1 มกราคม

ปี พ.ศ.2529 และ 2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากร จัดพิมพ์บัตรอวยพรเนื่องในวันวิสาขบูชาขึ้น เพื่อฟื้นฟู และอนุรักษ์ประเพณีการส่งบัตรอวยพรเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา ทรงพระราชนิพนธ์บทอวยพรพร้อมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์รูปวัดพระพุทธรูป เจดีย์ และลวดลายศิลปะไทยที่งดงาม

ส.ค.ส.อวยพรปีใหม่ของไทย นอกจากเป็นเอกสารจดหมายเหตุ มีคุณค่าและความสำคัญ บอกเล่าเรื่องราวในอดีต สะท้อนขนบธรรมเนียมประเพณีในแต่ละยุคสมัย ยังโดดเด่น วิจิตรบรรจงด้านวรรณศิลป์ มีความหมาย ทรงคุณค่าสำหรับผู้ที่ได้รับ

สมัยก่อนคนไทยนิยมส่ง ส.ค.ส.ถึงกัน ทำให้ในช่วงปีใหม่ไปรษณีย์มีภาระส่ง ส.ค.ส. จำนวนมาก แต่ยุคปัจจุบัน นิยมส่ง ส.ค.ส. อิเล็กทรอนิกส์ มากขึ้น ส.ค.ส.หายไปจากแผงขายการ์ด เช่นเดียวกับการ์ดอวยพรต่างๆ ห่างหายไปจากชีวิตผู้คน เมื่อการอวยพรออนไลน์ เข้ามาแทนที่

ผู้คนหมู่มากเลิกส่ง ส.ค.ส.กันแล้ว แต่มี ส.คส.นักการเมืองทำแจกชาวบ้าน ที่มีปัญหาคือสอดแทรกถ้อยคำบางประโยคเอาไว้อย่างมีนัย จึงโดนห้ามแจกจ่าย

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า “...รู้ว่ามีการกระทำผิดกฎหมายแล้วทำไมจะเอาไปบูชากันหรืออย่างไร คนดีๆ ตั้งเยอะแยะ ถ้าคิดว่าไม่ได้ผิดจริงก็กลับมาจะทำปฏิทินให้หลายๆ เล่มด้วย...