ภาษาอังกฤษเด็กไทยไม่ก้าวหน้า ปัญหาอยู่ที่ใคร?

ภาษาอังกฤษเด็กไทยไม่ก้าวหน้า ปัญหาอยู่ที่ใคร?

ภาษาอังกฤษมีบทบาทสำคัญที่มาพร้อมกับความคาดหวังว่า การแข่งขันจะเป็นไปอย่างเสรีในประชาคมอาเซียน

ในเบื้องต้นก่อนที่จะค่อยๆ เชื่อมโยงไปสู่ประชาคมโลกเป็นลำดับถัดไป

แต่พอหันมาพิจารณาศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยแล้ว ก็ต้องใจหาย ประสิทธิภาพที่ควรมาพร้อมกับค่าแรงหรือเงินเดือนที่สูงขึ้น กลับไม่มีภาษาอังกฤษของคนไทยที่เกิดอาการอักเสบในวันนี้ แม้ว่าเด็กไทยจะมีโอกาสเรียนรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น ทั้งจากครูผู้สอนและสื่อหลากหลาย แต่เครื่องหมายคำถามตัวมหึมายังคงปรากฏให้เห็นอยู่ว่า ทั้งที่เด็กไทยปัจจุบันมีตัวช่วยมากมาย มีโอกาสได้สัมผัสและพัฒนาภาษาอังกฤษมากกว่าเก่าก่อน แต่ไฉนผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ) กลับยังคงอยู่ในกลุ่มวิชาที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด (23.98)

ด้วยประสิทธิภาพที่ตกต่ำ ทำให้ผู้กำหนดชะตาการศึกษาไทย โดยพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนโยบายเพิ่มจำนวนชั่วโมงในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาจาก 40 ชั่วโมงเป็น 200 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา ซึ่งกำหนดให้มีการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษทุกวันเพื่อความต่อเนื่องในการเรียนรู้ ระยะเวลาผนวกกับความถี่ในการฝึกฝน คาดว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำได้ดี

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดคือครูต้องเก่ง ปริมาณครูต้องเพียงพอ ที่ผ่านมาจำนวนครูภาษาอังกฤษในแต่ละโรงเรียนกลับไม่สมดุลกับปริมาณนักเรียน บางแห่งนำครูที่ไม่ได้จบภาษาอังกฤษโดยตรงมาสอนย่อมเกิดปัญหา ครูก็ขาดความมั่นใจในการสอนนักเรียนก็ไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่ ดังนั้นการนำครูมาอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาครูและแกนนำด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ถือเป็นกิจกรรมที่น่าสนับสนุน เพราะครูจะได้แนวคิดในการสอนจากวิทยากรที่เก่งๆ เข้าใจในวิธีการสอนและสามารถจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อดึงดูดความสนใจเด็กได้ตลอดคาบเรียน

ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือจำเป็นในการติดต่อสื่อสารในโลกยุคปัจจุบันการติดต่อสื่อสารมีขอบข่ายที่ขยายกว้างขวาง และยังเป็นสังคมโลกที่มีการแข่งขันสูงหนึ่ง เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ซึ่งเส้นทางสู่ความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษมีหลากหลายเส้นทาง แต่ละเส้นทางอาจเหมาะกับคนหนึ่ง แต่กับอีกคนกลับไม่เป็นดังที่หวัง ฉะนั้น ไม่มีเส้นทางไหนการันตีความสำเร็จไว้ที่ปลายทาง ต้องลองหลายๆ วิธี

หยาง หยวนชิง ประธานบริษัทคอมพิวเตอร์ Lenovo ที่มีจำหน่ายทั่วโลก ฐานการผลิตใน 4 ประเทศ พนักงานกว่า 46,000 คน คืออีกหนึ่งตัวอย่างในการพัฒนาภาษาอังกฤษ แม้นจะเริ่มต้นช้าไป แต่ตัวเลขอายุมิได้เป็นอุปสรรคขวางกั้นในการฝึกฝน เขาเติบโตมาจากครอบครัวยากจนในต่างจังหวัด และเรียนทางด้านเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ถึงจะจบระดับมหาวิทยาลัย แต่ศักยภาพด้านภาษาอังกฤษของเขากลับอยู่ในระดับประถม จวบจนอายุย่าง 40 ปี เขาจึงเริ่มฝึกฝนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง อาจเป็นเพราะบริบททางสังคมและตำแหน่งหน้าที่ช่วยบีบเขาอีกแรง เขาอยู่ในตำแหน่งที่จำต้องพบปะกับคนในขอบเขตที่กว้างใหญ่กว่าเดิม ตลาดได้ขยายไกลไปในอเมริกาและยุโรป ความจำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษจึงย่างกรายเข้ามาแม้นเขาจะพูดภาษาอังกฤษได้เพียงเล็กน้อย แต่เขากล้าประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการของบริษัททุกคนในบริษัทต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ การประกาศครั้งนั้นเป็นการบังคับเขาเองกลายๆ ว่าถึงคราวที่เขาต้องพัฒนาภาษาอังกฤษให้อยู่ในระดับที่สามารถสื่อสารได้

ไม่ต่างอะไรจาก แจ๊ค หม่า มหาเศรษฐีระดับโลกอีกคนที่ผันตัวจากครอบครัวยากจนแต่มีความใฝ่ฝันอยากพูดภาษาอังกฤษได้ตั้งแต่เด็ก ทุกเช้าเขาเดินทางออกจากบ้านด้วยจักรยานคู่ใจไปตามโรงแรมต่างๆ เพื่ออาสาเป็นไกด์พาฝรั่งเที่ยว โดยหวังว่าจะช่วยให้เขาได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมนอกห้องเรียน เป็นการฝึกฝนภาษาอังกฤษจากสนามชีวิตจริง นำเอาหลักทฤษฎีก้าวเข้าสู่ภาคปฏิบัติเก็บเล็กผสมน้อยจากคำศัพท์เล็กๆ ค่อยๆ ต่อยอดเป็นประโยคต่างๆ พูดประโยคเดิมซ้ำซากจนปากขยับไปตามรูปประโยคที่เคยชิน สามารถพูดได้อย่างแคล่วคล่องและถูกต้องตามหลักภาษา

แม้นจะพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยถึงสามครั้งแต่ก็เหมือนสวรรค์ไม่เข้าข้างจึงจำต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินหันไปเรียนที่วิทยาลัยครูหางโจว และเริ่มต้นอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษกินเงินเดือนแค่ 20 ดอลลาร์ จนวันหนึ่งโอกาสได้ยื่นมือมาถึง เมื่อเขาเดินทางไปเป็นล่ามในการประชุมที่เมือง Seattle ประเทศอเมริกา จากโอกาสเล็กๆ ในตรอกแห่งอาชีพที่แสนคับแคบครานั้น กลับช่วยให้เขาได้รู้จักการซื้อขายสินค้าผ่านทางระบบออนไลน์ จนต่อยอดพัฒนากลายเป็นธุรกิจออนไลน์อาลีบาบา ที่โด่งดัง

กว่าเขาทั้งสองจะมาถึงจุดที่ยืนอยู่ปัจจุบันนี้ได้ พวกเขาต้องผ่านเกาะแก่งหินและเส้นทางที่คดเคี้ยวมากมายเพื่อทดสอบความอดทน พวกเขาอาศัยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเอง โดยเริ่มต้นจากการเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ จากนั้นก็เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความขยันและใส่หัวเชื้อแห่งความอดทนในการฝึกฝนลงไปมาวันนี้ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษของพวกเขาได้ผลิดอกออกผล เป็นของขวัญล้ำค่าที่พวกเขาได้รับ ภาษาอังกฤษสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตเขาทั้งสอง ช่วยให้พวกเขาสามารถดำเนินธุรกิจไปทั่วโลกได้อย่างไม่สะดุดทั้งสองต่างพัฒนาตนเองจาก Zero ก้าวไปสู่ระดับ Hero ทั้งด้านฐานะทางการเงิน ศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และความสามารถทางภาษาอังกฤษ ซึ่งถือเป็น Role Model ในการพัฒนาตน ที่ควรเจริญรอยตามเป็นยิ่งนัก

แต่ปัญหาที่เกิดกับคนไทยเรามีต้นธารมาจากอะไรกันแน่

1) ครูไม่เก่ง ครูที่คือปัจจัยสำคัญที่สุดในเส้นทางสายเสมานี้ การเป็นครูจะต้องเก่งทั้งเนื้อหาและลีลาการสอน อธิบาย ให้ตัวอย่างประกอบและเล่าเรื่องอย่างไร จึงจะถ่ายทอดเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่าย ใช้เวลาในการอธิบายไม่มากก็สามารถทำให้นักเรียนจำได้ง่าย ใช้ได้คล่อง และถูกต้องตามหลักภาษา

2) ตัวเด็กเองไม่ใส่ใจ สิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กอยากเรียน คือครูจะต้องสร้างแรงบันดาลใจและให้เห็นความจำเป็นกระตุ้นให้เขาหาเวลาเข้าไปตีสนิทกับภาษาอังกฤษทุกวัน เอาภาษาอังกฤษมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ยิ่งภาษาอังกฤษเป็นวิชาทักษะ เป็นของต้องสะสมไปเรื่อยและใช้บ่อยๆ จำให้แม่น ปฏิบัติให้มั่น จะหาเทคนิคคิดลัดคงไม่มีเพราะ 50% แห่งความสำเร็จในการเรียนภาษามาจากตัวผู้เรียนเอง หากระดับความขยันอดทนในการฝึกฝนลดลงก็ยากที่จะถึงฝั่งฝัน

3) หลักสูตรไม่เอื้ออำนวย ผลการทดสอบภาษาอังกฤษของเด็กไทยยังอยู่ในอันดับท้ายๆ เมื่อเปรียบเทียบกับวิชาอื่นๆ สะท้อนถึงประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาไม่ถูกทิศทาง เด็กมีพื้นฐานความรู้ไม่แน่นเนื้อหาควรกระตุ้นให้นักเรียนมีความกล้ามิใช่กลัวที่จะพูด ควรหาฝรั่งอาสาสมัครที่เกษียณอายุแล้วเข้ามาสอนให้มากขึ้น เป็นการให้โอกาสเด็กได้สัมผัสกับฝรั่งให้มากขึ้น ยอมทุ่มเพื่อการพัฒนา แล้วเสริมด้วย e-Learning เข้ามาช่วยในการสอน

การเรียนอย่างไรให้เก่งเร็ว ครูพี่แนนแนะนำว่า วิธีเรียนให้ได้ผลดีที่สุดและสั้นที่สุดคือ Copy Best Practice เลียนแบบคนที่เก่งที่สุดในเรื่องนั้นๆ ขณะที่ Christopher Wright นักเขียน พิธีกร ครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดัง (Chris Delivery) ก็ให้ข้อคิดว่า การเรียนภาษาอังกฤษมิใช่การเรียน (Learning) แต่มันคือการเลียนแบบ (Imitation)” สังเกตเขาออกเสียงอย่างไร จากนั้นก็เลียนแบบ ออกเสียงให้เหมือนกับเจ้าของภาษาให้มากที่สุด อย่าเขินอายที่จะพูด

----------------------

ผศ. บุญเลิศ วงศ์พรม

มหาวิทยาลัยศรีปทุม