“อาหารเพื่อสุขภาพ” Mega-trend ของคนรักสุขภาพ
นอกจาก Digital Economy ซึ่งเป็น Mega-trend ที่สำคัญของโลก ปัจจุบันอาหารเพื่อสุขภาพกำลังได้รับความสนใจจนกลายเป็น Mega-trend ที่สำคัญเช่นกัน
จากผลการสำรวจของหน่วยงาน Euromonitor International พบว่า มูลค่าตลาดของอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 6-7 ต่อปี และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2560 มูลค่าตลาดอาจสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศ จีน บราซิล และสหรัฐอเมริกา ครองอันดับ 1 ถึง 3 ของประเทศที่บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพสูงสุดตามลำดับ
ประเทศไทยซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น จนทำให้พฤติกรรมในการบริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่มีการศึกษา และอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เป็นกลุ่มประชากรที่มีความฉลาดและเลือกสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อยู่ในอันดับที่ 19 ของโลก รองจากประเทศในกลุ่ม AEC อย่างอินโดนีเซีย เพียงชาติเดียว ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น เวียดนาม และ กัมพูชา อยู่ในอันดับที่ 20 และ 21 รองจากไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ประเทศที่มีประชากรสูง เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น ก็เป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะมีมูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพอยู่ในอันดับต้น ๆ ขอเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) อธิบายว่า "อาหารเพื่อสุขภาพ" เป็นคำที่ตั้งขึ้นมาเรียกอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักว่าการทานอาหารครบ 5 หมู่ ถูกหลักโภชนาการ ปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อน เลือกใช้วัตถุดิบขัดสีน้อยที่สุด ปรุงแต่งอาหารเท่าที่จำเป็น เพื่อแสดงความเป็นมิตรกับสุขภาพ หยุดสุขภาพเสื่อมแบบเร่งด่วนจากสารเคมีสังเคราะห์ในอาหาร
ในงาน Food Ingredient Asia 2015 ที่ไบเทคฯ บางนา เมื่อปลายปีที่แล้ว ได้สรุปแนวโน้มธุรกิจอาหาร ในปี พ.ศ.2559-2560 ที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง ได้แก่
1.อาหารเพื่อสุขภาพและอาหารจากธรรมชาติ (Health and Natural Ingredients) เป็นอาหารจากธรรมชาติและอาหารออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์อาหารปราศจากลูเตน และแลคโตส อาหารที่มีสัดส่วนของน้ำตาลและไขมันต่ำ อาหารมังสวิรัติ เป็นต้น
2.อาหารสำหรับผู้สูงอายุ (Food for Older Adults) ผลการสำรวจล่าสุดของวิทยาลัย การจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่อง Aging Society ระบุว่า กลุ่มคนอายุ 48-57 ปี ปัจจุบันกำลังจะเป็นผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้ประชากรสูงวัยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ที่สะดวกต่อการใช้ เช่น ขวดกาแฟที่จับถนัดมือ เปิดง่าย อาหารจานเดียวที่ผสมเครื่องปรุงบำรุงสุขภาพ จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว
3.อาหารฟิวชั่น (Fusion Food) คือ อาหารที่ผสมระหว่างวัตถุดิบและสไตล์อาหาร ตั้งแต่ 2 ชนิด ขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ หรืออาหารทะเล ที่เน้นความลงตัวของรสชาด ที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละประเทศ
4.อาหารสำเร็จรูปสำหรับคนเมือง (Ready to Eat) ในปี พ.ศ. 2563 แนวโน้มประชากรที่อาศัยในตัวเมือง จะเพิ่มจากร้อยละ 50 เป็น ร้อยละ 60 รูปแบบการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้อาหารประเภท Ready to eat ที่มีอายุการเก็บรักษานาน ได้รับความนิยมมากขึ้น
5.อาหารฮาลาล (Halal Foods) ภายในปี 2030 ประชากรมุสลิมทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 2.2 พันล้านคน คิดเป็น 26.4 % ของประชากรทั้งโลก ทำให้ตลาดอาหารฮาลาล ขยายตัวขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอาหารจีนและอินเดีย
6.ยุคของเครื่องดื่มและอาหารเสริม (The Era of Nutritious) อาหารเสริมและวิตามิน ที่ช่วยในการทำงานของสมอง และระบบภูมิคุ้มกัน อาหารควบคุมน้ำหนัก บำรุงหัวใจ อาหารที่ช่วย ให้การทำงานของระบบการย่อยดีขึ้น
7อาหารปลอดภัย (Food Safety) คืออาหารที่ปราศจากสารเคมี อาหารปลอดสารพิษ ที่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่ผู้บริโภคเชื่อถือ
8.โซเชียลมีเดีย ออนไลน์ และบริการส่งถึงที่ (Social Media Online Market and Delivery ) จากพฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟน และโซเชียลมีเดีย ทำให้อาหารที่มีการบรรจุหีบห่อสวยงาม ผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน สะดวกต่อการขนส่งได้รับความนิยมมากขึ้น
9.อาหารควบคุมน้ำหนัก (Digital to Diet) คืออาหารที่มีไขมันต่ำ น้ำตาลน้อย อาหารคาร์โบไฮเดรตน้อย เช่น แป้งไม่ขัดขาว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังธัญญพืช
10.ถึงเวลาของ Generation Z (It s time to Generation Z) ภายใน 5 ปี ข้างหน้า Gen Z จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีบทบาทในองค์กรต่าง ๆ อาหารที่ผลิตเพื่อตอบสนองรสนิยมของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ที่มีกำลังซื้อสูงจะมีอนาคตที่สดใส
สำนักงานนวัติกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ สนช. ได้มีโครงการต่างๆ สนับสนุนภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพหลากหลายโครงการ เช่น โครงการอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก โครงการอาหารสหรับผู้ป่วยโรคไต และมีแผนที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตามยุทธศาสตร์ "นวัตกรรมครัวไทยสู่ครัวโลก" โดยมุ่งเน้นใช้วิทยาศาสตร์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่าเชิงโภชนาการที่เหมาะสมกับผู้บริโภค ท่านผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางอีเมล์ [email protected]
ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยพืชพันธ์ธัญญาหารที่หลากหลาย มีวัตถุดิบในการผลิตอาหารทีมีราคาไม่แพง คนไทยมีความชำนาญในการผลิตอาหารที่ทั่วโลกให้การยอมรับ
นับเป็นโอกาสที่สำคัญที่ท่านผู้ประกอบการจะต้องให้ความสนใจ และให้ความสำคัญอย่างยิ่งครับ