สภาพคล่องของหุ้นกับการตัดสินใจลงทุน
สภาพคล่องของหุ้นกับการตัดสินใจลงทุน
“สภาพคล่อง“ ที่เรากำลังพูดต่อจากนี้เป็นสภาพคล่องของจำนวนหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหุ้น ที่เรามักจะได้ยินว่า หุ้นตัวนี้มีสภาพคล่องสูงหรือสภาพคล่องที่ต่ำ ผู้แนะนำการลงทุนหรือนักวิเคราะห์อาจพูดกับลูกค้าว่าควรเลือกหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงๆไว้ก่อนจะได้ซื้อง่ายขายคล่อง
ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าสภาพคล่องของหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดนั้นมาจากหุ้นทั้งหมดของบริษัทหักหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่และผู้บริหารระดับสูงออกไป จะคงเหลือหุ้นที่จะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในตลาดของผู้ถือหุ้นส่วนที่เหลือ ตามนิยามของตลาดหลักทรัพย์จะใช้ชื่อว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือ Free Float นั่นเอง และเพื่อให้การเข้ามาเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนของแต่ละบริษัท มีหุ้นที่ซื้อขายกันในระดับที่ไม่น้อยเกินไป ตามเกณฑ์ของตลาดฯ จะไม่ควรต่ำกว่า 15% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ดังนั้น ปัจจัยที่มีผลต่อสภาพคล่องของหุ้นสำคัญที่สุด คือ Free Float นั่นเองบนพื้นฐานที่ว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือ Partner จะถือครองหุ้นไว้โดยไม่มีการขายหุ้นออกมาเพื่อรักษาสิทธิในการบริหารหรือความเป็นเจ้าของกิจการไว้ ผู้ถือหุ้นรายย่อยจึงเป็นกลุ่มที่พร้อมจะขายหุ้นได้ตลอดเวลา
ไม่ใช่เพียงหุ้นที่มี Free Float น้อยจะซื้อขายน้อย แต่หุ้นที่มี Free Float มาก ก็มีสภาพคล่องที่น้อยได้เช่นกัน แม้หุ้นในตลาดปัจจุบัน ประมาณ 725 หลักทรัพย์ มี Free Float เฉลี่ย 42% แต่ถ้านับหุ้นที่มีการซื้อขายที่เกิน 1 ล้านบาทต่อวัน จะอยู่ในช่วง 60-80% ของหุ้นทั้งหมด แล้วหุ้นที่เหลือทำไมจึงซื้อขายน้อยเราประเมินว่ามาจาก 2 เหตุผลหลักๆ
ประการแรกคือ คนไม่รู้จักและประการที่สองคืออยู่ที่ตัวธุรกิจของบริษัทเอง โดยเหตุผลแรกเกิดจากบริษัทอาจอยู่ในตลาดมานานหรือผู้บริหารไม่ต้องการให้ข้อมูลแก่บุคคลภายนอก แม้ธุรกิจของบริษัทจะดี แต่นักลงทุนอาจไม่กล้าเสี่ยงที่จะเข้าลงทุนเพราะมีเพียงข้อมูลที่บริษัทส่งให้ตลาดฯตามเกณฑ์ หุ้นตัวนั้นก็จะมีการซื้อขายที่น้อย บางครั้งผู้บริหารลืมไปว่า การสร้างมูลค่าให้กิจการ ไม่ได้เกิดจากการทำให้บริษัทมีกำไรหรือมีการเติบโตอย่างเดียวแล้วให้นักลงทุนไปมองเห็นเมื่อผลลัพธ์ปรากฎแล้ว แต่ส่วนหนึ่งมาจากการสื่อให้คนภายนอกเห็นการเติบโตของบริษัทในอนาคตว่ามากเพียงใดมูลค่ากิจการก็อาจจะสูงขึ้นได้ เพราะราคาหุ้นที่ซื้อขายอยู่นั้นสะท้อนมาจากการเติบโตของกิจการในอนาคตทั้งสิ้นไม่ใช่บนกำไรที่เห็นอยู่ในงวดปัจจุบันอย่างเดียว
เหตุผลประการที่สอง คือตัวธุรกิจของบริษัทเองที่มองได้ทั้งสองด้าน คือผลการดำเนินงานไม่ดี (ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้) หรือผลการดำเนินงานดีต่อเนื่องจนทำให้ไม่มีผู้ถือหุ้นขายหุ้นออกมา(รอรับแต่เงินปันผล)
ราคาหุ้นที่สภาพคล่องสูงกับหุ้นที่สภาพคล่องต่ำก็จะมีความแตกต่างกัน เมื่อใช้ P/E เป็นตัวเปรียบเทียบหรือประเมินราคาหุ้นที่มีผลการดำเนินงานใกล้เคียงกัน จากการสังเกตุของเราพบว่าหุ้นที่มีการซื้อขายน้อยมักจะมีค่า P/E ที่ต่ำด้วย และกลายเป็นค่าที่อ้างอิงในการประเมินราคาที่เหมาะสมของหุ้นตัวนั้นๆไปในที่สุด เราเรียกว่าเป็น “Character” ของหุ้นตัวนั้น (ถ้าเคยต่ำ ก็จะไม่สูงหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดในตัวธุรกิจ) หรือถ้าเป็นการทำราคาที่เหมาะสมของหุ้นโดยนักวิเคราะห์ ก็จะมีการ discount ค่า P/E ลงจาก P/E (หรือเครื่องมืออื่นๆ) ที่ใช้กับหุ้นที่มีสภาพคล่องสูงกว่าหรือหุ้นที่ใช้เป็น Benchmark ของกลุ่มนั้นๆ
และอีกมุมมองหนึ่งที่ทำให้ค่า P/E หุ้นที่สภาพคล่องน้อยอยู่ในระดับต่ำมาจากนักลงทุนไม่กล้าที่จะซื้อแบบไล่ราคาหรือซื้อจำนวนมากเพราะเกรงว่าซื้อไปแล้วเวลาขายออกจะทำได้ยากการซื้อขายจึงติดอยู่กับค่า P/E อย่างที่เคยเป็นมา
ดังนั้นแล้ว เวลาที่จะลงทุนควรต้องคำนึงถึงเรื่องสภาพคล่องด้วย เมื่อตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นนักลงทุนก็พากันเข้าซื้อ แต่เมื่อตลาดปรับตัวลงก็อาจจะติดดอยได้นะครับ จึงควรต้องมีที่ปรึกษาการลงทุนที่ช่วยให้คำแนะนำจังหวะการลงทุนที่สำคัญ โดย บล.KTBST มีทีมการลงทุนที่เชี่ยวชาญและติดตามการลงทุนตลอดเวลาที่พร้อมดูแลการลงทุนในทุกสภาวะตลาดครับ