นโยบายจีนเดียวและสงครามการค้าโลก?

นโยบายจีนเดียวและสงครามการค้าโลก?

เริ่มต้นจากการประกาศว่ารับสายโทรศัพท์คุยกับประธานาธิบดีไต้หวัน ทรัมป์ประกาศว่า

เขาจะใช้ นโยบายจีนเดียว เป็นหมากของการต่อรองทางการค้ากับจีน ซึ่งจีนออกมาบอกแล้วว่าจะไม่เจรจากับทรัมป์ในเรื่องนี้

1.นโยบายจีนเดียวคืออะไร

ต้นกำเนิดของนโยบายจีนเดียวย้อนกลับไปตั้งแต่สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang– KMT) และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งพรรค KMT ที่แพ้พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ลี้ภัยไปอยู่ที่ไต้หวันพร้อมผู้สนับสนุนอีกราว 1.5 ล้านคน พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China –PRC) ในปี ค.ศ.1949

หลังจากนั้นคำว่า “จีนเดียว” กลายเป็นข้อตกลงเบื้องต้นสำหรับประเทศที่ต้องการสร้างสัมพันธ์กับประเทศจีนว่า ต้องไม่ยอมรับในอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน จีนจริงจังกับเรื่องนี้มาก และสามารถใช้กำลังเข้าคุกคามได้ หากจำเป็น

ประชาคมระหว่างประเทศในอดีตเคยให้การรับรองไต้หวันมากกว่าปักกิ่ง ไต้หวันเคยมีที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งสหประชาชาติ และเคยได้รับการรับรองว่าเป็นรัฐบาลจีนเพียงรัฐบาลเดียว แต่สถานภาพนี้ก็หมดไปในปี ค.ศ.1971 เมื่อสหประชาชาติเปลี่ยนนโยบายความสัมพันธ์ทางการทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ที่นั่งแทนที่ เช่นเดียวกับที่นานาประเทศที่หันไปยอมรับนโยบายจีนเดียว จนถึงปัจจุบันนี้ เหลือเพียง 22 ประเทศทั่วโลกที่มีความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐจีน

2.จีนมองไต้หวันอย่างไร

จีนมองไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ต้องนำกลับมาเป็นของจีนในวันหนึ่งและต้องใช้กำลังหากจำเป็น สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้จีนอ้างเช่นนั้นมาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ และเหตุผลทางความมั่นคง

จีนมักจะอ้างที่มาทางประวัติศาสตร์ในการครอบครองไต้หวัน จากการที่ไต้หวันเคยเป็นเมืองขึ้นของดัตช์ในช่วงสั้นๆ (ค.ศ.1642-1661) ต่อมาในปี ค.ศ.1683 ไต้หวันได้ถูกกองทัพของราชวงศ์หมิงผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของจีน ซึ่งในช่วงนี้เองที่คนจีนได้อพยพเข้าไปในไต้หวันจำนวนมาก และเป็นบรรพบุรุษของคนไต้หวันในปัจจุบัน ต่อมาในปี ค.ศ.1895 จีนแพ้สงครามกับญี่ปุ่น ราชวงศ์ชิงจึงส่งมอบไต้หวันให้ญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง จีนจึงได้ไต้หวันกลับคืนมาจากตามปฏิญญาไคโร (ค.ศ.1943) และปฏิญญาพอตสดัม (ค.ศ.1945) ดังนั้นตามสนธิสัญญาทั้งสอง ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีน

แม้จะอ้างเหตุผลทางประวัติศาสตร์ แต่เหตุผลที่สำคัญยิ่งกว่าคือเหตุผลทางความมั่นคงของประเทศ ไต้หวันคือสัญลักษณ์ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประเทศจีน หากจีนปล่อยให้ไต้หวันแยกตัวออกเป็นอิสระจะเป็นตัวอย่างให้กับมณฑลต่างๆ ทางตะวันออกของจีน ที่ต้องการแยกตัวออกเป็นอิสระออกมาเรียกร้องเอกราชเช่นเดียวกัน การคงสถานภาพของไต้หวันไว้เช่นนี้จึงมีความสำคัญกับความมั่นคงของจีนมาก

3.ไต้หวันมองจีนว่าอย่างไร

ในระยะแรกพรรค KMT มีความสัมพันธ์ที่แย่กับจีน ไต้หวันคิดว่าตนเองเป็นประเทศเอกราช และวันใดวันหนึ่งจะกลับมาสู้เพื่อแย่งจีนแผ่นดินใหญ่กลับคืนมา แต่ในภายหลัง พรรค KMT และผู้สนับสนุนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนมากขึ้นเนื่องจากไต้หวันไปลงทุนที่จีนเป็นจำนวนมาก จากสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เหนียวแน่นนี่เอง ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศหันหน้าเข้าหากันมากขึ้น ในระยะหลังพรรค KMT จึงสนับสนุนข้อตกลง ค.ศ.1992 ที่เสนอโดยจีนว่า ไม่สนับสนุนให้ไต้หวันแยกตัวออกมาจากจีน และสนับสนุนการเป็นจีนเดียว

ในขณะที่คู่แข่งของพรรค KMT คือ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party - DPP) มีนโยบายตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง คือ ต้องการแยกไต้หวันให้เป็นอิสระจากประเทศจีน และต้องการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง (identity) ที่แตกต่างจากจีน ชัยชนะของเฉิน สุย เปี่ยน จากพรรคดังกล่าวซึ่งได้เป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ.2000-2008 ได้จุดกระแสความร้อนแรงของการแยกตัวเป็นเอกราชอีกครั้ง แต่อุณหภูมิดังกล่าวก็ลดลงเมื่อ หม่า อิง จิ่ว จากพรรค KMT ก้าวเข้ามาเป็นประธานาธิบดี และสนับสนุนนโยบายปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศจีน แต่พอ ไช่ อิง เหวิน จากพรรค DPP ได้เป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ.2016 นางก็มีนโยบายเป็นไปในทางแยกตัวออกจากจีน

จุดยืนของพรรคคู่แข่งหลักในไต้หวันคือ พรรค KMT และพรรค DPP จึงมีความแตกต่างกัน และนี่ปัจจัยทางการเมืองภายในที่สำคัญที่สุด และทำให้กระแสแยก-รวม ไต้หวันกับจีน คุกกรุ่นอยู่ในการเมืองภายในประเทศของไต้หวันถึงปัจจุบัน

4.จีนเดียวและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เรื่องการเมือง-ความมั่นคงภายในประเทศทั้งสอง กลายไปเป็นเรื่องระดับโลกเนื่องจากจีนคือประเทศมหาอำนาจ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์มองว่าเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ นโยบาย “จีนเดียว” จึงถูกนำมาใช้เป็นหมากทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาเคยสนับสนุนไต้หวันมาก่อน แต่ในปี ค.ศ.1979 ประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ได้ประกาศหยุดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน อย่างไรก็ตาม รัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎมหายความสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ยืนยันความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการกับไต้หวัน กฎหมายนี้ออกมาแทนที่สนธิสัญญาป้องกันร่วม ที่ให้คำสัญญาว่าจะปกป้องความมั่นคงของไต้หวัน และให้ความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นที่เคยทำมาระหว่างกันก่อนหน้านี้

นโยบายของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ.1979 เป็นต้นมาจึงสนับสนุนนโยบายจีนเดียว และสนับสนุนให้จีนเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาค ซึ่งไม่ใช่มหาอำนาจโลกในระดับที่จะขึ้นมาท้าทายตำแหน่งของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาหลีกเลี่ยงการติดต่อกับไต้หวันอย่างเป็นทางการ และวางสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เป็นมหาอำนาจในภูมิภาค

5.การใช้นโยบายจีนเดียวเป็นหมากทางการค้า

จีนไม่ได้อยากใช้กำลังกับไต้หวันหากไม่จำเป็น เพราะจีนจะแลดูเป็นประเทศที่บ้าคลั่งกระหายสงคราม นอกจากนี้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศก็มากโขอยู่ การทำสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างกันเป็นเรื่องที่แพงเกินไปสำหรับเศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกันขนาดนี้ แต่จีนก็ไม่อาจปล่อยไต้หวันให้เรียกร้องเอกราชได้ เนื่องจากการคงอยู่ของไต้หวันในสถานภาพนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงภายในของประเทศจีน

ล่าสุดคือ จีนได้กล่าวเตือนถึงเรื่องการนำนโยบายจีนเดียวไปเป็นหมากของการต่อรองไว้ว่า ไม่มีใครเป็นผู้ชนะในสงครามการค้า ในเวทีเศรษฐกิจโลกที่ดาวอส และตอบโต้กดดันนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกาว่าเป็นเรื่องที่งี่เง่า “การกีดกันทางการค้าไม่ต่างจากการขังตัวเองในห้องมืดเพื่อให้รอดพ้นจากอันตราย” จีนยังได้พูดถึงสงครามทางการค้าไว้ว่า “หากเกิดขึ้นจริงจีนจะตอบโต้สหรัฐอเมริกาให้ถึงที่สุด” และ “ทีมงานของทรัมป์ประเมินจีนต่ำเกินไป”

นโยบายจีนเดียวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันมีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศอยู่ ถ้าทรัมป์จะใช้ตรงนี้มาเป็นแค่เครื่องมือทางการค้า ก็ดูเหมือนจะเล่นง่ายเล่นหยาบจนเกินไป

--------------------

ณัชชาภัทร อมรกุล

นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า