FOMO ความกลัวของตลาดทุน
FOMO ความกลัวของตลาดทุน
มองไปที่หุ้นของประเทศไหนๆในช่วงนี้ ก็จะรู้สึกอยู่เสมอว่าตลาดกำลังอยู่ใน “อาการกลัว”
ที่น่าสนใจมันอยู่ที่ความกลัวในวันนี้ดู “ไม่ใช่ความกลัวว่าจะขาดทุน” หรือกลัวว่าตลาดจะกลับทิศ แต่เป็นความกลัวว่าเราพลาดการลงทุนที่ดีที่สุดรอบนี้ไปหรือยัง ทั่วโลกเรียกกันว่า Fear of Missing Out (ย่อสั้นๆว่า FOMO) และนักลงทุนไทยมักจะเคยชินกับคำว่า “กลัวตกรถ” ซะมากกว่า
ล่าสุดในการประชุม World Economic Forum กูรูการลงทุนระดับโลกอย่างเรย์ ดาริโอ แห่ง Bridgewater Associate หรือลอเรนซ์ ฟิงค์ ซีอีโอของบริษัทบริหารสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง BlackRock ก็พึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “ตอนนี้คนถือเงินสดกลับรู้สึกว่าตัวเองพลาดอะไรไปรึปล่าว” ชี้ให้เห็นได้ชัดว่านักลงทุนเกิดอาการ FOMO กันทั้งนั้น
ไม่ใช่เรื่องที่แปลกที่จะกลัวตกขบวน เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกกลับมาดีพร้อมกันทั้งหมด แถมราคาหุ้นก็ทำจุดสูงสุดใหม่แทบทั้งหมด แม้จะมีวันที่ปรับตัวลงแรงบ้างแต่นักลงทุนก็ยังมีความมั่นใจอย่างแรงกล้าว่าตลาดจะสามารถไปต่อได้ในที่สุด
แน่นอนว่าใครที่ลงทุนอยู่แล้วคงได้กำไรกับเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่นักลงทุน FOMO ก็ถามตัวเองทุกวันว่าควรตีตั๋วตามไปปาร์ตี้นี้หรือไม่
เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ตลาดตอนนี้ ไม่ต่างกับเวลาที่เราเห็นเพื่อนกำลังสนุกกับปาตี้เที่ยงคืนผ่าน Facebook live สถานที่อยู่ห่างจากบ้านเราประมาณ 1 ชั่วโมง แต่เราจำได้ลางๆว่าที่เที่ยวนั้นมักปิดในช่วงเวลาตีหนึ่ง
คำถามคือเราจะไปหรือไม่ และนักลงทุน FOMO ต้องตอบตัวเองให้ได้
“สัญญาณเลิกปาตี้ก็มี” เช่นในสหรัฐส่วนต่างระหว่างยีลด์ตราสารหนี้ระยะสั้นและยาวต่ำลงเรื่อยๆ ชี้ว่าเศรษฐกิจเร่งตัวไม่ทันเท่าต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น และตลาดอาจเตรียมพักฐาน ด้านราคา Shiller P/E Ratio ที่เป็นตัวชี้ความถูกแพงของหุ้นสหรัฐก็อยู่ที่ 30 เท่า แพงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติดอทคอม ส่วนของไทย P/E ของตลาดหุ้นไทยที่ 19 เท่าก็แพงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
“แต่สัญญาณว่าปาตี้นี้ยังเปิดต่อก็มี” เศรษฐกิจโลกเติบโตดีขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่ความผันผวนของตลาดการเงินกลับเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ บ่งบอกว่าโอกาสที่จะเกิดวิกฤติทางการเงินมีเพียงเล็กน้อย ยิ่งถ้าเทียบดัชนีหลักทรัพย์หลักกับภาวะฟองสบู่ในปัจจุบัน (เช่น Bitcoin) การปรับตัวขึ้นเพียง 250% นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2009 ถือว่าธรรมดาและตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นต่อก็ไม่น่าแปลก
อาการ FOMO ไม่ใช่สิ่งที่ผิดและเชื่อว่าทุกคนไม่อยากนอนอยู่บ้านขณะที่ปาตี้กำลังสนุก เพียงแค่เราต้องจำไว้ว่า “ความกลัวไม่ต่างอะไรกับความรักมักสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินฟื้นฐานได้เสมอ” ไม่ว่าจะเป็นบทกวีที่กินใจหรือฟองสบู่ทางการเงิน ผมขอฝากจุดสังเกตไว้สองอย่างเพื่อให้เราไม่พลาดการลงทุนครั้งนี้ แต่ก็ไม่หลงติดกับดักความโลภที่อาจพาเราไปสู่วิกฤติครั้งใหม่ด้วย
อย่างแรก “ระวังปาตี้แบบ YOLO” หรือคำโฆษณาชวนเชื่อประเภท You Only Live Once ให้ดี เพราะสิ่งเหล่านี้มักนำเราไปสู่วิกฤติ ในช่วงที่บรรยากาศเศรษฐกิจดีขนาดนี้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบร้อนลงทุน การหาข้อมูลให้พร้อมและรอจังหวะที่เหมาะสมเป็นคำตอบที่ดีกว่าการไล่ซื้อ
อย่างที่สอง “หาปาตี้ที่เราจะ JOMO ให้เจอ” ผมเชื่อว่าทุกคนควรมีการลงทุนที่ให้ความรู้สึก Joy Of Missing Out ซึ่งในที่นี้หมายถึงการที่เราสามารถสนุกไปกับมันได้แม้จะไม่ได้ตามติดกับมันทุกเวลา ก่อนจะลงทุนลองหลับตาและวจินตนาการว่าเราจะสามารถเชื่อมั่นและอยู่กับการลงทุนได้แม้ไม่ได้ติดตามเป็นแรมปีหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ ผมแนะนำว่าควรตั้งสติให้ดี และหาการลงทุนที่ใช่สำหรับเราก่อน
ในปีนี้ผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นตลาดที่ต่างจากปีที่แล้ว สิ่งที่ต่ำเกินไปอย่างความผันผวนและต้นทุนมีโอกาสปรับตัวขึ้น สิ่งที่สูงเกินไปอย่างราคาสินทรัพย์และความมั่นใจของนักลงทุนมีโอกาสปรับตัวลง ปาตี้นี้ไม่ต่างกับทุกงานเลี้ยงที่ต้องมีวันเลิกรา ทางที่ดีที่สุดคือต้องตื่นตัวไม่ใช่ตื่นกลัว รู้ว่าเรากำลังทำอะไรและควรทำอย่างไรเมื่อปาร์ตี้นี้จบลง
ดัชนีความกลัว (VIX Index) ดัชนีความกล้า (Confidence Index) และ P/E Ratio ของ S&P500
ที่มา: Bloomberg และ KTB Global Markets