จิตวิทยากับการเลือกของขวัญ

จิตวิทยากับการเลือกของขวัญ

พอใกล้ช่วงปีใหม่ หลายๆ ท่านก็จะวุ่นวายกับการเลือกของขวัญปีใหม่ให้กับผู้อื่น บางท่านก็มีการวางแผนอย่างดีคิดล่วงหน้ามาเป็นเดือนๆ

และจัดการของขวัญทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยก่อนถึงเดือนธ.ค. ขณะเดียวกันบางท่านก็ตัดสินใจและเลือกไม่ได้ซักที จนสุดท้ายก็ไม่ให้ของขวัญใครเลย ล่าสุดมีบทความหนึ่งในต่างประเทศที่เขาไปรวบรวมผลการศึกษาทางด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับการให้ของขวัญผู้อื่นมาไว้อย่างน่าสนใจ และอาจจะเป็นแนวทางสำหรับหลายๆ ท่านที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะให้ของขวัญอะไรกับบุคคลอื่น

ได้มีการงานวิจัยศึกษาหลายชิ้นที่ระบุไว้ว่าผู้ให้จะมีความสุขกับการให้ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกกันว่า The joy of giving แต่จริงๆ ในมุมของผู้รับ การได้รับของขวัญที่เหมาะสมกับเป็นความสุขได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ความสุขในแง่ของการได้รับของ แต่เป็นความสุขและความรู้สึกดีที่ได้รับการระลึกถึง การให้ความสำคัญ จากผู้ให้ ซึ่งก็นำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคคล ดังนั้นถ้ามองในมุมของผู้รับ การได้รับของขวัญมานั้น ไม่ใช่ประเด็นในเรื่องของการได้ “ของ” แต่เป็นประเด็นในเรื่องของการที่ผู้ให้ ได้ให้ความสำคัญและระลึกถึง เนื่องในโอกาสที่สำคัญ

สำหรับของที่จะให้นั้น ผลวิจัยชี้ให้เห็นมุมมองหนึ่งที่สำคัญ นั้นคือ ประโยชน์ของสิ่งที่ได้รับ มีความสำคัญมากกว่ามูลค่า การวิจัยได้ทดลองว่าระหว่างการให้ปากการาคาแพงแต่หนักและใหญ่ที่พกติดตัวได้ไม่สะดวก กับปากกาที่ราคาไม่แพงเท่า แต่เบา สามารถพกติดตัวและใช้ประโยชน์ได้ พบว่าผู้รับจะรู้สึกดี และรู้สึกใกล้ชิด กับผู้ที่ให้ปากกาที่เบาและพกพาได้มากกว่า ทั้งนี้เพราะการให้ของขวัญเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และถ้าเป็นของขวัญที่ผู้รับถูกใจ ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดีขึ้น

จากผลการวิจัยยังพบอีกด้วยว่า เวลาผู้ให้หาของขวัญให้กับผู้รับนั้น ผู้ให้มักจะมุ่งเน้นแต่ในด้านของความตื่นเต้นเมื่อผู้รับเห็น ได้รับ หรือ แกะห่อของขวัญ เรียกได้ว่าเน้นความตื่นเต้นระยะสั้นมากกว่าการหาของขวัญที่ก่อให้เกิดความสุขในระยะยาว (นึกภาพให้ของขวัญเด็ก ที่เด็กจะตื่นเต้นเมื่อแกะห่อของขวัญ แล้วหลังจากนั้นอีก 10 นาที ก็ทิ้งของขวัญนั้นไปอย่างไม่ใยดี) ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าต้องการให้ของขวัญเป็นสื่อในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้รับนั้น ผู้ให้ ควรจะเลือกของที่สร้างความสุขในระยะยาวมากกว่าเพียงแค่ความตื่นเต้นในระยะสั้น

นอกจากการให้เป็น “ของ” แล้ว งานวิจัยยังพบว่า การมอบประสบการณ์ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้รับเกิดความพอใจมากกว่าสิ่งของที่จับต้องได้ แต่อย่างไรก็ดีการมอบประสบการณ์นั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความสนิทสนมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วย มีงานวิจัยที่พบว่า ถ้าไม่ได้รู้สึกสนิทสนมมาก ผู้ให้มักจะเลือกมอบสิ่งของที่จับต้องได้มากกว่า เนื่องจากทำให้ลดความเสี่ยงที่จะเลือกในสิ่งที่ผิด เพราะการจะมอบประสบการณ์ให้นั้น มักจะเหมาะสำหรับผู้ที่สนิทจริงๆ และมีงานวิจัยออกมาเพิ่มเติมว่า ยิ่งถ้าเป็นคนสนิทกันจริงๆ ยิ่งถ้าเป็นประสบการณ์ที่ไม่ธรรมดา ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายยิ่งใกล้ชิดกันไปอีก

สุดท้ายการให้ของขวัญนั้น จะต้องให้ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่เพราะมีเจตนาแอบแฝงหรือหวังผลใดๆ เนื่องจากถ้าผู้รับคิดว่าผู้ให้มีเจตนาแอบแฝง หรือ ทำให้ผู้รับรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ ผู้รับจะไม่เกิดความรู้สึกที่ดีกับผู้ให้ ไม่ว่าของที่ให้นั้นจะน่าสนใจหรือมีมูลค่ามากน้อยเพียงใด จากงานวิจัยพบว่าความเต็มใจของผู้รับในการได้รับของขวัญนั้นส่งผลต่อความสุขของผู้รับมากกว่ามูลค่าของตัวของที่ได้รับ ดังนั้นถ้าอยากจะให้ผู้รับมีความสุขจริงๆ การมอบของขวัญที่มีเจตนาแอบแฝง เช่นการหวังผลประโยชน์ใดๆ ในอนาคต จึงไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

โดยสรุปการเลือกมอบของขวัญนั้นไม่ยากครับ ให้ระลึกว่าของขวัญเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยเน้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก่อให้เกิดความสุขในระยะยาว และให้ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่เพราะมีเจตนาแอบแฝง