หลักการพื้นฐานของการตลาด คือการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกับผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในเวลาที่เขาต้องการ
ผ่านช่องทางที่เข้าถึงได้ง่ายภายใต้ราคาที่เขายินดีจ่าย การตลาดผ่านร้อนผ่านหนาวปรับเปลี่ยนมาหลายๆยุคสมัยตั้งแต่การตลาด 1.0 ที่เน้นการเชื่อมโยง Product Feature และความต้องการของตลาด เป็นยุคแรกเริ่มของ 4 P นั่นเอง (Product, Price, Place, Promotion)
ส่วนยุคการตลาด 2.0 เป็นยุคของการหลั่งไหลของข้อมูลเพราะเป็นช่วง Information Revolution นักการตลาดต้องคิดเยอะขึ้น วางกลยุทธ์มากขึ้นเพราะผู้บริโภคมีความรู้และเรียกร้องจากแบรนด์มากขึ้น ดังนั้นการสร้างความเข้าใจในผู้บริโภคและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง
เมื่อสู่ยุคของการตลาด 3.0 นักการตลาดต้องใส่ใจกับการสื่อสารแบบ Interactive เพราะเป็นยุคของการเติบโตของเครือข่ายสังคมออนไลน์ พลังของออนไลน์ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเป็น community มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างแพร่หลาย เป็นยุคที่ผู้บริโภคคือพระเจ้าที่มีอำนาจในการต่อรองล้นเหลือ การก่อกำเนิดของปุ่ม like และ share ส่งข้อมูลให้คนแบ่งปันเรื่องราวกันมากขึ้น แสดงความคิดเห็นเปิดเผยและ update เรื่องราวของตนเองบ่อยขึ้น สำหรับนักการตลาดในช่วงนี้ content คืออาวุธลับที่จะทำให้ทำการตลาดเชิงสร้างสรรค์ได้ เพื่อให้แบรนด์ของตนน่าสนใจกว่าคู่แข่ง สรุปคือต้องเป็นการตลาดที่มีความเป็นมนุษย์สูงกว่ายุคก่อนๆ และต้องใส่ใจกับภาพลักษณ์ของแบรนด์มากเป็นพิเศษ
ปัจจุบันเราอยู่ในยุคของการตลาด 4.0 นั่นคือการตลาดในยุคดิจิทัลซึ่งเป็นยุคที่แบรนด์ต้องปรับกลยุทธ์การตลาดเข้ากับโลกใบใหม่ เทคโนโลยีทำให้เกิดความสะดวกสบาย และความเชื่อมโยงมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างสิ้นเชิง ดิจิทัลไม่ใช่แค่การสื่อสารและเป็นสิ่งที่เปลี่ยนมุมมองและการดำเนินชีวิตของผู้คน โลกออนไลน์และออนไลน์ผสานเป็นโลกเดียวกัน Consumer Journey สลับไปมาระหว่างสองโลกจนมีความซับซ้อน ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการรวมถึงข้อมูลของแบรนด์ที่ไหนก็ได้เวลาใดก็ได้ผ่านทาง Digital Mobile Devices ต่างๆ พวกเขามีกิจกรรมดิจิทัลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น (Engagement) ผู้บริโภคใกล้กันมากกว่าเดิม มีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้นจึงเรียกผู้บริโภคยุคนี้ว่า Connected Consumers เพราะเชื่อมต่อกับออนไลน์ตลอดเวลา
การตลาด 4.0 แตกต่างจากยุคอื่นๆตรงที่เน้นเรื่องการสร้างคุณค่า (Value Creation) และ การแปลงคุณค่าให้เป็นมูลค่าให้กับแบรนด์เป็นการตลาดที่เรียกได้ว่าเป็น”คุณค่านิยม” ในยุคนี้แบรนด์ต้องมีความชัดเจนว่ามี Positioning อะไร คุณค่าอะไรที่แบรนด์ให้กับผู้บริโภคและสังคม แบรนด์ของเรามีบทบาทอะไร และเกิดมาเพื่ออะไร เหมือนกับการมีชีวิตของคนๆหนึ่ง ยุคนี้ไม่ใช่การเน้นแต่ขายสินค้าและบริการเพียงอย่างเดียวแต่ต้องเติมเต็ม value ของผู้บริโภคยุคดิจิทัลด้วย ธุรกิจใดสร้างคุณค่าในผู้บริโภคได้ดีจะเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ การตลาดเป็นกลไกหลักที่จะสร้างคุณค่านั้นๆให้เกิดขึ้น แล้วแบรนด์จะสร้างคุณค่าได้อย่างไร มี 2 วิธีการที่เราทำได้ คือ อย่างแรก คือการที่เราผสาน Brand Journey ของเราเข้ากับ Consumer Journey ให้ได้ เข้าถึงให้ลึกในชีวิตของเขา และสร้างความกลมกลืนเข้ากับชีวิตของผู้บริโภคได้อย่างเป็นธรรมชาติ
อีกทางหนึ่งคือการที่เราต้องแยกกันระหว่างสินค้าของเรา กับแบรนด์ของเรา เราควรสร้างคุณค่าจาก Brand Purpose ของเราและสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภค โดยที่ไม่ได้ยึดติดกับว่าเราขายผลิตภัณฑ์ชนิดใด ให้เรามีคุณค่าเฉพาะของแบรนด์ของเรา