กลไกป้องกันคอร์รัปชัน ส่งผลดีกับธุรกิจอย่างไร
การจะแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้สำเร็จนั้น จะแก้ที่ภาครัฐเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาสังคมก็ต้องเข้ามาร่วมมีบทบาทด้วย
ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนที่สามารถทำได้ก็คือการลด ละ เลิก การจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเรื่องนี้ถ้าให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งดำเนินการแบบเดี่ยวๆ โดยลำพัง ก็คงไม่มีทางสำเร็จ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC เมื่อ 9 ปีก่อน
ปัจจุบัน CAC ถือเป็นการรวมตัวโดยสมัครใจของภาคธุรกิจไทย ในรูปแบบ collective action ที่เข้มแข็งจนจัดอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ซึ่งนอกจากจะมีจำนวนบริษัทที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชันมากถึง 937 บริษัทแล้ว CAC ยังได้พัฒนาระบบการรับรองบริษัทที่มีนโยบายและระบบควบคุมภายใน เพื่อป้องกันการจ่ายสินบน ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของโครงการ CAC ที่ช่วยให้มั่นใจได้ว่า บริษัทต่างๆ ดำเนินการตามเจตนารมณ์จริงๆ โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ผ่านการรับรองแล้วถึง 366 บริษัท
หนึ่งในคำถามเกี่ยวกับโครงการ CAC คือ การวางกลไกป้องกันการจ่ายสินบนและดำเนินการเพื่อให้ผ่านการรับรองจาก CAC ทำไปแล้วจะได้ประโยชน์อะไร เพิ่มภาระไปทำไม ? ในวันนี้จึงอยากนำประสบการณ์ของบริษัทที่ผ่านการรับรองมาแชร์กัน
ประการแรก การผ่านการรับรองจากCAC เป็นการแสดงจุดยืนขององค์กรและเพื่อสื่อสารกับสังคมว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่โปร่งใส อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้เสีย ว่าบริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการที่จะไม่เข้าไปข้องแวะกับการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ สร้างความแตกต่างให้กับบริษัทในทางที่ดี และเป็นการยกมาตรฐานการทำธุรกิจของภาคเอกชนไทยในอีกทางหนึ่งด้วย
“เหมือนการได้รับการยอมรับว่าเราได้ทำดีแล้วในแง่การดำเนินตามหลักการ และกฎระเบียบต่างๆ ในด้านธรรมาภิบาล” คุณเดนนิส ลิม กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าว “ผมอยากสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ พยายามดำเนินการเพราะมันเป็นการส่งสัญญาณให้สังคม รวมถึงนักลงทุนได้ทราบว่าบริษัทกำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อสังคม และเพื่อนักลงทุน”
ประการที่สองการเข้าร่วมเป็นโอกาสให้บริษัทสามารถทบทวนตัวเองว่านโยบาย และแนวปฏิบัติต่างๆ เพียงพอที่จะควบคุมความเสี่ยงคอร์รัปชันหรือยัง ซึ่งการดำเนินการตาม checklist ของ CAC(71 ข้อสำหรับบริษัทใหญ่ และ17 ข้อ สำหรับSME)จะช่วยให้บริษัทสามารถประเมินตัวเองในเบื้องต้น และสามารถปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินงานให้ดีขึ้นได้
“การเข้าร่วมกับCAC ผมถือว่าเป็นการตรวจสอบตัวเองอีกรอบหนึ่ง ทำ self-assessment... เหมือนเราส่องกระจกเงาทำให้เราเห็นตัวเองมากขึ้น” คุณปจงวิช พงษ์ศิวาภัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) กล่าว
“เรามีบริษัทแม่อยู่ที่เยอรมนี เพราะฉะนั้น เรามีกระบวนการ การดำเนินงาน และหลักปฏิบัติของบริษัทที่ค่อนข้างเข้มงวดอยู่แล้ว แต่การร่วมโครงการCAC เพราะช่วยให้บริษัทสามารถมีกระบวนการตรวจสอบภายใน มีการประเมินตัวเองเบื้องต้น ว่าเราสามารถดำเนินการได้ตามหลักปฏิบัติที่มี ทั้งที่กำหนดโดยบริษัทแม่ และตามกฎระเบียบในประเทศไทยที่ได้วางเอาไว้ครบถ้วนแล้วหรือยัง” คุณภารณี อดุลยพิเชฏฐ์ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าว “สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ระบบที่จะต้อง re-certify ทุก 3 ปี ส่วนนี้จะทำให้เกิดsystemที่ดี และช่วยให้เกิดการยกระดับมาตรฐานสังคมที่ดีในอนาคต”
ประการที่สามการเข้าร่วมโครงการCACยังช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้บริษัทมีโอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทข้ามชาติ หรือ บริษัทขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่โปร่งใส ซึ่งในปัจจุบัน เราเริ่มเห็นว่ามีบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่พิจารณาให้สิทธิประโยชน์พิเศษในรูปแบบต่างๆ แก่คู่ค้าที่ผ่านการรับรองจากCAC
“ตัวอย่างขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง พฤกษาจะจัดให้ supplier ประมูลแบบ pricee-auction โดยใช้ Price หารด้วย Score Value ซึ่งเป็นคะแนนในแง่ของความพร้อมด้านคุณภาพ การจัดการอะไรต่างๆ เราไม่ได้ดูแต่ price อย่างเดียว ที่สำคัญคือ บริษัทที่เข้าร่วมโครงการCAC แค่ประกาศเจตนารมณ์ก็ได้ 0.5 แล้ว เมื่อผ่านการรับรองแล้วก็จะได้อีก 0.5 รวมเป็น 1% ซึ่งเมื่อนำ 1% ไปหาร price ก็ช่วยให้ได้ประโยชน์เยอะ” คุณปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)
นอกจาก นี้ยังเป็นโอกาสให้บริษัทได้ตรวจสอบ และทบทวนกระบวนการในการสร้างการเติบโตของธุรกิจที่ผ่านมาว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส และสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลเพียงใด ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะกำหนดความยั่งยืนของธุรกิจด้วย ซึ่งหากบริษัทส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญ และดำเนินการอย่างจริงจังกับการวางกลไกภายในเพื่อป้องกันการจ่ายสินบนแล้ว ก็จะทำให้ปัญหาสินบนในบ้านเมืองเราลดความรุนแรงลงไปได้อย่างแน่นอน
“Process ที่เราพยายามในวันนี้ เหมือนเป็นการถามว่าคุณอาบน้ำหรือยัง ล้างหน้าหรือยัง ผมอยากให้สักวันหนึ่ง ทุกคนไม่ต้องถามเรื่องเหล่านี้อีก ผมเชื่อว่าทุกคนจะมีสำนึกแห่งการทำดีด้วยตนเอง และเราไม่ต้องมาถามกันว่าคุณเป็นคนดีหรือยัง” คุณรังสิน กฤตลักษณ์ ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าว
โดย...
พิษณุ พรหมจรรยา
ที่ปรึกษาการประชาสัมพันธ์
แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต(CAC)