การทำงานต่ำกว่าระดับ โจทย์ใหญ่ที่ต้องเริ่มจากพื้นที่ 0
ทุกปีจะมีคนจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ 5 แสนกว่าคน แต่ที่ดูจะมีปัญหาในการหางานทำมากที่สุด คือ ผู้จบปริญญาตรี
เพราะคนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อย นอกจากจะมีวุฒิไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานแล้ว ทักษะในการทำงานก็ยังต่ำกว่าความคาดหวังของนายจ้าง ทำให้การหางานใช้เวลานาน มักได้ค่าจ้างต่ำกว่าเกณฑ์ บางคนต้องยอมทำงานต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น
วิธีการหนึ่งที่ใช้ในการประเมินการทำงานต่ำกว่าระดับของแรงงานในระดับปริญญาตรี คือ การดูสัดส่วนของผู้จบปริญญาตรีที่มีงานทำและได้เงินเดือนในระดับเดียวกับผู้ที่จบวุฒิการศึกษาที่ใช้เวลาเรียนน้อยกว่า ซึ่งในที่นี้จะใช้เงินเดือนของผู้จบระดับ ปวส./อนุปริญญา มาเป็นเกณฑ์ในการประเมิน ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์เป็นข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตัวเลขที่แสดงไว้ในรูป คือ ร้อยละของผู้จบปริญญาตรีซึ่งมีเงินเดือนเท่ากับ หรือต่ำกว่า ผู้จบระดับ ปวส./อนุปริญญา ในช่วงอายุ 25 ถึง 35 ปี ระดับรายได้ของผู้จบ ปวส./อนุปริญญาที่นำมาใช้ในการเปรียบเทียบมี 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1) รายได้เฉลี่ย 2) รายได้ที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 50 หรือเรียกว่าระดับมัธยธฐาน และ 3) รายได้ที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 75
ร้อยละของผู้จบปริญญาตรีที่มีเงินเดือนเท่ากับหรือน้อยกว่าผู้ที่จบ ปวส./อนุปริญญา จำแนกตามระดับเงินเดือนของผู้จบ ปวส.
ที่มา: คำนวณจากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ข้อมูลที่ได้มาจากการคำนวณตามแนวทางข้างต้น จะเห็นได้ว่า 11.38% ของผู้จบปริญญาตรีอายุ 25 ปี มีรายได้เท่ากับหรือต่ำกว่าเงินเดือนเฉลี่ยของผู้จบระดับ ปวส./อนุปริญญา สัดส่วนนี้ลดลงไปอย่างต่อเนื่องจนมีค่าประมาณ 5.52% สำหรับผู้จบปริญญาตรีอายุ 35 ปี หากพิจารณาสัดส่วนเดียวกัน ณ ระดับรายได้ที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 50 จะพบว่าสัดส่วนเพิ่มเป็น 19.20% สำหรับอายุ 25 ปี และลดลงมาเป็น 7.48% ในช่วงอายุ 35 ปี
ประเด็นที่น่าสังเกต คือ หากพิจาณาสัดส่วนของผู้จบปริญญาตรีและได้รายได้ไม่เกินเปอร์เซนไทล์ที่ 75 ของผู้ที่จบ ปวส./อนุปริญญา หรือมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 16,350 บาทต่อเดือนเมื่ออายุ 25 ปี และเพิ่มขึ้นเป็น 19,547 บาทต่อเดือนเมื่ออายุ 35 ปี จะเห็นได้ว่า สัดส่วนดังกล่าวมีสูงถึง 49.69% สำหรับผู้มีอายุ 25 ปี และลดลงมาเป็น 27.99% เมื่ออายุ 35 ปี สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการทำงานต่ำกว่าระดับมีอยู่จริงโดยเฉพาะในช่วงต้นของการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้จบปริญญาตรี และมีแนวโน้มที่ลดลงเมื่อแรงงานมีประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น
บทเรียนจากต่างประเทศที่เจอกับปัญหาลักษณะนี้ ได้ข้อสรุปสำคัญว่าการกำหนดแนวทางพัฒนาแรงงานเพื่อให้ปัญหาการทำงานต่ำกว่าระดับหมดไปเป็นเรื่องยาก สิ่งที่พอทำได้เพื่อลดปัญหานี้ต้องเริ่มด้วยการแบ่งแรงงานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ แรงงานใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษากับแรงงานที่ทำงานอยู่แล้ว
สำหรับแรงงานใหม่ที่ก้าวเข้าไปสู่โลกของการทำงานเป็นครั้งแรก ความพร้อมจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสิ่งที่ได้เรียนรู้ในระบบการศึกษา การแก้ปัญหาแรงงานใหม่จึงให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนรู้ในระบบการศึกษาที่มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติตามความถนัดของผู้เรียน ในสภาพแวดล้อมการทำงานจริงตามบริบทของพื้นที่ควบคู่กันไป
สำหรับแรงงานที่ทำงานอยู่แล้ว ปัญหาการทำงานต่ำกว่าระดับเกิดจากการที่แรงงานปรับตัวกับลักษณะของงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาไม่ได้ หรือไม่มีโอกาสได้ยกระดับทักษะของตนเอง การแก้ปัญหานี้จึงเชื่อมโยงกับการพัฒนาระบบสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับลักษณะงานและความพร้อมของแต่ละคน
ที่สำคัญ การแก้ปัญหานี้ต้องแก้ในระดับพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน การจัดการศึกษาจึงควรเป็นการจัดการศึกษาในเชิงพื้นที่มากกว่าการสั่งการจากส่วนกลาง เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเยาวชนในวัยเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกของงาน ควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสผู้มีงานมีโอกาสยกระดับทักษะของตนเองให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เปลี่ยนไป
การจัดการศึกษาแบบใช้พื้นที่เป็นฐานยังเป็นเรื่องใหม่ จึงจำเป็นทำควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับพื้นที่ การจะดำเนินการเรื่องนี้ให้ประสบผลสำเร็จจึงไม่ใช่หน้าที่ของสถานศึกษาเท่านั้น แต่เป็นความรับผิดชอบของทุกคนและทุกหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมงานเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นสถาพแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ของทุกคน เพื่อให้คนที่ที่สร้างขึ้นมาสามารถพัฒนาพื้นที่และช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายที่วางไว้