มหาเศรษฐีมีจำนวนลดลง

มหาเศรษฐีมีจำนวนลดลง

ช่วงกลางปีของทุกปี ดิฉันจะนำพอร์ตการลงทุนของผู้มีความมั่งคั่งสูงจากการสำรวจของ Capgemini มาเขียนให้ท่านอ่าน ปีนี้มีรายงานออกมาในเดือนกรกฎาคม

 ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจดังนี้

จำนวนผู้มีความมั่งคั่งสูงลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยในปี 2017 มีจำนวนผู้มีความมั่งคั่งสูงประมาณ 18.653 ล้านคน แต่ในปี 2018 ลดลงเหลือประมาณ 17.923 ล้านคน หรือลดลงไป 0.39% และมีความมั่งคั่งโดยรวม 68.1 ล้านล้านบาท หดหายไป 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 62 ล้านล้านบาท หรือหายไปประมาณ 2.9%
กลุ่มที่มีความมั่งคั่งลดลงมากที่สุด คือระดับบน ที่มีความมั่งคั่ง 30 ล้านเหรียญ (ประมาณ 930 ล้านบาท) ขึ้นไป หรือที่ดิฉันเรียกว่า อภิมหาเศรษฐี โดยจำนวนอภิมหาเศรษฐีในกลุ่มนี้ ลดลงไปถึง 6% และ 3 ใน 4 ของความมั่งคั่งโดยรวมที่หดหายไป ก็หดหายไปจากกลุ่มนี้ค่ะ 
สาเหตุของการลดลงเกิดจากการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้น และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในภูมิภาคหลักๆของโลก ประเทศที่มหาเศรษฐีมีความมั่งคั่งลดลงมากที่สุดคือประเทศจีนค่ะ โดยมีความมั่งคั่งลดลงถึง 53% ของส่วนที่ลดลงของเอเชียแปซิฟิก 
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้มีความมั่งคั่งสูงส่วนใหญ่ลดความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอลง โดยลดการลงทุนในหุ้นทุน และหันไปถือเงินสดและสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสดมากขึ้น ก็คือกลัวความเสี่ยงมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ Knight Frank ที่ดิฉันเคยนำเสนอในไตรมาสแรกของปีนี้
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของการลงทุนโดยรวมจากการสำรวจของ Capgemini มีดังนี้
มหาเศรษฐีในอเมริกาเหนือ ลดการถือครองหุ้นลงจาก 36.8% ของพอร์ต ในไตรมาสแรกของปี 2018 เหลือ เพียง 26.3% ในไตรมาสแรกของปี 2019 และเพิ่มสัดส่วนของเงินสดจาก 22.5% เป็น 27.1% เพิ่มสัดส่วนอสังหาริมทรัพย์ จาก 12.4% ในปีก่อน เป็น 15.6% ในปีนี้ และเพิ่มการลงทุนทางเลือก จาก 10.2% เป็น 12.9%
มหาเศรษฐีในเอเชียแปซิฟิก ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นทุน จาก 26.4% เหลือ 21.9% เพิ่มเงินสดจาก 26.2% เป็น 28.2% ลดการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จาก 20.15% เหลือ 19.1% เพิ่มการลงทุนทางเลือก จาก 9.9% เป็น 13%
ที่แปลกกว่าใครคือ มหาเศรษฐีของญี่ปุ่นกล้าลงทุนมากขึ้น ไม่เอาเงินไปกองในธนาคารมากเท่าแต่ก่อน ซึ่งในปี 2017 มีเงินสดถึง 44.6% พอมาในปี 2018 ลดเหลือ 28.9% โดยกระจายไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 6.3% และ การลงทุนทางเลือก รวมถึงการลงทุนในไพรเวทอิควิตี้ หรือหุ้นที่ยังไม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 9.3%
โดยภาพรวม ณ ไตรมาสแรกของปี 2019 มหาเศรษฐีของโลกมีเงินลงทุน ดังนี้ เงินสดและเทียบเท่าเงินสด 27.9% หุ้นทุน 25.7% ตราสารหนี้ 17.6% อสังหาริมทรัพย์ 15.8% และการลงทุนทางเลือก 13%
จะเห็นว่า ผู้ลงทุนต้องคอยมีการทบทวนพอร์ตการลงทุนอยู่เป็นระยะๆ อย่างน้อยปีละครั้ง และหากตลาดมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จะทบทวนไตรมาสละครั้งก็จะยิ่งดี เพื่อที่เราจะได้สามารถปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ครึ่งหลังขอปีนี้ ภาวะการลงทุนก็คงจะผันผวนต่อไป ผู้ลงทุนจะรอคอยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐ หลังจากคาดหวังว่าจะลด 0.50% ในปลายเดือนกรกฎาคม แต่ลดจริงเพียง 0.25% ดังนั้น จะยังต้องรอคอยการลดอีก 0.25% ในไตรมาสหน้า
สำรวจดูบางเมืองของสหรัฐอเมริกา ก็ดูว่าเศรษฐกิจไม่คึกคักเท่าไร  ขนาดเป็นช่วงลดราคาในฤดูร้อน ผู้คนก็ออกไปจับจ่ายใช้สอยไม่มาก จนชวนให้คิดว่า ในการประชุมธนาคารกลางของสหรัฐครั้งต่อไป น่าจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันไปอีก 0.25%อีกครั้งหนึ่งค่ะ
 ดิฉันได้มีโอกาสเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวในช่วงนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าเศรษฐีเอเชียแม้จะถูกกระทบด้วยสถานการณ์การปรับตัวลดลงของหุ้นทุนในโลกในปีที่แล้ว แต่ก็ไม่หยุดเดินทางนะคะ ชาวตะวันตกเป็นกลุ่มที่นั่งชั้นโดยสารประหยัดในเวลาเดินทางเพื่อการพักผ่อน  ส่วนชั้นธุรกิจของเที่ยวบินต่างๆกลับแน่นไปด้วยผู้โดยสารเชื้อสายเอเชีย โมเมนตัมตอนนี้อยู่ทางโลกในซีกตะวันออกจริงๆค่ะ สนามบินของเอเชียคึกคักกว่าโลกตะวันตกเยอะมาก
         
การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนในหุ้นที่ยังไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นกลุ่มการลงทุนที่น่าจะมีเงินของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงไหลเข้ามากพอสมควรในครึ่งหลังของปีนี้ค่ะ 
สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป ลงทุนแบบผสมผสานจะดีที่สุด และอยากให้ดูจังหวะเข้าลงทุนด้วยนะคะ เพราะตลาดการลงทุนในเกือบทุกสินทรัพย์ มีโอกาสปรับตัวได้ทุกตลาดค่ะ
ครั้งหน้าดิฉันจะพยายามหาเรื่องเล่าจากทวีปอเมริกาเหนือมาเขียนค่ะ