ธนาคาร ยุค ESG เริ่มแล้ว
การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนของภาคเอกชน ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้ได้ผลเต็มที่
ยากที่จะสำเร็จได้ด้วยการทำงานแบบเป็นเอกเทศโดยองค์กรเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องมีภาคีร่วมดำเนินงานจากภายนอก
รูปแบบของหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานที่ปรากฎในปัจจุบัน จำแนกได้เป็นสามจำพวกหลัก ได้แก่
หุ้นส่วนในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain partnerships) ด้วยความร่วมมือระหว่างกิจการภายในห่วงโซ่คุณค่า จะเป็นการสานทักษะ เทคโนโลยี และทรัพยากร และนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาใหม่ๆ สู่ตลาด
ความริเริ่มในสาขาอุตสาหกรรม (Sector initiatives) ที่ใช้เป็นแหล่งรวมผู้นำในอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับมาตรฐานและข้อปฏิบัติทั่วทั้งอุตสาหกรรม และฟันฝ่าอุปสรรคความท้าทายที่มีร่วมกัน
หุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย (Multi-stakeholder partnerships) ที่ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม จะมาเสริมแรงในการจัดการกับปัญหาความท้าทายที่ซับซ้อน
ในแวดวงธนาคารของไทย ได้มีความตื่นตัวในการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มาผนวกเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจที่เป็นสายงานหลัก โดยเฉพาะสายงานการลงทุน และการให้สินเชื่อ โดยใช้แนวปฏิบัติที่เป็นภายในของแต่ละธนาคารเอง รวมทั้งแนวทางที่พึงปฏิบัติอันเกิดจากการผลักดันของหน่วยงานกำกับดูแล
ในเดือนหน้า (22-23 ก.ย.) จะมีการประกาศ “หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ” หรือ “Principles for Responsible Banking” โดยหน่วยงานภายใต้สำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UNEP Finance Initiative) ซึ่งจัดว่าเป็นความริเริ่มในสาขาอุตสาหกรรม (Sector initiatives) ที่สำคัญในแวดวงธนาคาร และได้มีธนาคารชั้นนำทั่วโลกจำนวน 30 แห่ง เข้าชื่อเป็นธนาคารร่วมก่อการ (Founding Banks) ที่พร้อมสนับสนุนหลักการดังกล่าว
หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ ประกอบด้วยหลักการที่เป็นการปรับแนวทาง (Alignment) ผลกระทบและการกำหนดเป้าหมาย (Impact & Target Setting) ลูกค้าประจำและผู้ใช้บริการ (Clients & Customers) ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ธรรมาภิบาลและการปลูกฝังวัฒนธรรม (Governance & Culture) ความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ (Transparency & Accountability) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
หลักการที่ 1 ธนาคารจะปรับกลยุทธทางธุรกิจให้สอดคล้องและเอื้อต่อความจำเป็นพื้นฐานของบุคคลและเป้าประสงค์ของสังคมตามที่ระบุในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Climate Agreement) และกรอบอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ
หลักการที่ 2 ธนาคารจะเพิ่มระดับของผลกระทบเชิงบวก พร้อมกันกับลดระดับของผลกระทบเชิงลบอย่างต่อเนื่อง และจัดการกับความเสี่ยงที่มีต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลมาจากผลิตภัณฑ์ บริการ และการดำเนินงานของธนาคาร เพื่อการนี้ ธนาคารจะมีการกำหนดและเผยแพร่เป้าหมายที่ธนาคารสามารถสร้างผลกระทบที่มีนัยสำคัญสูงสุด
หลักการที่ 3 ธนาคารจะให้บริการลูกค้าที่เป็นคู่สัญญาของธนาคารและลูกค้าที่เป็นผู้ใช้บริการทั่วไปอย่างรับผิดชอบ เพื่อผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน และเปิดทางให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันทั้งแก่คนรุ่นปัจจุบันและในรุ่นต่อไป
หลักการที่ 4 ธนาคารจะปรึกษาหารือ สานสัมพันธ์ และเป็นหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ในเชิงรุกและอย่างรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าประสงค์ทางสังคม
หลักการที่ 5 ธนาคารจะแปลงข้อผูกพันที่ได้เห็นพ้องตามหลักการ ไปดำเนินการให้เกิดผล ผ่านการกำกับดูแลที่มีประสิทธิผลและการปลูกฝังให้เป็นวัฒนธรรมแห่งธนาคารที่รับผิดชอบ
หลักการที่ 6 ธนาคารจะมีการทบทวนแนวทางการปฏิบัติตามหลักการ ทั้งในระดับปัจเจกและในระดับกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ มีความโปร่งใสที่สามารถตรวจสอบได้ต่อผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน รวมทั้งการมีส่วนร่วมในตอบสนองเป้าประสงค์ทางสังคม
ธนาคารของไทย ที่อยากจะเข้าร่วมลงนามรับหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ ฉบับที่เป็นสากลนี้ และแสดงความจำนงภายใน 22 สิงหาคมนี้ จะได้มีโอกาสเข้าร่วมในการเปิดตัว Principles for Responsible Banking ในเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly) ณ นครนิวยอร์ก ในช่วงระหว่างวันที่ 22-23 กันยายนนี้