มุมมองภาพมหภาคโลก ครึ่งหลังปี 2019
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสได้ร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนาประเด็น Hot Issue ครั้งที่ 2 ประจำปี 2019 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดยหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับโจทย์มา คือ มุมมองภาพมหภาคโลกสำหรับครึ่งหลังปี 2019จึงอยากนำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านในคอลัมน์ ‘มุมคิดธนกิจ’ อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ผมแบ่งโลกออกเป็น 5 ภูมิภาคหลัก โดยจะขอกล่าวอธิบายถึงไฮไลท์ในภูมิภาคต่างๆ ดังนี้
1.สหรัฐโดยภาพใหญ่ของเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงขับเคลื่อนด้วยสองปัจจัยหลัก ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด และ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ โดยปัจจัยแรกนั้นน่าจะถือว่าเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้น โดยคาดว่านับจากนี้จนถึงสิ้นปี เฟดน่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1-2 ครั้ง หลังจากที่ได้ลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปี เมื่อช่วงสิ้นเดือนที่แล้ว
ในขณะที่ ปัจจัยหลัง ซึ่งเป็น Hot Issue ของงานสัมมนาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้แก่ ประเด็นสงครามการค้า ผมมองว่าน่าจะมีการยกระดับความรุนแรงสูงสุด เริ่มต้นในเดือน ส.ค.2563 ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังโดยละเอียดในครั้งต่อๆ ไป สำหรับในปีนี้ ทรัมป์น่าจะเปลี่ยนเกมมาเล่นสงครามค่าเงินและสงครามเทคโนโลยี เพื่อเบี่ยงประเด็นที่มูลค่าดุลการค้าของสหรัฐยังคงติดลบไม่ได้น้อยไปจากตอนเริ่มต้นสงครามการค้าเมื่อ 1 ปีก่อนแต่อย่างใด แม้จะตั้งกำแพงภาษีต่อจีนไปจนเกือบครบทุกเม็ดของสินค้าส่งออกจากจีนแล้วก็ตาม ทั้งนี้ เมื่อทรัมป์เล่นสงครามใหม่ทั้งสองมาถึงจุดหนึ่ง ในอนาคตอันใกล้ ก็จะเวียนมาหาสงครามการค้ากับประเทศใหม่ๆ ที่มีสิทธิ์โดนในขณะนี้ ดูจะมีโอกาสเป็นเวียดนามอยู่ไม่น้อย
2.ภูมิภาคยุโรปผมมองว่าเศรษฐกิจและตลาดหุ้นยุโรป จะได้รับผลดีจากมาตรการแพ็คเกจการกระตุ้นจากธนาคารกลางยุโรป ผ่านแพ็คเกจนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเต็มที่ อาทิ การลดดอกเบี้ยนโยบายที่ตอนนี้ก็ติดลบอยู่แล้ว รวมถึงมีโอกาสใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE อีกครั้ง และอาจมีการแบ่งระดับอัตราดอกเบี้ยที่ฝากระหว่างธนาคาพาณิชย์กับธนาคารกลางตามมูลค่าของเงินฝากซึ่งทั้งหมดน่าจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนหรือตุลาคมนี้
อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบ จะมาจากสองปัจจัย ได้แก่ หนึ่ง รัฐบาลผสมของอิตาลีที่ตอนนี้ ดูจะกำลังมีความเห็นต่างกันมากขึ้นในระหว่างพรรคร่วม จนถึงอาจต้องมีการเลือกตั้งใหม่หรือปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่ ซึ่งประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองอิตาลี จะกลายเป็นปัจจัยลบต่อยุโรปในครึ่งหลังของปีนี้
นอกจากนี้ Brexit ก็จะเป็นปัจจัยลบที่เกิดจาก บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีท่านใหม่ของอังกฤษ ซึ่งมีโอกาสที่จะเล่นการเมืองที่แรงกับยุโรปกว่าสมัยเทเรซ่า เมย์ ในขณะที่มีโอกาสมากกว่าครึ่ง ที่อังกฤษต้องกลับมาเข้าสู่โหมดเลือกตั้งหรือทำประชามติใหม่ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อแลกกับการขยายเส้นตายของ Brexit ในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจยุโรปให้ยังคงอยู่ต่อไป
3.จีนแม้เหตุการณ์การประท้วงฮ่องกงจะบานปลายในช่วงนี้ ทว่าผมยังมองว่าเป็นปัญหาเฉพาะจุดที่มีผลต่อเศรษฐกิจในระดับที่มิได้ลุกลามถึงภาพใหญ่ของเศรษฐกิจจีน แม้อาจจะมีผลค่อนข้างแรงต่อความเสี่ยงทางการเมืองในภูมิภาคนี้ก็ตาม นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังน่าจะสามารถบริหารจัดการภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจจีนได้ค่อนข้างดีในครึ่งหลังของปีนี้จะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของจีนรวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ มิได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนคาดไว้ในช่วงสงครามการค้าเกิดขึ้นใหม่ๆเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ในทางตรงข้าม นับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มที่จะนิ่งขึ้น และเริ่มจะขยับดีขึ้นเล็กน้อยนับจากนั้น
อย่างไรก็ดี ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจจีน ซึ่งประกอบด้วย ปัญหา Shadow Banking และปริมาณสินเชื่อรวมในระบบเศรษฐกิจที่ยังสูงมาก ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ทว่าด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจในตอนนี้ รัฐบาลจีนยังน่าจะบริหารภาพรวมให้ผ่านช่วงปีนี้ไปได้
4.ภูมิภาคตลาดเกิดใหม่ผมมองว่าสำหรับครึ่งหลังของปีนี้ ตลาดเกิดใหม่เริ่มต้นยังอาจจะโดนหางเลขจากสงครามการค้า ทว่าเมื่อเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี น่าจะเริ่มดูดีขึ้น เนื่องจากส่วนผสมของค่าเงินดอลลาร์ที่ไม่แข็งมากนักจากท่าทีของการเริ่มต้นใช้สงครามค่าเงินของทรัมป์ รวมถึงราคาน้ำมันที่ไม่น่าจะสูง เนื่องจากอุปสงค์ของอินเดียและจีนที่ค่อนข้างอ่อนแรงกว่าปีก่อนๆ เป็นส่วนผสมของบรรยากาศทางมหภาคที่ตลาดเกิดใหม่ชื่นชอบ ผนวกกับการเบี่ยงประเด็นสงครามการค้าของทรัมป์มาที่สงครามค่าเงินและสงครามเทคโนโลยี น่าจะส่งผลดีเล็กน้อยต่อตลาดเกิดใหม่เนื่องจากโดนกดดันจากปัจจัยลบนี้น้อยลง
ท้ายสุด ญี่ปุ่น การที่รัฐบาลของชินโซะ อาเบ้ กำลังจะเริ่มขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ น่าจะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นเตรียมออกมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบในเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาตรการขึ้นภาษีดังกล่าว นอกจากนี้ ทางรัฐบาลของนายอาเบ้เองก็น่าจะประสานงานกับธนาคารกลางญี่ปุ่น เพื่อเตรียมประสานนโยบายการคลังกับนโยบายการเงินเพื่อที่ช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้ การเผชิญหน้ากันในการตอบโต้กันทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ที่กำลังเข้มข้นขึ้นในขณะนี้ ผมมองว่าเป็นปัญหาที่น่าจะอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผลกระทบดังกล่าวที่ส่งผลโดยตรงต่อผลิตภัณฑ์ไอทีของเกาหลีใต้นั้น น่าจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในทางอ้อมเช่นกัน ซึ่งน่าจะค่อยๆตกลงกันได้ระดับหนึ่งในอนาคตอันใกล้
โดยสรุป ผมมองว่าไม่น่าจะมีวิกฤตหนักๆ แบบที่สะเทือนกันทั่วโลกเกิดขึ้นในครึ่งหลังของปี 2019 ทว่าอาจมีปัญหาเฉพาะจุดในแต่ละภูมิภาคที่น่าหนักใจอยู่หลายแห่ง ทว่ายังไม่ได้ปะทุเกิดเป็นวิกฤตหลักของโลกแต่อย่างใดในปีนี้ครับ