e-Document : ว่าด้วยเรื่องเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
ในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Transaction นั้น นอกจากจะต้องเข้าใจหลักการในเรื่อง e-Signature ที่ผู้เขียนได้เล่าไปในฉบับก่อนแล้ว
อีกหลักการสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจควบคู่กันไป คือ หลักการและประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Document
“เอกสาร และหลักฐานเป็นหนังสือ” จุดเกิดของสัญญาในแบบเดิม
การทำนิติกรรมให้เกิดผลผูกพันตามกฎหมายนั้น ในหลายกรณีกฎหมายจะกำหนดให้คู่สัญญาจะต้อง “ทำเป็นลายลักษณ์อักษร ทำเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง” เช่น การทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายกำหนดว่าต้องมีการทำเป็นหนังสือและมีการลงลายมือชื่อผู้รับผิดไว้เป็นสำคัญ ซึ่งการที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้นก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้เป็นหลักฐานหากมีเหตุฟ้องร้องกันในอนาคต ดังนั้น กฎหมายในหลายเรื่องจึงกำหนดหลักเกณฑ์ไว้สองประการ คือ หนึ่งต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ และสองต้องมีการลงลายมือชื่อของคู่สัญญาไว้ เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้ ก่อนิติสัมพันธ์ในครั้งนี้ หรืออาจกล่าวได้ว่า เอกสารเป็นเครื่องมือที่ใช้ยืนยันและบันทึกเจตนาของคู่สัญญาไว้
อย่างไรก็ดี กฎหมายในยุคก่อน มุ่งที่จะตีความ “เอกสาร และหลักฐานเป็นหนังสือ” ในเชิงกายภาพ เช่น ในกฎหมายอาญา ได้มีการนิยามคำว่า “เอกสาร” ให้หมายถึง กระดาษ หรือวัตถุที่ทำให้ปรากฏความหมายได้ ซึ่ง ทั้ง กระดาษ หรือวัตถุ ที่สามารถทำให้ปรากฏความหมายได้ คือ การสื่อถึงสภาพของเอกสารที่ต้องมีรูปร่าง ปรากฏให้เห็นชัด หรือสามารถจับต้องได้ จึงจะมีสภาพที่เหมาะสมในการเป็น “หลักฐานแห่งความหมาย”
ดังนั้น นิยามดังกล่าวอาจยังไม่ไปถึงสัญญาที่เกิดขึ้นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งชุดข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ล้วนแล้วแต่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ และอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
เอกสารอิเล็กทรอนิกส์และผลทางกฎหมาย
เพื่อแก้ไขปัญหาในข้างต้น กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จึงได้ถูกบัญญัติมาเพื่อใช้เสริมกฎหมายเดิมที่มีอยู่ กล่าวคือ กฎหมายเดิม หากมีการกำหนดให้ต้องจัดทำข้อมูลหรือบันทึกข้อความเป็น “หนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง” แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คู่สัญญาได้บันทึกข้อความหรือข้อมูลต่างๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แทน กฎหมายจะยอมรับความสมบูรณ์ของข้อความอิเล็กทรอนิกส์และรับรองให้มีสถานะเป็นหนังสือที่มีผลทางกฎหมายหากเข้าองค์ประกอบสามประการ คือ
1) ข้อความดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้ โดยเข้าถึงได้นั้น หมายถึง ข้อความดังกล่าวสามารถอ่านได้ (Readable) ตีความได้ หรือแปลความหมายให้เข้าใจได้ (Interpretable) 2) ข้อความดังกล่าวต้องนำกลับมาใช้ได้ คำว่า นำกลับมาใช้ได้ในกรณีนี้ หมายถึง มาเปิดดูภายหลังได้ หรือสามารถดึงข้อมูลให้ปรากฏในภายหลังได้ เช่น ในกรณีของอีเมล์ การที่ข้อความต่างๆ ได้ถูกเก็บไว้ใน Mailbox และเจ้าของสามารถเปิดดูเมื่อใดก็ได้ ก็เพียงพอแล้วสำหรับความหมายในข้อนี้ 3) ข้อความดังกล่าวต้องมีความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่ง ความหมายไม่เปลี่ยนแปลงในที่นี้ค่อนข้างเปิดกว้างในการตีความ เนื่องจากเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ใช้และการพิสูจน์ โดยหากคู่ความสามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่าความหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ไม่ถูกเปลี่ยนแปลง ก็ย่อมเข้าองค์ประกอบข้อนี้ได้ (ซึ่งในทางปฏิบัติอาจเกิดปัญหาในการตีความของศาลได้อยู่บ้างว่าเทคโนโลยีหรือกรณีแบบไหนที่จะส่งผลให้ “ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง”)
ตัวอย่างเช่น นาย ก และ นาย ข ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 5000 บาท โดยทั้งสองใช้อีเมล์ตอบโต้กันแทนที่จะทำสัญญาด้วยกระดาษ ต่อมาได้มีการผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีเช่นนี้สัญญากู้ยืมดังกล่าวแม้ไม่ได้ทำด้วยกระดาษและไม่ได้มีการลงลายมือชื่อด้วยปากกาก็มีผลทางกฎหมายเช่นกัน เพราะเข้าองค์ประกอบการเป็น e-document ในข้างต้น คือ 1) ข้อความที่ปรากฏในอีเมล์สามารถเข้าถึงและอ่านความหมายให้เข้าใจได้ 2) ข้อความตอบโต้กันนั้นได้ถูกเก็บไว้ใน Mailbox ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งสามารถมาเปิดดูภายหลังได้ 3) คู่ความสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความดังกล่าว เช่นนี้แล้ว จึงถือว่าข้อความตอบโต้ที่ทำขึ้นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ของนาย ก และ นาย ข (ผ่านอีเมล์) ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือและสามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีได้
อย่างไรก็ดี สำหรับเรื่องการลงลายมือชื่อที่ไม่ได้ลงด้วยปากกานั้น การใช้ Username/Password เพื่อเข้าถึงหรือส่งข้อความในอีเมล์ก็เพียงพอสำหรับการเป็น e-Signature ตามความในกฎหมาย เนื่องจากเป็นการสร้างชุดข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในแบบตัวอักษรและตัวเลข ที่สามารถแสดงความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงไปยังเจ้าของชุดข้อมูล (นาย ก. และ ข. เจ้าของอีเมล์) ได้ ดังนั้น สัญญากู้ยืมฉบับนี้ที่ทำผ่านอีเมล์จึงมีผลตามกฎหมายเพราะได้ทำเป็นหนังสือ (e-document ผ่านทางอีเมล์) และได้มีการลงลายมือชื่อ (e-Signature โดยใช้ Username/Password)
การรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐาน
ในเมื่อกฎหมายรองรับความสมบูรณ์ของเอกสารแล้ว ก็มีบทบัญญัติห้ามศาลปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายเช่นกัน โดยกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้วางหลักว่า ในการชั่งพยานหลักฐานว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะน่าเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใดนั้น ให้พิจารณาจากความน่าเชื่อถือของลักษณะ วิธีการสร้าง และวิธีการเก็บรักษาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นตัวพิจารณาได้ส่วนหนึ่งว่า ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจะไม่ถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงระหว่างทาง ซึ่งในทางปฏิบัติศาลอาจพิจารณาพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ประกอบด้วยก็ได้
อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายจะได้กำหนดหลักการ “การห้ามปฏิิเสธการรับฟังพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์” แต่การที่ศาลจะเชื่อในพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ที่คู่ความนำเสนอในศาลหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานที่คู่ความนำเสนอ ตลอดจนความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีและกระบวนการที่ใช้จัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้ ศาลจะนำมาชั่งน้ำหนักพยานเองอีกครั้ง เพื่อพิจารณาตัดสินไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ
ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า ในอนาคตการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะมีแต่เพิ่มขึ้น ซึ่งความเข้าใจเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ ที่ผู้ประกอบธุรกิจรวมถึงภาครัฐเองไม่อาจมองข้าม
[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]