การรุกรานของจีนในโลกปัจจุบัน
ตอนนี้เราเห็นจีนเป็นมหามิตร แต่ท่านทราบหรือไม่ จีนกลายเป็นมหาอำนาจที่รุกรานไปทั่วโลกก็ว่าได้ ในแง่หนึ่งเราก็ควรคบจีน ในอีกแง่หนึ่งก็พึงสังวร
เราเคยมีมหามิตรอื่นมาก่อน เช่น ในสมัย ร.5 เรามีรัสเซียเป็นมหามิตรเพื่อปรามการล่าเมืองขึ้นของประเทศตะวันตก เมื่อ 80 ปีก่อน เราก็มีญี่ปุ่นเป็นมหามิตร เพื่อหวังปลดแอกจากประเทศตะวันตก เรายังเคยเห็นสหรัฐเป็นมหามิตร เพราะช่วยให้เราไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังช่วยต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ที่ในช่วง 50-60 ปีก่อน ไทยมีโอกาสจะ “ล้ม” แบบโดมิโนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ได้
ทุกวันนี้จีนก็มาลงทุนในไทยเป็นอันมาก ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต เช่น นักท่องเที่ยวจีนด้วยตัวเลขที่สูงเด่นกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ นักลงทุนจีนก็มาซื้อห้องชุดพักอาศัยใน กทม.มากกว่าชาติอื่น โดยประมาณการครึ่งแรกของปี 2562 ว่า 19% ของห้องชุดใน กทม.ซื้อขายโดยคนต่างชาติ (https://bit.ly/2KpIiDa) โดยเฉพาะจีนนั่นเอง
อดีต จีนเป็นประเทศแสนยากจน ในปี 2529 ผู้เขียนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยคาธอลิกลูแวง ได้ทราบว่าสถาปนิกจีนจบใหม่มีรายได้แค่เดือนละ 800 บาท ขณะที่คนจบปริญญาตรีไทยมีรายได้เดือนละ 2,500 บาท เดี๋ยวนี้ 15,000 บาท แต่จีนไปเกือบ 20,000 บาทแล้ว โดยเฉพาะในมหานครใหญ่ๆ คงเกือบ 2 เท่าของบัณฑิตจบใหม่ของไทย
คนจีนนิยมซื้อห้องชุดในไทยเป็นอันดับที่ 1 (https://bit.ly/2Hzv9cv) สาเหตุที่ไทยขยับขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งก็เพราะ
1.ไทยไม่มีการจำกัดราคาขั้นต่ำในการซื้อ ต่างจากมาเลเซียที่ต้องซื้อในราคาไม่ต่ำกว่า 8-16 ล้านบาท แล้วแต่บริเวณ ราคาบ้าน-ที่ดินและห้องชุดในไทยราคาถูกกว่ามาก
2.สามารถได้กรรมสิทธิ์ ไม่ใช่การเช่าระยะยาวเช่นในจีนหรือเวียดนาม
3.ไม่มีการเก็บภาษีซื้อ อย่างในสิงคโปร์ ต่างชาติมาซื้อต้องเสียภาษี 20% ฮ่องกงเก็บ 30% เป็นต้น แต่ในไทย โดยเฉพาะในอีอีซี ยังไม่ต้องเสียภาษีอีกต่างหาก
4.ไม่มีระบบภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและภาษีมรดก แต่ไทยมีการตรา พ.ร.บ.ของภาษีทั้ง 2 นี้ แต่แทบไม่มีผลบังคับใช้จริง
5 ไม่มีข้อห้ามให้ต่างชาติซื้อได้แต่บ้านมือหนึ่งเยี่ยงในออสเตรเลีย เพราะหากจีนหรือต่างชาติใดซื้อบ้านมือสองได้ด้วย ก็อาจทำให้ราคาบ้านขึ้นกระฉูด
6.ไม่มีข้อห้ามต่างชาติซื้อบ้านเยี่ยงนิวซีแลนด์ ซึ่งแม้คนจีนจะชอบนิวซีแลนด์ แต่ก็ข้อห้ามมากมาย ทำให้คนจีนไม่สามารถซื้อบ้านได้อีกต่อไป (https://bit.ly/2TjodSx)
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์สากล (FIABCI) ประจำประเทศไทย และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเครือข่ายพันธมิตรอสังหาริมทรัพย์อาเซียน (ASEAN Real Estate Network Alliance) ได้พบเห็นปรากฏการณ์หนึ่งว่า จีนบุกตะลุยซื้ออสังหาฯ มากมายไม่เฉพาะแต่ในไทย แต่ยังไปถึงขนาด “ยึด” แทบทุกเมืองใหญ่ของกัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม แม้แต่มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย จนสามารถยึดหัวหาดตลาดอาคารชุดได้เป็นส่วนใหญ่แทนนักพัฒนาที่ดินท้องถิ่นแล้ว
ขณะนี้จีนทุ่มลงไปซื้ออสังหาฯ และลงทุนในประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ มีการจัดทัวร์ไปลงทุนซื้อเกาะต่างๆ (https://bit.ly/2VDnLk1) ประเทศเหล่านี้ได้แก่ Fiji Kiribati Micronesia Nauru Samoa Solomon Islands และ Tonga เป็นเกาะเล็กๆ จำนวนมากมายนับแทบไม่ถ้วน แม้มีพื้นที่น้อยมาก แต่พื้นน้ำมหาศาล รวมแล้วมีอาณาเขตใหญ่กว่าทวีปออสเตรเลียทั้งทวีป จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของจีนในการไปกว้านซื้ออสังหาฯ เพื่อเป็นการชิงความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์การทหารในภูมิภาค
ในภูมิภาคเอเชียใต้ จีนมีอินเดียเป็นคู่ปรับสำคัญ ซึ่งก็ไม่ค่อยญาติดีกับเพื่อนบ้านโดยเฉพาะปากีสถานและบังคลาเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก อินเดียก็เคยหนุนกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมทางเหนือของศรีลังกา เนปาลในช่วงเกิดวิกฤติแผ่นดินไหว ความช่วยเหลือจากนานาชาติก็เข้าไปลำบาก เพราะอินเดียต้องการสั่งสอนรัฐบาลเนปาลที่เอนเอียงไปทางจีน เป็นต้น จีนจึงพยายามเจาะเข้าประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย อย่างเช่นการลงทุนในท่าเรือน้ำลึกของศรีลังกา จนกระทั่งโดนจีน “ยึด” เพราะตกเป็น “ทาสเงินกู้” ของจีนไปซะแล้ว (https://nyti.ms/2AjsxHY)
จีนทุ่มไปลงทุนมหาศาลในปากีสถานในแง่หนึ่งเป็นการหาทางออกสู่ทะเลด้านมหาสมุทรอินเดีย และในอีกด้านหนึ่งเป็นการขยายอิทธิพลทางการทหารในภูมิภาคเอเชียใต้ นอกเหนือจากความพยายามในการเข้าไปลงทุนในเนปาล บังคลาเทศและอื่นๆ โครงการสำคัญในปากีสถานมี 5 โครงการ รวมมูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท ได้แก่:
1.ท่าเรือ Gwadar เพื่อเชื่อมทางลงสู่มหาสมุทรอินเดีย โดยจีนจะได้เขตเศรษฐกิจพิเศษ 43 ปี ในไทยจีนได้ดีกว่าคือ 99 ปี
2.สถานีไฟฟ้าพลังน้ำ Karot ที่ผลิตไฟฟาได้ 720 เมกกาวัตต์ โดยจะแล้วเสร็จในปี 2564
3.สายส่งไฟฟ้าตรงจาก Lahore สู่ Matiari
4.รถไฟรอบเมืองการาจี (Karachi Circular Railway) ซึ่งเปิดกิจการมาตั้งแต่ปี 2512 และเลิกกิจการไปตั้งแต่ปี 2542 จีนจะฟื้นขึ้นมาใหม่ แต่ติดปัญหาเรื่องชุมชนบุกรุก
5.ทางหลวง Karakoram ซึ่งเป็นทางหลวงระยะทางถึง 1,300 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมเส้นทางระหว่างจีนและปากีสถาน (https://bit.ly/2VEvaiV)
ผู้เขียนเคยไปสอนหนังสือเรื่องการประเมินค่าทรัพย์สินถึงประเทศยูกันดา ในปี 2561 เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ปรากฏว่า จีนบุกยูกันดาและประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาอย่างหนักหน่วง ในยูกันดามีคนจีนอยู่อาศัยหลายหมื่นคน บ้างก็พยายามแต่งงานกับคนท้องถิ่น จีนไปแอฟริกาเพื่อก็เพื่อหวังซื้อวัตถุดิบ ในแง่อีกหนึ่งก็เป็นตลาดการค้า และในอีกแง่หนึ่งก็เพื่อสยายปีกทางการเมืองเข้าสู่ภูมิภาคนี้ (https://bit.ly/2XFcLpI) ตอนนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักว่าจีนได้กลายเป็นจักรวรรดินิยมไล่ล่าเมืองขึ้น (ทางเศรษฐกิจ) ในแอฟริกากันใหญ่แล้ว (https://bit.ly/2xIwq9B)
ในทวีปอเมริกาใต้และอเมริกากลางซึ่งรวมเรียกว่าลาตินอเมริกาก็เป็นเป้าหมายใหญ่ในการลงทุนของจีน แผนที่ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ แต่ว่าแต่เดิมประเทศในอเมริกาใต้เป็นแหล่งอพยพและแหล่งลงทุนของญี่ปุ่นมานับร้อยปี แต่ขณะนี้กลายเป็นเป้าหมายของจีนไปแล้ว ประเทศเหล่านี้ต้องการการ “ยกเครื่อง” ของโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ (https://bit.ly/2kuuJJM) และจีนก็มีเทคโนโลยีและเงินที่จะช่วยเหลือได้ และภาคเอกชนจีนก็แห่เข้าไปลงทุนซื้อทรัพย์สินในประเทศเหล่านี้เป็นอันมาก
จะเห็นได้ว่าจีนสยายปีกไปทั่ว ในแง่หนึ่งตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยและประเทศอื่นๆ ที่จีนไปลงทุนก็เติบโตยิ่งขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ถือเป็นการสยายปีกที่น่ากลัวของจีนที่ไทยพึงสังวร