สิงคโปร์เตรียมคนสู่อนาคตอย่างไร?
โลกอนาคตกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอัตโนมัติ (Automation Economy)สังคมโลกเปลี่ยนไปอย่างมากเนื่องด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ
คือผลพวงจากการพัฒนาเทคโนโลยีและความก้าวหน้าของ Big Data, Cloud Computing, Machine Learningในยุค 4.0 มนุษย์จะต้องทำงานคู่ขนานไปกับหุ่นยนต์ หรือที่เรียกว่า Cobot(Collaborative Robots)
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองตามไปด้วย สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งซึ่งได้ปรับวิธีคิดและวิธีทำงานเพื่อตอบโจทย์อุปสงค์ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม4.0เพราะว่าคนเรากำลังจะถูกระบบอัตโนมัติมาทำงานแทนข้อมูล McKinsey Global ชี้ว่างานในสิงคโปร์จะกลายเป็นระบบอัตโนมัติ 44% กำลังแรงงานจึงจำเป็นต้องยกทักษะ(upskill) และฝึกอบรมใหม่(retrain)ในอนาคตอันใกล้
ภาคการศึกษาสิงคโปร์จึงได้พยายามพัฒนาระบบการศึกษาแบบองค์รวม ซึ่งเน้นให้ผู้เรียน เน้น “เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ (How to Learn)” มากกว่า “เรียนรู้อะไร (What to Learn)”รวมถึงพัฒนาการศึกษาให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเศรษฐกิจมากขึ้น
ในเชิงยุทธศาสตร์ เราจะเห็นได้ว่า สิงคโปร์ได้ใช้ความริเริ่ม 3 ประการที่สำคัญเพื่อตอบโจทย์อนาคต ได้แก่ 1) สมาร์ทเนชั่นสิงคโปร์ (Smart Nation Singapore) 2) สกีลฟิวเจอร์ (Skill Future Singapore) และ3) จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาใหม่ให้เน้นเรื่องการยกระดับทักษะ รวมทั้งให้ความรู้กับกำลังแรงงานและความเป็นพลเมืองอย่างมีเอกลักษณ์สำหรับยุค 4.0
สิงคโปร์เน้นการสร้างความรู้ทางดิจิทัล และสมรรถนะทางเทคโนโลยีให้กับประชากรผ่านโครงการ Smart Nation และ Skill Future สร้างให้เกิดผู้เชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์สร้างโอกาสทางการศึกษาเช่น ความร่วมมือระหว่าง Yale-NUS College, Singapore University Technology and Design และ Duk-NUS Medical School ตลอดจนสร้างความเป็นพลเมืองโลกความเข้าใจโลกให้มากขึ้น
การศึกษาแบบดั้งเดิมผ่านการสอนให้ความรู้(information transfer) จะไม่เพียงพออีกต่อไป อย่างไรก็ตามการศึกษาผ่านสถาบันอุดมศึกษาแบบดั้งเดิมก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ หากแต่จำเป็นต้องมีการสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาลให้มากขึ้น ทางด้านการวิจัยก็ต้องตอบโจทย์วาระ (Agenda) มากขึ้น แหล่งทุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐในการยกระดับทักษะ (upskill) ประชากรก็มีความสำคัญ
การเตรียมความพร้อมเรื่องคนเป็นเรื่องสำคัญในยุค 4.0ทัศนคติความคิดแบบยืดหยุ่น (flexible minds) จะสำคัญมากต่อการจ้างงานในอนาคต งานแห่งอนาคตจะเน้นกำลังแรงานที่มีความสามารถในการปรับตัวได้ดี (adaptive workforce) นอกจากนี้ กำลังแรงงานจะต้องเปลี่ยนเป็นกำลังแรงงานที่ลื่นไหล (liquid workforce) แทนโมเดลการทำงานแบบไซโล กำลังแรงงานหรือคนที่มีคุณค่าในยุค 4.0 คือคนที่มีทักษะในการทำงานสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (skill of ideation)มีกรอบความคิดที่ใหญ่ และมีความสามารถในการสื่อสารเรื่องที่ซับซ้อนได้
มหาวิทยาลัยต้องเผชิญความท้าทายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบนิเวศสำหรับผู้ประกอบการ การสร้างคนที่มี Growth Mindset นักศึกษาผู้เรียนจะต้องทำงานกลุ่มและสามารถแก้ปัญหาความท้าทายแบบเปิดได้ (open-ended challenge)จัดให้มีการเรียนรู้แบบการแก้ไขปัญหาและการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Problem-based Learning and Experiential Learning)
การเตรียมความพร้อมของสิงคโปร์ สำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษาและการเรียนรู้ของผู้ใหญ่นั้น ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักได้แก่ 1) สร้างเครือข่ายเชิงกว้างและเชิงลึกในระดับนานาชาติ 2) ทำให้เกิดทักษะเชิงลึก (Deep Skill) และใช้ให้เกิดประโยชน์ 3) สร้างศักยภาพทางดิจิทัลให้แข็งแกร่ง
การสร้างเครือข่ายเชิงกว้างและเชิงลึกในระดับนานาชาติ เพื่อสร้างเครือข่ายใหม่ซึ่งคนรุ่นใหม่จะสามารถเอื้อให้เกิดนวัตกรรม โดยเป็นการรวมตัวกันของสถาบันอุดมศึกษาในสิงคโปร์และศูนย์นวัตกรรม (innovation hub) สำคัญๆ ทั่วโลก เช่น National University of Singapore (NUS)ร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วโลก โครงการแลกเปลี่ยนกับสตาร์ทอัพทั่วโลก เช่น ในปักกิ่ง อิสราเอล นิวยอร์กเซี่ยงไฮ้ ซิลิคอนวัลเลย์ เป็นต้น รวมถึงโครงการผู้นำทักษะแห่งอนาคต (Skill Future Leadership Development Initiative) ที่ได้มีขึ้นเพื่อสร้างผู้นำแห่งอนาคตของภาคเอกชนและขยายโอกาสในการได้มาซึ่งความรู้ของตลาดภูมิภาค
การพัฒนาทักษะเชิงลึก (Deep Skill) และใช้ให้เกิดประโยชน์ สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะเชิงลึก รวมถึงศักยภาพในการวิเคราะห์และการประเมิน การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ความสามารถในการร่วมมือทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ สิงคโปร์จะไม่เน้นการเรียนเพื่อให้ได้ปริญญา แต่จะเน้นความสามารถในการเรียนรู้และทักษะใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต รวมถึงจำเป็นต้องมีทักษะเชิงลึกมากขึ้นเพื่อสร้างมูลค่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สิงคโปร์ได้มีโปรแกรมแบบโมดูล(Modularized Program)ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนในช่วงปี 2015-2017 สิงคโปร์เน้นเรื่องการพัฒนาทักษะมาก ดังจะเห็นได้จากมหาวิทยาลัยNanyang Technical University (NTU), Singapore University of Social Sciences (SUSS)และวิทยาลัยโปลิเทคนิคต่างๆ ได้มีหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาทักษะออกมามากถึงกว่า 500 หลักสูตร
การสร้างศักยภาพทางดิจิทัลให้แข็งแกร่งสิงคโปร์เน้นการสร้างคนที่มีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลและมีความสามารถในการป้องกันปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์ด้วย โดยสิงคโปร์ได้สร้างห้องปฏิบัติการระหว่างภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาลเพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล (data scientist) พร้อมๆไปกับให้ความสำคัญเรื่องความคิดสร้างสรรค์และเนื้อหาสาระแบบสหวิทยาการ (interdisciplinary content)
สิงคโปร์เป็นประเทศชั้นนำที่ขับเคลื่อนสู่อนาคต ยุทธศาสตร์ในการเตรียมคนสิงคโปร์สู่อนาคตมีในทุกระดับ ตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ที่จะเป็นประเทศ Smart Nation การสร้างสถาบันใหม่อย่าง Skill Future เพื่อยกระดับทักษะของคนสิงคโปร์ทั้งประเทศ และการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาใหม่ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อเน้นทักษะแห่งอนาคต นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการเตรียมคนอย่างองค์รวมเพื่อสร้างอนาคตให้กับประเทศในศตวรรษที่ 21