ธนาคารกลางหลัก จะเลือกอาวุธใดสู้โควิด

ธนาคารกลางหลัก จะเลือกอาวุธใดสู้โควิด

ว่ากันว่าโลกเราต้องมาเจอกับโรคระบาดที่หนักที่สุดในรอบ 100 ปี แน่นอนว่าเราคงยังอยู่ห่างจากจุดต่ำสุดของวิกฤติรอบนี้อยู่พอสมควร

แม้ว่าตัวเลขการติดเชื้อในบ้านเราจะลดลงเรื่อยๆ ทว่าแน่นอนว่าเราต้องเจอกับ Second Wave ของโรคระบาดนี้ หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นทุกครั้งในการเกิดโรคระบาดใหญ่ที่ผ่านมา ซึ่งผมมองว่าครั้งนี้ก็จะไม่แตกต่างกัน

คราวนี้ ลองหันมาพิจารณาฝากฝั่งที่จะช่วยต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจที่ร่วงลงจากวิกฤติในครั้งนี้ หนึ่งในนั้น เห็นจะหนีไม่พ้นธนาคารกลางแห่งหลักๆ ของโลก ว่าจะตัดสินใจเลือกอาวุธชนิดใดเพื่อต่อสู้กับพิษโควิดในช่วงต่อไป

158684692995

เริ่มจากสหรัฐ ซึ่งทางสภาคองเกรสได้อนุมัติงบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยประกอบด้วย งบช่วยเหลือประชาชน 6 แสนล้านดอลลาร์ งบช่วยเหลือ SME 4 แสนล้านดอลลาร์ งบช่วยเหลือภาคธุรกิจ 5 แสนล้านดอลลาร์ งบช่วยเหลือรัฐและท้องถิ่นต่างๆ 2 แสนล้านดอลลาร์ และงบด้านสาธารณสุข 1.5 แสนล้านดอลลาร์ 

ด้านธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด หลังจากที่ออกมาตรการ QE แบบไม่จำกัดทั้งปริมาณเงินและเวลา รวมถึงมาตรการด้านสินเชื่อมูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ อันประกอบด้วยโครงการ Mainstreet Lending Facility ไว้ช่วย SME 6 แสนล้านดอลลาร์ โครงการ Municipal Lending Facility ไว้ช่วยธุรกิจท้องถิ่น 6 แสนล้านดอลลาร์ รวมถึง PPP (Paycheck Protection Program) ที่ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึง โครงการที่ปล่อยกู้แบบมีหลักประกันของตลาดตราสารหนี้เอกชนทั้งตลาดหลักและตลาดรอง รวมถึงตลาดตราสาร MBS ผ่าน PMCCF, SMCCF และ TALF ตามลำดับ ด้วยมูลค่าโครงการ 8.5 แสนล้านดอลลาร์

ผมมองว่าแม้เฟดจะเลือกที่จะใช้แนวทางการกระตุ้นด้วยการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเข้ามาในพอร์ตงบดุลของตนเอง ที่ ณ วันนี้ ขึ้นไปเกือบแตะระดับ 5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งนับวันระดับความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ซื้อเข้ามาจะแย่ลงเรื่อยๆ จนล่าสุด จำเป็นต้องซื้อตราสารหนี้ที่มีระดับเครดิตต่ำกว่าอันดับน่าลงทุนผ่านตราสาร ETF ทว่าท้ายสุดแล้ว ระดับหรือพลังการกระตุ้นเศรษฐกิจจากงบดุล ก็จะลดลงตามคุณภาพของสินทรัพย์ที่ลดลง จึงคงยากที่จะไม่เปลี่ยนแนวทางในการกระตุ้น โดยอาจจะหันมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในที่สุด ซึ่งถือเป็นมาตรการกระตุ้นที่แรงที่สุด จากการที่จะลดต้นทุนทางการเงินของตราสารการเงินทุกประเภท เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐถือเป็นตัวตั้งของต้นทุนทางการเงินต่างๆ ของสินทรัพย์ทั่วโลก

หันมาฝั่งยุโรปบ้าง หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรปออกมาตรการ QE มูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร ในขณะที่ทางฝั่งสหภาพยุโรป ได้ออกงบกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 5.16 แสนล้านยูโร อันประกอบด้วย งบกระตุ้น SME มูลค่า 2 แสนล้านยูโร และ งบกระตุ้นภาคธุรกิจมูลค่า 3 แสนล้านยูโร ผมมองว่าทางธนาคารกลางยุโรป น่าจะมีการตัดสินใจเพิ่มปริมาณและความหลากหลายมากขึ้นสำหรับการทำ QE ในอนาคต โดยที่เริ่มจะซื้อตราสาร ETF ในตลาดตราสารหนี้และตลาดทุน รวมถึงน่าจะออกโครงการใกล้เคียงกับแนวทางของเฟด ด้วยการออกโครงการปล่อยกู้แบบมีหลักประกันของตลาดตราสารหนี้เอกชนทั้งตลาดหลักและตลาดรอง รวมถึงตลาดตราสาร MBS ผ่าน PMCCF, SMCCF และ TALF ตามลำดับ ซึ่งล่าสุด ได้มีข่าวว่าจะออกมาตรการ Outright Monetary Transaction (OMT) 

ส่วนทางด้านญี่ปุ่น หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาบ้ ได้ออกแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ อันประกอบด้วยงบช่วยเหลือประชาชนมูลค่า 3.5 แสนล้านดอลลาร์ งบช่วยเหลือ SME มูลค่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์ งบช่วยเหลือภาคธุรกิจมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ งบช่วยเหลือในส่วนรัฐท้องถิ่นมูลค่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์ งบช่วยเหลือภาคที่อยู่อาศัยมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และงบช่วยด้านสาธารณสุขมูลค่า 1.19 แสนล้านดอลลาร์

ผมมองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นน่าจะเพิ่มความหลากหลายของมาตรการ QQE โดยที่มีโอกาสจะเพิ่มขอบเขตของอันดับเครดิตของตราสารหนี้ที่จะซื้อให้กว้างขึ้น รวมถึงน่าจะมีการซื้อ ETF ของหุ้นขนาดเล็กให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบันด้วย

ท้ายสุด ด้านออสเตรเลีย โดยรัฐบาลและธนาคารกลางออสเตรเลียได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 3.2 แสนล้านดอลลาร์ ประกอบด้วย การช่วยเหลือประชาชนมูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์ และงบช่วย SME และภาคธุรกิจมูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนธนาคารกลางออสเตรเลีย ได้ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเพื่อตรึงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออสเตรเลียอายุ 3 ปี (Yield Curve Control) ให้อยู่ในระดับ 0.25% จากที่เคยอยู่ระดับโดยเฉลี่ย 0.45% เพื่อลดต้นทุนทางการเงินให้กับทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจออสเตรเลีย โดยผมมองว่าธนาคารกลางออสเตรเลียมีโอกาสเพิ่มมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ให้มีความเข้มข้นขึ้นในอนาคตอันใกล้

เดี๋ยวไว้คราวหน้า ผมจะขอนำเสนอมุมมองของช็อตถัดไป สำหรับประเทศไทยกันบ้างครับ