“ระบบจัดการน้ำอัจฉริยะ”ในพื้นที่ EEC
“น้ำเสีย” จากภาคอุตสาหกรรมมักถูกสังคมมองเป็นตัวการหรือต้นเหตุของการสร้างมลพิษในแหล่งน้ำ แต่หากเปลี่ยน “น้ำเสีย” ให้เป็น “น้ำดี”
และนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ก็น่าจะเป็นแหล่งน้ำที่ช่วยบรรเทาปัญหาในช่วงวิกฤติน้ำแล้งให้กับพื้นที่ EEC ได้ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในแผนการบริหารจัดการน้ำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
"เพราะน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการตัดสินใจที่จะนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนหรือไม่ในพื้นที่ EEC"
จากน้ำที่ส่งให้โรงงานอุตสาหกรรม เมื่อถูกใช้เสร็จจากกระบวนการผลิตต่างๆ แล้ว ก็จะไหลย้อนกลับเข้ามาในระบบน้ำเสียส่วนกลาง เราก็เอาน้ำเสียมาบำบัดหรือรีไซเคิลแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยรูปแบบการบริหารจัดการน้ำตามระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 3R ซึ่งคุณภาพน้ำที่บำบัดเทียบเท่ากับน้ำในลำคลอง นำมาใช้สร้างพื้นที่สีเขียวและใช้ในกระบวนการระบายความร้อนของโรงงานไฟฟ้าของนิคมฯ ส่วนน้ำเสียที่ถูกรีไซเคิลด้วยระบบ Reverse Osmosis : RO มีคุณภาพเทียบเท่าน้ำประปา จะถูกนำกลับไปให้โรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคม เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรน้ำ
จากเดิมที่เคยใช้น้ำจากแหล่งน้ำดิบธรรมชาติทางเดียว ปรับมาเป็นการใช้น้ำแบบหมุนเวียน นำกลับมาใช้ใหม่ ช่วยประหยัดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำจืดได้ถึง 50% เป็นการสร้างแหล่งน้ำทางเลือกสำหรับภาคอุตสาหกรรม นี่คือการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี
ทั้งนี้ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องของงานวิจัยการพัฒนาระบบการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ภายใต้ยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ โดยโครงการ "การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC เป็นโครงการวิจัยที่มุ่งเน้นการหามาตรการหรือแนวทางการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และรองรับการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอกับอุตสาหกรรมในอนาคตเมื่อ EEC เกิดขึ้นเต็มตัว โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หรือลดปริมาณการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมให้ได้อย่างน้อย 15%
การลดการใช้น้ำลง 15% ในภาคอุตสาหกรรมยังหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำขึ้นอย่างน้อย 15% แม้ปัจจุบันในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะมีการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 3R เข้ามาประยุกต์ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย แต่จะทำอย่างไรให้เป็น "ระบบจัดการน้ำอัจฉริยะ" จึงเป็นที่มาของโครงการ เพื่อหาแนวทางหรือโมเดลที่จะลดการใช้น้ำหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และสามารถขยายผลไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ใน EEC ต่อไป
สำหรับแนวทางการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ การใช้ระบบจัดการน้ำอัจฉริยะที่เน้นเทคโนโลยี 3R (Reuse, Reduce and Recycle) กับการใช้ Internet of Thing (IoT) เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และแม่นยำในการบริหารจัดการน้ำมากยิ่งขึ้น
อีกแนวทางคือการใช้ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ช่วยผลักดันให้ภาครัฐมีเครื่องมือในการจัดทำแผนหรือยุทธศาสตร์ในการรองรับหรือป้องกันปัญหาความขาดแคลนน้ำที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีกรอบการทำงาน 3 เรื่องหลัก ในระยะเวลา 3 ปี
โดยในปีที่ 1 คัดเลือกอุตสาหกรรมต้นแบบ เพื่อดำเนินการพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมต้นแบบรุ่นที่ 1 ที่มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (ลดการใช้น้ำลงอย่างน้อย 15%) โดยใช้ระบบจัดการน้ำอัจฉริยะ (Smart System) ด้วยการใช้ระบบ 3R ควบคู่กับการใช้ Internet of Things (IoT) แบ่งเป็นระดับโรงงานและระดับนิคมอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมต้นแบบระดับโรงงานรุ่นที่ 1 มีด้วยกัน 15 โรงงาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ซ้ำประเภท มีทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ (S-M-L ) และเป็นโรงงานที่มีมาตรการหรือความสนใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ มีด้วยกัน 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ขณะที่สวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ศรีราชา อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทั้ง 2 แห่งมีศูนย์รวมการบริหารจัดการน้ำภายในนิคม
ในส่วนปีที่ 2 จะเป็นการนำแนวทางหรือโมเดลไปทดลองขยายผลไปยังภาคอุตสาหกรรม หรือ sector อื่นๆ ในพื้นที่ EEC และในการดำเนินงานปีที่ 3 จะเป็นการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรม
สำหรับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายนั้น มีการจัดทำแบบสำรวจขึ้น 2 แบบ คือ แบบสอบถาม แบ่งเป็นแบบสำรวจข้อมูลการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม จำนวนกลุ่มเป้าหมาย 2,100 ชุด และแบบสำรวจความคิดเห็นและความพึงพอใจในการจัดการน้ำของภาคอุตสาหกรรมสำหรับชุมชนโดยรอบนิคม จำนวนกลุ่มเป้าหมาย 100 ชุด และแบบสอบถามทาง Web Application จากนั้นรวบรวมข้อมูลที่ได้ทั้งหมดนำมาวิเคราะห์ผลในเชิงสถิติ ประกอบกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม การนิคมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ นิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรมในพื้นที่ และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) โดยกำหนดจัดขึ้น 2 ครั้ง รวมถึงรวบรวมความคิดเห็นจากการประชุม Focus Group เพื่อนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรมต่อไป
นอกจากนี้ อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจภายใต้โครงการ คือ การจัดทำเกมกระดานน้ำ ซึ่งโครงการนำมาเป็นเครื่องมือที่จะใช้จำลองสถานการณ์การใช้น้ำ บทบาทของผู้ใช้น้ำ และผู้จัดสรรน้ำ ทั้งภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะพัฒนาเกมแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. และนำออกมาใช้ได้ประมาณเดือน ส.ค.นี้
เป็นอีกหนึ่งในความมุ่งมั่นของหน่วยงานภาคเอกชนในการพยายามหาแนวทางหรือโมเดลการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของแต่ละอุตสาหกรรม ที่จะทำให้ "น้ำเสีย" กลายเป็น "น้ำดี" และการนำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ โดย "ระบบจัดการน้ำอัจฉริยะ" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำมากขึ้น และลดการใช้น้ำลงอย่างน้อย 15% ในพื้นที่ EEC ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดย... ฝ่ายสื่อสาร แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ