ให้ข้าวพื้นนุ่มช่วยการส่งออกข้าวไทยกันเถอะ

ให้ข้าวพื้นนุ่มช่วยการส่งออกข้าวไทยกันเถอะ

ในปี 2563 ทางราชการและเอกชนตั้งเป้าการส่งออกข้าวไว้ที่ 7.5 ล้านตัน แต่จากสถิติ ณ กลางเดือน ส.ค.2563 ไทยส่งออกข้าวได้รวมประมาณ 3.4 ล้านตัน

ช่วง 4 เดือนเศษที่เหลือ คงไม่สามารถเร่งการส่งออกให้ได้ตามเป้าหมาย ทางราชการและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจึงได้ปรับตัวเลขการส่งออก ปี 2563 เหลือ 6.5 ล้านตัน และคาดว่าไทยคงจะตกอันดับการส่งออกมาเป็นอันดับที่ 3

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกข้าวไทยไม่ถึงเป้าหมาย คือ

1.การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ช่วงแรกคาดกันว่าจะทำให้ความต้องการสินค้าข้าวทั่วโลกสูงขึ้น ถึงกับมีบางท่านเสนอให้ไทยเตรียมควบคุมการส่งออกข้าว เพราะเกรงว่าจะขาดแคลนข้าวบริโภคในประเทศ แต่ก็ไม่เป็นไปดังที่คาดไว้ เพราะการระบาดมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา ทำให้กำลังการซื้อของผู้บริโภคและของประเทศนำเข้าลดลง

2.ราคาข้าวไทยที่สูงกว่าคู่แข่งที่สำคัญคือ เวียดนาม อินเดีย เนื่องจาก

2.1.ต้นทุนการปลูกและการเก็บเกี่ยวที่สูง ที่สำคัญคือผลผลิตต่อไร่ที่ได้ต่ำประมาณ 600-800 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าว ความสมบูรณ์ของน้ำ และการให้ปุ๋ย เมื่อได้ผลผลิตต่ำ มีผลให้ราคาข้าวต่อหน่วยของไทยจึงสูง ซึ่งเสียเปรียบการผลิตข้าวของเวียดนามที่ได้ผลผลิตสูงกว่าข้าวไทย

2.2.ต้นทุนการสีข้าวของโรงสีที่สูงขึ้น อันสืบเนื่องจากนโยบายการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ทำให้มีการก่อสร้างโรงสีและโกดังเพิ่มขึ้นมาก เพื่อรองรับการสีข้าวและการเก็บข้าวสารที่สีตามโครงการรับจำนำข้าว แต่ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่มีโครงการรับจำนำข้าวจึงไม่มีข้าวป้อนให้โรงสี และไม่มีการเช่าโกดังหรือฝากเก็บข้าวในโกดัง จึงมีโรงสีและโกดังส่วนเกินความต้องการมากมายหลายร้อยโรง บางแห่งต้องเลิกกิจการสีข้าวและปล่อยให้โกดังทิ้งร้างไว้

แต่ก็มีผู้ประกอบการโรงสีบางรายจำใจต้องประกอบกิจการอยู่ต่อไป ซึ่งก็ทำให้กำลังการสีข้าวของโรงสีมีมากกว่าปริมาณข้าวที่ชาวนาปลูกได้ โรงสีจึงต้องแย่งกันซื้อข้าวเพื่อให้มีข้าวเปลือกสี ประกอบกับฤดูการผลิตปีนี้มีปัญหาน้ำแล้ง ผลผลิตข้าวเปลือกน้อยกว่าปกติ โรงสีจึงต้องแย่งกันซื้อข้าวมากขึ้นไปอีก ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นมาก ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อชาวนาในระดับหนึ่ง แต่ก็ทำให้ราคาต้นทุนข้าวที่จะส่งออกสูงขึ้นด้วย

2.3.ต้นทุนการขนส่ง ระบบขนส่งข้าวจากแหล่งผลิตสู่โรงสี จากโรงสีสู่แหล่งส่งออกส่วนมากไม่อาจพึ่งพาการขนส่งทางน้ำที่มีค่าคนส่งถูกได้มากนัก เพราะมีข้อจำกัดและข้อติดขัดบางประการ เช่นในระดับไร่นาการขนส่งข้าวเปลือกไปโรงสี ส่วนใหญ่ต้องอาศัยขนส่งทางรถ การขนส่งข้าวสารจากโรงสีไปยังผู้ส่งออก หรือจากโกดังส่งออกไปขึ้นเรือใหญ่ ที่อาศัยแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าเป็นหน้าแล้งแม่น้ำบางช่วงตื้น เรือขนส่งติดตื้น ถ้าเป็นช่วงหน้าน้ำหลากช่วงน้ำขึ้นเรือลอดสะพานบางสะพานในกรุงเทพไม่ได้ ดังนั้นการขนส่งข้าวส่วนมากจึงต้องพึ่งพาการขนส่งทางถนน โดยรถบรรทุกซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการขนส่งทางน้ำ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนการส่งออกข้าวสูงขึ้นด้วย

2.3.การแข็งค่าของเงินบาท ที่มีผลให้การเสนอราคาขายข้าวส่งออกสูงขึ้นตามอัตราเงินบาทที่แข็งค่า

3.ความนิยมในการบริโภคข้าวพื้นนุ่มในต่างประเทศ

ผู้บริโภคข้าวจำนวนมากในประเทศนำเข้าข้าว เช่น จีน ฟิลิปปินส์ นิยมบริโภคข้าวพื้นนุ่ม จากจุดนี้เองช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เวียดนามจึงได้พัฒนาพันธุ์ข้าวที่เป็นข้าวพื้นนุ่มออกมามากมายหลายพันธุ์เพื่อผลิตข้าวป้อนตลาดที่ต้องการข้าวพื้นนุ่ม เช่น พันธุ์ ST24 พันธุ์ Jasmine 85 พันธุ์ OM 5451 เป็นต้น สำหรับพันธุ์ OM 4551 เป็นข้าวที่มีระยะเพาะปลูกสั้น ระยะเวลา 90-95 วันก็เก็บเกี่ยวได้ ปลูกได้ปีละ 3 ฤดู เวียดนามจึงสามารถส่งออกข้าวพื้นนุ่มในราคาถูกกว่าข้าวไทยสนองตลาดต่างประเทศที่นิยมบริโภคข้าวนุ่มได้มากกว่าไทย

สำหรับประเทศไทย มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มออกมาและให้การรับรองแล้วหลายพันธุ์ เช่น กข39, กข43, กข53, กข77 และ กข79 ก็ยังไม่นิยมปลูกเป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมากลับมีข้าวชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่าข้าวหอมพวง นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย เพราะให้ผลผลิตสูงประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะเพาะปลูกสั้น ประมาณ 90-100 วันก็เก็บเกี่ยวได้ และได้ราคาดี

ข้าวที่เรียกว่าข้าวหอมพวง ที่มีบางฝ่ายเรียกว่าข้าวเวียดนาม Jasmine 85 บางฝ่ายก็เรียกว่าเป็นข้าวหอมพวงที่เป็นข้าวพื้นเมืองของไทย ซึ่งก็มีคำยืนยันจากผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าเป็นคนละพันธุ์กับข้าวเวียดนาม jasmine 85 และก็ไม่อาจยืนยันระบุถึงแหล่งที่มาของข้าวหอมพวงดังกล่าวได้แน่ชัด ซึ่งก็ยังไม่มีการรับรองพันธุ์ข้าวดังกล่าว

สำหรับปัญหาราคาข้าวไทยที่มีต้นทุนสูงดังกล่าวข้างต้นเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขเชิงโครงสร้างทั้งระบบที่ต้องร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานและคงใช้เวลาพอสมควร แต่โจทย์หลักของการส่งออกข้าวไทยในปัจจุบันที่น่าจะแก้ไขได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก คือการส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวพื้นนุ่ม จะเป็นพันธุ์อะไรก็ได้โดยปราศจากเงื่อนไขและข้อจำกัด และไม่ได้ละเมิดสิทธิ์ของผู้ใด ประเทศใด ได้ผลผลิตออกมาเป็นข้าวที่มีคุณภาพ ดีและมีปริมาณพอเพียงที่สามารถส่งออกป้อนตลาดที่บริโภคข้าวพื้นนุ่มในราคาที่แข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

และควรกำหนดให้มีมาตรฐานข้าวไทยพื้นข้าวนุ่มเป็นการเฉพาะออกมาอีกมาตรฐานหนึ่ง นอกเหนือจากมาตรฐานข้าวไทย มาตรฐานข้าวหอมไทย และมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยที่ได้กำหนดไว้แล้ว เพื่อให้เป็นเกณฑ์เป็นเป้าหมายในการผลิตข้าวพื้นนุ่มที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และใช้เป็นมาตรฐานในการซื้อขายและส่งออกด้วย