Brexit ฉบับอินดี้ ของบอริส จอห์นสัน
ยังคงเป็น ทอล์คออฟเดอะทาวน์ แม้สภาล่างอังกฤษได้ผ่านร่าง Brexit ของ “บอริส จอห์นสัน” นายกฯอังกฤษ ด้วยคะแนนเสียง 340-263 จันทร์ท่ี่ผ่านมา
เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ 4 ท่าน อันประกอบด้วย จอห์น เมเจอร์-โทนี แบลร์-เดวิด แคเมรอน และเทเรซา เมย์ ได้ต่างออกมากล่าวโจมตีร่าง Brexit นี้ว่าถือเป็นสิ่งที่จะขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงจะทำให้สังคมโลกขาดความเชื่อถือและความเคารพต่อสหราชอาณาจักร เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น มาติดตามกันได้ในบทความนี้
ประเด็นที่ร่าง Brexit ของ “บอริส จอห์นสัน” ฉบับแหวกแนวนี้ ต้องทำให้อดีตผู้นำลุกขึ้นมาคัดค้าน มาจาก 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
หนึ่งประเด็นใน Article 10 ของข้อตกลง Brexit ของอังกฤษที่นายจอห์นสันไปลงนามไว้กับทางสหภาพยุโรป หรืออียู เมื่อช่วงสิ้นปีที่แล้ว โดยเนื้อหาหลักคือ การใช้งบประมาณจากรัฐบาลอังกฤษเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมใดๆ หรือกลุ่มใดก็ตามในสหราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ สกอตแลนด์ และเวลส์ ทางอังกฤษต้องแจ้งให้ทางอียูรับทราบและให้ความเห็นประกอบ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทางนายจอห์นสันมองว่าผิดหลักการความเป็นเอกราชของประเทศอังกฤษ (Sovereignity)
ทางแก้ของนายจอห์นสันสำหรับประเด็นนี้คือการเขียนร่างกฎหมายที่มีชื่อว่า Internal Market Bill ไว้ในร่าง Brexit ใหม่ที่ได้ทำการโหวตผ่านในสภาล่าง (House of Commons) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ โดยในร่างใหม่นี้ได้มีการทำให้เงื่อนไขของ Article 10 ของกฎหมายของอียูเดิมกลายเป็นโมฆะไป เนื่องจากขัดกับหลักการความเป็นเอกราชของอังกฤษ เสมือนเป็นการร่างกฎหมาย Internal Market Bill เพื่อให้ผ่านทั้งสองสภาของอังกฤษเพื่อฆ่ากฎหมาย Brexit เดิมที่นายจอห์นสันไปเซ็นกับทางอียูไว้เมื่อปลายปีที่แล้วนั่นเอง
ตรงนี้ผมมองเป็น 2 ส่วนคือ 1.มูลเหตุของการใช้ Internal Market Bill นี้มาจากความเชื่อของนายจอห์นสันและทีมงานเปลี่ยนไปจากแนวทางของพรรค Tory เดิมที่เชื่อในหลักการการค้าแบบเสรีกลายมาเป็นว่าเชื่อในแนวทางแบบที่เป็น "Britain First" หรืออังกฤษต้องมาก่อน ซึ่งถือว่ากึ่งๆ เลียนแบบแนวทางของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐ โดยที่ทางการอังกฤษจะขอเป็นผู้เลือกอุตสาหกรรมที่คิดว่าอังกฤษโดดเด่นเป็นพิเศษในการชูเป็นพระเอกของเศรษฐกิจประเทศ รวมถึงการห้ามไม่ให้ต่างชาติเข้ามาโดดเด่นในอุตสาหกรรมดังกล่าว
ที่เป็นตัวอย่างได้แก่กรณี TikTok ของสหรัฐ ที่ทรัมป์บังคับไม่ให้ทำธุรกิจเองอีกต่อไปในสหรัฐ ซึ่งต้องยอมรับว่าแม้แต่ในวงการวิชาการก็ยังมีความเชื่อในหลักการการค้าเสรีที่ลดลงจากเดิม จึงไม่น่าแปลกใจที่นายจอห์นสันจะเชื่อในแนวทาง "Britain First" นี้
2.การแก้กฎหมายเดิมที่เซ็นไปแล้วด้วยการผ่านกฎหมายใหม่เพื่อฆ่ากฎหมายเดิมนั้น ถือเป็นสิ่งที่นักการเมืองแบบสไตล์เมืองผู้ดีอังกฤษแท้ๆ ไม่เคยทำกัน ซึ่งนายจอห์นสันนั้นถือเป็นนักการเมืองที่เติบโตมาจากรากหญ้า ซึ่งการคิดทำอะไรที่แปลกไปจากเดิม ถือเป็นสิ่งที่เขาเองทำบ่อยจนกลายเป็นธรรมชาติไปเสียแล้ว
ประเด็นที่สอง การที่ต้องมีการเตรียมให้เกิดขั้นตอนและกระบวนการแบบค่อนข้างมากในการตรวจสอบสินค้าและบริการเพื่อผ่านด้านศุลกากรระหว่างชายแดนของไอร์แลนด์เหนือและอังกฤษ ตามกฎหมาย Brexit เดิมนั้น ทางนายจอห์นสันได้เขียนในร่างกฎหมาย Internal Market Bill ว่าสิ่งนี้ถือว่าขัดกับหลักการ “unfettered access” ของประเทศไอร์แลนด์เหนือ ที่ระบุว่าทางไอร์แลนด์เหนือสามารถติดต่อกันซื้อขายสินค้าและบริการระหว่างชายแดนอย่างเสรีกับอังกฤษ ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้ข้างต้นตามกฎหมายอียู หรือฉบับ Brexit ที่นายจอห์นสันไปเซ็นไว้นั้นไม่สามารถส่งผลจริงทางกฎหมายได้
ที่มา : BBC
คำถามในตอนนี้คือทางนายจอห์นสัน ต้องการที่จะเอาจริงกับความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายนี้ ซึ่งทางยุโรปคงไม่เล่นด้วยและอังกฤษน่าจะออกจากยุโรปด้วย No Deal หรือไม่มีข้อตกลงทางกฎหมายการค้าใดๆ เกิดขึ้นระหว่างกันในสิ้นปีนี้ ดังรูป หรือว่านายจอห์นสันเพียงจะใช้สิ่งนี้เพื่อเป็นเครื่องต่อรองกับอียูเพื่อให้ได้ข้อตกลง Brexit ที่ทางอังกฤษมีความได้เปรียบมากขึ้นต้องอดใจรอดูกันอีกนิด
ทั้งนี้ร่างกฎหมาย Internal Market Bill ของนายจอห์นสันนี้ขั้นตอนต่อไปต้องผ่านการโหวตของสภาบน หรือ House of Lords จากนั้นถึงจะมาถึงขั้นตอนลงพระปรมาภิไธยโดยราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งก็มีโอกาสไม่ผ่านฉลุยเช่นกันครับ