การเติบโตของตลาดข้อมูล ESG

การเติบโตของตลาดข้อมูล ESG

จากข้อมูลการสำรวจของมอร์นิ่งสตาร์ บ่งชี้ว่ามูลค่าของกองทุนที่เน้นการลงทุนที่ยั่งยืน ได้ทะลุตัวเลข 1 ล้านล้านเหรียญเป็นครั้งแรก

หลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี ค.ศ.2020

และตัวเลขการสำรวจของออพิมัส ที่ปรึกษาด้านการจัดการลงทุนในตลาดทุนทั่วโลก ระบุว่า มูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุนโดยใช้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มีตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 40.5 ล้านล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2020

160222377731

ขณะที่ขนาดของตลาดข้อมูล ESG มีมูลค่าอยู่ที่ 617 ล้านเหรียญ ในปี ค.ศ.2019 โดยอัตราเติบโตที่คาดการณ์ของข้อมูล ESG อยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี และดัชนี ESG อยู่ที่ร้อยละ 35 ต่อปี ซึ่งจะทำให้ขนาดของตลาดข้อมูล ESG พุ่งถึงระดับ 1 พันล้านเหรียญ ได้ในปี ค.ศ.2021 ( http://www.opimas.com/research/547/detail/ )

เป็นที่แน่นอนว่า ธุรกิจที่เปิดให้บริการข้อมูล ESG ในไทย จะเติบโตขึ้น ตามแนวโน้มการเติบโตของตลาดข้อมูล ESG ในระดับโลก

หากย้อนไปสำรวจดูข้อมูล ESG ของหลักทรัพย์จดทะเบียนในไทย ที่สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำการประเมินกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ซึ่งถือเป็นการจัดอันดับหลักทรัพย์โดยใช้เกณฑ์ ESG เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2558 จำนวน 567 หลักทรัพย์ มีชุดข้อมูล ESG ที่ถูกใช้ในการประเมินอยู่ 10,500 จุดข้อมูล เทียบกับชุดข้อมูล ESG ที่ใช้ในการประเมินในปี พ.ศ.2563 จำนวน 803 หลักทรัพย์ 14,870 จุดข้อมูล คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.6

ผู้ลงทุนที่ยึดแบบแผนการลงทุนที่ยั่งยืน โดยอาศัยเกณฑ์ ESG เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน เชื่อว่า ยิ่งมีข้อมูล ESG ที่เพียงพอมากเท่าใด การวิเคราะห์การดำเนินงานของบริษัท เพื่อที่จะคาดการณ์ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท จากการพิจารณาปัจจัย ESG ก็จะมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

และที่สำคัญ ผู้ลงทุนจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว และมิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป นั่นก็เป็นเพราะผลประกอบการในอนาคตของบริษัท มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท

การส่งเสริมและกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียน มีการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่เพียงพอสำหรับการใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน จึงเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในตลาดทุนทั่วโลก ขนาดของตลาดข้อมูล ESG จึงมีตัวเลขที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในห้วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

แลร์รี่ ฟิงก์ ซีอีโอ แบล็กร็อก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ด้วยขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) กว่า 7 ล้านล้านเหรียญ กล่าวว่า บริษัทที่มีความมุ่งประสงค์ไม่จำกัดเพียงแค่การให้ผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้น จะกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของการลงทุน

หลังจากสถานการณ์โควิด ยิ่งมีความชัดเจนว่า ทุนนิยมที่เอื้อต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Capitalism) จะทวีความสำคัญ โดยบริษัทที่เน้นประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้า พนักงาน และสังคมรายรอบกิจการ จะกลายเป็นผู้ชนะแห่งอนาคต