ความเปราะบางของลูกหนี้ไทย
ขณะนี้มีการพูดถึงการกู้ยืมเงินของภาครัฐอย่างกว้างเพราะได้มีการออก พ.ร.ก.เพื่อกู้เงิน (เนื่องจากต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น) อีก 500,000 ล้านบาท
อีกทั้งยังจะต้องให้รัฐสภาอนุมัติงบประมาณปี 2565 ที่จะต้องขาดดุล (จึงจะต้องกู้เงิน) อีก 700,000 ล้านบาท แต่ในความเห็นของผมนั้นสถานะของรัฐบาลในฐานะของลูกหนี้ยังค่อนข้างจะแข็งแกร่งอยู่มากเมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ แต่ก็เข้าใจความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่รู้ว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาล หมายถึงภาระที่เพิ่มขึ้นของประชาชนทุกคนในอนาคต เพราะรัฐบาลไม่เหมือนประชาชนคนอื่นๆ ที่จะต้องทำมาหากินเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินต้น แต่รัฐบาลนั้นจะตามมาเก็บภาษีจากประชาชนเพิ่มขึ้นเป็นหลัก ไม่สามารถหารายได้เพิ่มในทางอื่นได้มากนัก
อย่างไรก็ดี ผมก็ยังมองว่าสถานะของประชาชนส่วนใหญ่ดูจะเปราะบางกว่ารัฐบาลอย่างมาก ตัวอย่างเช่น สภาพัฒน์ประเมินล่าสุดเมื่อ 17 พ.ค.ว่ารายได้ต่อหัวของประชาชนคนไทยในปีนี้จะเท่ากับ 233,191 บาท ลดลงจาก 235,474 บาทที่ได้เคยประเมินเอาไว้ ณ วันที่ 15 ก.พ.ของปีนี้ ทั้งนี้โดยมีสมมติฐานว่าประเทศไทยจะฉีดวัคซีนได้ครบ 100 ล้านโดสภายในปีนี้ ทำให้ทำให้จีดีพีสามารถขยายตัวได้ 1.5-2.5% (เฉลี่ย 2% ต่อปี) แต่ในขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีนั้นเพิ่มขึ้นอย่างเร่งตัว
กล่าวคือในช่วงก่อนโควิด-19 หนี้ครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 79% ของจีดีพีและเพิ่มขึ้นมาเป็น 86.3% ของจีดีพีเมื่อปลายปี 2563 (จากการคำนวณของ CEIC โดยใช้ข้อมูลของสภาพัฒน์และธนาคารแห่งประเทศไทย) โดยมีแนวโน้มว่าสัดส่วนน่าจะยังอยู่ในขาขึ้นและอาจขึ้นไปแตะ 90% ของจีดีพีได้ภายในปลายปีนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสูงกว่าปริมาณหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่น่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาใกล้กับ 60% ของจีดีพีภายในปลายปีนี้
ในขณะเดียวกันเมื่อไม่นานมานี้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยก็ได้ทำการประเมินหนี้ครัวเรือนของคนทำงานโดยสรุปว่า ได้เพิ่มขึ้นจาก 158,856 บาทในปี 2562 ก่อนโควิด-19 มาเป็น 205,810 บาทในเดือน เม.ย.ของปีนี้ กล่าวคือเพิ่มขึ้นไปถึง 29.6% (ในช่วงที่จีดีพีและรายได้ของเกือบทุกคนลดลงไป 6%) ซึ่งตัวเลข 205,810 บาทนั้นก็คิดเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับจีดีพีต่อหัวในปีนี้ที่ 233,191 บาท
แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดนั้นน่าจะเป็นสถานะของเอสเอ็มอีของไทย ที่แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (20 ปีระหว่างพ.ศ. 2561-2580) ได้เคยวาดฝันเอาไว้ให้สัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของเอสเอ็มอีไทยเพิ่มขึ้นจาก 45% ของจีดีพีโดยรวมในปี 2561-2565 เป็น 50% ในปี 2566-2570 และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 55% ในปี 2571-2575 และเพิ่มเป็น 60% ของจีดีพีในปี 2576-2580 วันนี้จีดีพีของไทยเท่ากับ 16 ล้านล้านบาทและรัฐบาลเคยประเมินว่าจีดีพีจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีก 1 เท่าตัวในอีก 20 ปีข้างหน้า (ไม่นับรวมเงินเฟ้อ) ดังนั้น ในปี 2580 จีดีพีไทยน่าจะมีมูลค่าประมาณ 30 ล้านล้านบาท หมายความว่ายอดขายของเอสเอ็มอีของไทยก็จะต้องมีมูลค่าประมาณ 18 ล้านล้านบาทจากปัจจุบันที่รัฐบาลคำนวณเอาไว้ที่ประมาณ 7 ล้านล้านบาท
เราทราบกันดีว่า เอสเอ็มอีนั้นมีทุนไม่มากและต้องอาศัยเงินกู้เป็นหลักในการทำธุรกิจและขยายธุรกิจ ผมจึงกลับไปดูตัวเลขสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีตลอดจนระดับ NPL และ Special Mention Loan ของเอสเอ็มอี พบว่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก ทั้งนี้ NPL หมายถึงหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ส่วน Special Mention Loan คือหนี้ที่ลูกหนี้เริ่มจะไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยรายเดือน ซึ่งเป็นเหมือนกับการเตือนภัยว่าลูกหนี้กำลังมีปัญหาทางการเงินอย่างเห็นได้ชัด
ผมได้คัดเอาตัวเลขสินเชื่อโดยรวมของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยและส่วนที่ปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอี โดยเปรียบเทียบปริมาณในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2562 (ก่อนโควิด-19) กับตัวเลขล่าสุดคือไตรมาส 1 ของปี 2564 ดังปรากฏในตารางข้างล่าง (แหล่งข้อมูลคือ ธปท.)
จะเห็นได้ว่าในภาพรวม (Total Gross Commercial Bank Loans) นั้นยังมีการปล่อยสินเชื่อเพิ่มประมาณ 11.18% ในช่วงเวลาดังกล่าวและสินเชื่อปกติ (Normal Loans) ก็ขยายตัวได้ 6.78% แต่ก็ได้เห็น NPL เพิ่มขึ้น 15.5% จาก 465,030 ล้านบาทไปเป็น 537,140 ล้านบาท แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ SM Loans ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (ก่อนการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 เมื่อเดือน เม.ย.) จาก 436,480 ล้านบาทในไตรมาส 4 ของปี 2562 มาเป็น 1,112,850 ล้านบาทในไตรมาส 1 ของปี 2564
แต่ที่ต้องรับศึกหนักที่สุดก็คือ เอสเอ็มอีของไทยที่นอกจากจะเห็น SM Loans เพิ่มขึ้นถึง 148.54% (จาก 174,040 ล้านบาทเป็น 432,560 ล้านบาท) แล้วก็ยังเห็นการลดลงของสินเชื่อโดยรวมจากที่ธนาคารเคยปล่อยกู้ให้ 5.04 ล้านล้านบาท ลดลงเหลือเพียง 3.29 ล้านล้านบาทในช่วงไตรมาส 4 ปี 2562 ถึงไตรมาส 1 ปี 2564 ตรงนี้อาจมีหลายเหตุผลที่มีการตัดลดสินเชื่อดังกล่าว แต่ผลที่สำคัญคือการทำให้เอสเอ็มอีขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ด้วยความยากลำบากอย่างยิ่งและคงจะไม่สามารถทำยอดขายให้คิดเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (20ปี) ที่ 50-60% ของจีดีพีได้
ทั้งนี้ หากดูจากตาราง 2 ด้านล่างนี้ ก็จะเห็นว่าสัดส่วนของสินเชื่อที่เป็นปัญหา (NPL+SM Loans) ได้เพิ่มขั้นอย่างก้าวกระโดดจาก 8% ของสินเชื่อในไตรมาส 4 ของปี 2562 มาเป็น 20.4% ในไตรมาส 1 ของปี 2564 และน่าจะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกในภาวะที่การระบาดของโควิด-19 ยังดำเนินต่อไปครับ