120 วัน ธุรกิจต้องเตรียมอะไร
120 วัน จะเป็นบทพิสูจน์การทำงานของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
เป้าหมาย 120 วันในการเปิดประเทศ ได้ถูกประกาศโดย พล อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันพุธ (16 มิ.ย.) ที่ผ่านมา จากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ที่ต้องเปิดเมืองให้พี่น้องประชาชนสามารถกลับออกมาทำมาหากินกันได้อีกครั้ง โดยไม่สามารถรอให้ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสกันถ้วนหน้าก่อน แล้วจึงค่อยเปิดประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน มาถึงจุดที่ประชาชนคนไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดให้ได้เหมือนกับโรคภัยอื่นๆ โดยหวังพึ่งมาตรการจัดการให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เพราะทั่วโลกรวมทั้งไทย จะต้องอยู่กับไวรัสนี้ต่อไปอีก โดยยังไม่มีท่าทีว่าจะหมดสิ้นไปในเร็ววัน
แม้ความน่าจะเป็นของการเปิดประเทศภายใต้เป้าหมายดังกล่าว จะไม่เต็มร้อย เนื่องด้วยข้อจำกัดของอัตราการกระจายวัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีนเอง และธรรมชาติของการแพร่ระบาดที่ควบคุมได้ยาก แต่ก็ถือเป็นหลักไมล์ที่ทุกภาคส่วนต้องการบรรลุ มิฉะนั้น ไทยก็จะอาจจะตกขบวนเศรษฐกิจโลก ที่หลายชาติขณะนี้ เริ่มกำหนดแผนในการเปิดประเทศแล้วเช่นกัน
สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมการในห้วงเวลา 120 วัน เริ่มจากการสำรวจหน้าตักของตนเอง ว่ามีวัตถุดิบ มีทุน มีทรัพยากรเหลือพอ ที่พร้อมรองรับการกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้งหรือไม่ เพียงใด และหากมีไม่เพียงพอ จะมีช่องทางในการเสาะหาทุนที่ขาดเหล่านั้น เข้ามาเติมได้อย่างไร
ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จะมีความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งทุน หรือมีความสามารถในการเติมทุนที่จำกัด สิ่งที่ทำได้ในทางปฏิบัติ คือ การแสวงหาหุ้นส่วนร่วมดำเนินงานจาก 3 แหล่ง ได้แก่
แหล่งแรก คือ หุ้นส่วนความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่า เป็นการแสวงหาความร่วมมือระหว่างคู่ค้าภายในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเติมทักษะ เทคโนโลยี แพลตฟอร์มออนไลน์ และทรัพยากรอื่นๆ ที่จำเป็น สำหรับนำไปสู่การกลับมาดำเนินธุรกิจในตลาดได้อีกครั้งหนึ่ง
แหล่งที่สอง คือ โครงการความร่วมมือในอุตสาหกรรม ที่ริเริ่มขึ้นโดยสมาคมการค้าในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม การรวมซื้อวัตถุดิบเพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำ ระบบโลจิสติกส์ร่วม การจัดหาแหล่งสินเชื่อเร่งด่วน ดอกเบี้ยต่ำ การซื้อขายลูกหนี้ทางการค้า (Factoring) ฯลฯ สำหรับเป็นตัวช่วยในการฟันฝ่าอุปสรรคความท้าทายที่มีร่วมกัน
แหล่งที่สาม คือ หุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย ที่ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงิน ร่วมกันเสริมแรงในการฟื้นคืนปัจจัยทางเศรษฐกิจ ด้วยการทำงานแบบข้ามภาคส่วน ในลักษณะที่เป็นเครือข่ายความร่วมมือ (Cluster) เพื่อให้ได้ระบบนิเวศที่กลับมาใช้บริการได้ดังเดิม
ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีทรัพยากรและสายป่านยาว ควรลุกขึ้นมาดำรงบทบาทเป็นองค์กรนำ ทำหน้าที่ประสานและรวบรวมองค์กรขนาดเล็ก ให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ โดยใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถหลักที่ตนเองมีอยู่ แยกโครงการที่ทำออกจากประเด็นทางการเมือง วางโครงสร้างการกำกับดูแลที่ชัดเจน สร้างกรอบการติดตามงานเดียว มุ่งเน้นที่ผลกระทบและประโยชน์ที่จะตกกับภาคีความร่วมมือเป็นสำคัญ
เป้าหมาย 120 วัน จะเป็นบทพิสูจน์การทำงานของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นประโยชน์เพื่อบ้านเมืองของผู้คนทุกกลุ่ม
หากเรายังมีทัศนคติในแบบที่ต่างคนต่างเดิน หรือต่างคนต่างเอาตัวรอด เราจะไม่มี 120 วัน รอบใหม่ สำหรับเปิดประเทศในคำรบสอง