ความเหงาจากโควิด กับการเสพติดดิจิทัล
ผลกระทบหนึ่งจากการที่ต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน เพื่อ WFH หรือการเรียนการสอนออนไลน์ ก็ ได้แก่ ความโดดเดี่ยว ความเหงา ที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ของโควิดในปัจจุบัน ก็เชื่อได้ว่าการ Work from home หรือการเรียนการสอนออนไลน์ก็จะยังอยู่ไปอีกหลายเดือน รวมถึงการที่จะต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้านเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ผลกระทบหนึ่งจากการที่ต้องเก็บตัวอยู่กับบ้าน ได้แก่เรื่องของความโดดเดี่ยว ความเหงา ที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่อาศัยการเจอหน้าและเข้าสังคม ในการทำให้ชีวิตมีคุณค่าและความหมายมากขึ้น ก่อนยุคโควิดนั้น สถานที่ซึ่งมนุษย์ใช้เวลาในการเข้าสังคมมากที่สุดก็คือที่ทำงานและสถานศึกษา แต่การระบาดของโควิดในระลอกต่างๆ ก็ทำให้สถานที่และโอกาสในการรวมกลุ่มทางสังคมของมนุษย์หายไป
แม้ก่อนโควิดก็ทราบกันว่าความโดดเดี่ยว อ้างว้าง รวมถึงความเหงา สามารถที่จะนำไปสู่ปัญหาทางด้านสุขภาพทั้งกายและใจได้ เมื่อโควิดเกิดขึ้น โอกาสในการเกิดความเหงาและโดดเดี่ยวก็เพิ่มขึ้นด้วย ในสหรัฐอเมริกามีงานวิจัยที่พบว่าตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ หนึ่งในสามของชาวอเมริกันรายงานว่ารู้สึกโดดเดี่ยวหรือเหงา (Lonliness) มากขึ้น มีวิจัยอีกชิ้นที่พบว่ากลุ่มชาว Millennials หรือ Gen Y เป็นกลุ่มที่รู้สึกถึงความเหงาหรือโดดเดี่ยว อันเนื่องมาจากโควิดมากกว่าช่วงอายุอื่นๆ
จริงอยู่ว่าพัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์สามารถเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ได้มากขึ้น แต่จะพบว่าถึงแม้จะนัดเพื่อนๆ คุยกันผ่าน Zoom หรือ มีนัดทานอาหารร่วมกันผ่านทางออนไลน์ ความรู้สึกและบรรยากาศก็จะไม่เหมือนกับในอดีต
ขณะเดียวกันความโดดเดี่ยวก็สามารถนำไปสู่การเสพติดมือถือและสังคมออนไลน์กันได้มากขึ้น ลองสังเกตตนเองดูว่าในช่วงที่ต้องกักตัวเองที่บ้าน จะหยิบโทรศัพท์มือถือหรือ Tablet ขึ้นมาบ่อยกว่าปกติหรือไม่? นักจิตวิทยาได้ระบุไว้ว่าการเอื้อมมือไปเพื่อคว้าโทรศัพท์นั้นเสมือนกับการบำบัดทางจิตใจชนิดหนึ่งของคนในช่วงที่ต้องเผชิญกับโควิด
เมื่อเหงาก็คือเข้าไปในสังคมออนไลน์มากขึ้น ทั้งการพูดคุยกับเพื่อนกลุ่มต่างๆ หรือ การเข้าไปส่องชีวิตและความคิดของคนอื่นๆ อย่างไรก็ดีกลับมีงานวิจัยที่ค้นพบว่ายิ่งใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นก็จะยิ่งมีความรู้สึกเหงามากขึ้น ในงานวิจัยดังกล่าวพบว่าถ้าการใช้สื่อสังคมออนไลน์ลดลง ความเหงาและโดดเดี่ยวก็จะลดลง ทั้งนี้เนื่องจากการเสพสังคมออนไลน์มากๆ ยิ่งทำให้รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยวมากขึ้น อีกทั้งในช่วงที่ต้องกักตัวและไม่สามารถเข้าสังคมได้นั้น สังคมออนไลน์ก็เป็นสิ่งเตือนให้ระลึกถึงความสุขของการได้เข้าสังคมในอดีต
การเข้าไปในสังคมออนไลน์นั้นก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารู้จักเลือกที่จะเข้าไปดูเนื้อหาที่มีคุณภาพ เช่น คลิปการออกกำลังกาย (แล้วต้องออกตามด้วยนะ) คลิปสอนการทำอาหาร หรือ คลิปนำชมพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการเข้าไปเพราะเบื่อและไม่มีอะไรทำ แล้วก็เพียงแค่ไถๆ เพื่อดูชีวิตชาวบ้านผ่านสังคมออนไลน์ก็เป็นสิ่งที่จะต้องระมัดระวัง
มีงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่าการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่องตลอดเวลานั้น ก็เสมือนกับการเสพสารเสพติด และพบว่าพวกที่ใช้มากที่สุดนั้นจะเป็นพวกที่มีระดับของความโดดเดี่ยว ความขี้กังวล หดหู่มากที่สุด
ดังนั้นจึงควรที่คิดถึงเรื่อง Digital Detox ในช่วงโควิดด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวินัยในการหยิบโทรศัพท์มือถือหรือการเสพสังคมออนไลน์ โดยการกำหนดระยะเวลาไว้ให้ชัดเจน หรือ การหักห้ามใจและมีสติทุกครั้งเมื่อจะเอื้อมมือหยิบมือถือ
อีกแนวทางหนึ่งที่ควรจะทำ คือจะต้องหาสิ่งอื่นทำที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าจอ (ช่วยในการดูแลและถนอมสายตาด้วย) ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การใช้เวลากับงานอดิเรก หรือการอ่านหนังสือ เป็นต้น
ดังนั้นในช่วงที่หลายๆ คนต้องกักตัวอยู่กับบ้าน ถึงแม้จะยังต้องทำงานอยู่ แต่เมื่อเกิดความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวแล้ว ก่อนที่จะเอื้อมมือหยิบมือถือหรือการเข้าสู่สังคมออนไลน์ ก็ขอให้มีสติก่อนทุกครั้ง และอย่าลืมหากิจกรรมอื่นๆ ทำนอกเหนือจากการหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา เพื่อเป็นการทำ Digital Detox ไปในตัวด้วย.