ปะยาง
ทุกวันนี้เวลาอ่านเรื่องราวที่เกี่ยวกับรถยนต์ในโซเชียล มีเดีย ผมอดนึกไม่ได้ว่าแทบจะเป็นเรื่องย้อนยุคย้อนเวลา ไม่ต่างอะไรจากแฟชั่นของผู้คน
คือท้ายที่สุดก็กลับไปสู่ยุคที่เรียกกันว่า “เรโทร” เพราะปัญหาที่ผมเจอในอินเทอร์เน็ต กลายเป็นปัญหาที่เคยถามกันมาเมื่อยี่สิบสามสิบปีที่แล้ว เพียงแต่ความต่างอยู่ที่ว่า โลกยุคนี้มีคำตอบที่หลากหลายมากขึ้น หลากหลายจนไม่รู้ว่าจะเชื่อทางไหนดี
และที่แย่ไปกว่ายุคก่อนก็คือ คำตอบสมัยนี้จำนวนไม่น้อยไม่มีที่มาที่ไป กล่าวคือไม่มีคนตอบเป็นตัวเป็นตน ทำให้หาคนรับผิดชอบคำตอบนั้นๆ ไม่ได้ ต่างจากโลกยุคก่อนที่คำตอบจะอยู่ตามนิตยสารด้านรถยนต์ มีชื่อผู้ตอบหรือผู้เขียนคอลัมน์กำกับชัดเจน หรืออย่างน้อยก็มีบรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะหัวเรือใหญ่
ไม่ว่าโลกของรถยนต์จะพัฒนาก้าวหน้าไปขนาดไหน ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนไปใช้พลังงานอะไรมาขับเคลื่อน ไม่ว่าจะมีระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาควบคุมมากน้อยเพียงใด แต่สองสิ่งในรถยนต์ที่ยังเปลี่ยนแปลงไปไม่มาก หรือจะบอกว่ายังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็คงว่าได้
หนึ่ง คือ ระบบช่วงล่าง ที่ทุกยี่ห้อยังคงใช้รูปแบบดั้งเดิมเป็นหลัก และถัดมาคือเรื่องของยางติดล้อ ที่ทั้งลักษณะทางกายภาพ หรือรูปร่างของยางและโครงสร้างหลัก ยังมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
การเลือกซื้อยางมาใช้จึงยังคงสามารถใช้หลักการหรือวิธีการเลือกแบบเดิมๆ ได้ เช่นเดียวกับการใช้ยางอย่างถูกต้อง, การดูแลรักษายางให้มีอายุยืนยาว การบำรุงรักษาหรือการซ่อมยางหรือปะยาง ก็ยังคงไม่มีวิธีการใดเปลี่ยนแปลง และข้อโต้แย้งถกเถียงกันระหว่างผู้ใช้รถยนต์ ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
ประเด็นที่ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันมากที่สุดในเรื่องของยางก็คือ เมื่อไหร่ควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่ และควรปะยางด้วยวิธีการใด ซึ่งคำตอบก็แตกต่างกันออกไปไม่ต่างจากยุคก่อน
เพียงแต่คนยุคนี้มีข้อโต้แย้งกันที่รุนแรงกว่ายุคก่อน หลายครั้งถึงขั้นถกเถียงด่าทอกันด้วยซ้ำ เพราะโลกโซเชียลมีเดีย ทุกคนสามารถโต้ตอบกันได้อย่างไม่มีขีดจำกัด
ผมเริ่มขับรถในสมัยที่การปะยางยังไม่มีอะไรสลับซับซ้อน เพราะยางรถยนต์, ยางรถจักรยานยนต์ และยางรถจักรยาน ยังเป็นยางที่ต้องมียางใน โดยมียางนอกเป็นตัวคอยคุ้มครองให้ปลอดภัยจากการถูกของมีคมทิ่มตำในระดับหนึ่ง และทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะถนน โดยมีดอกยางทำหน้าที่หลัก
ในยุคนั้นเมื่อยางรั่วจึงหมายถึงยางในรั่ว ไม่สามารถกักเก็บลมเอาไว้ได้ การปะยางจึงต้องนำยางในออกมา แล้วปะด้วยแผ่นยางและกาว โดยมีวิธีการปะสองแบบด้วยกัน คือ สตีมเย็น และ สตีมร้อน ซึ่งการปะสตีมเย็นนั้นช่างหรือคนปะยาง จะทำความสะอาดรอบๆ แผลที่รั่ว ด้วยกระดาษทรายหรือตะไบ มาขัดทำความสะอาดจากนั้นจึงเอาแผ่นยางสำหรับปะ มาทำความสะอาดผิวยางด้วยวิธีการเดียวกัน
หรือหากเป็นแผ่นปะยางสำเร็จรูป ก็เอาออกมาเตรียมไว้ จากนั้นจึงเอากาวมาทาลงไปรอบบริเวณรูรั่ว และหากเป็นแผ่นปะยางทั่วไปไม่ใช่แผ่นปะยางสำเร็จ ก็ต้องเอากาวมาทาลงไปที่แผ่นยางสำหรับปะด้วย จากนั้นจึงเอาแผ่นปะยางแปะลงไปบนยางใน แล้วใช้เครื่องมืออัดให้ประกบกันจนแน่นสนิท เมื่อกาวแห้งแล้วจึงทำการสูบลมและนำไปใช้งานต่อไป
ส่วนการปะแบบสตีมร้อน ขั้นตอนจะคล้ายกับแบบสตีมเย็น เพียงแต่เมื่อนำแผ่นปะยางมาประกบกับยางที่รั่วแล้ว ก็นำเครื่องมือมาอัดให้ติดกันแน่น จากนั้นจึงเอาความร้อนมาทำให้เนื้อยางทั้งส่วนแผ่นปะยาง และตัวยางในที่รั่ว ประสานกันจนแน่นสนิท การปะยางแบบสตีมร้อน มักจะทำกับยางในที่ใช้ในรถยนต์ซึ่งต้องบรรทุกน้ำหนักมากๆ หรือรถยนต์ที่ต้องใช้ความเร็วสูงๆ ต่อเนื่อง จนทำให้ยางในเกิดความร้อนสูงกว่าปรกติ การปะแบบสตีมร้อนและสตีมเย็นดังกล่าว สามารถใช้กับยางแบบที่มียางใน และใช้ต่อมาจนถึงยางแบบที่ไม่มียางในจนทุกวันนี้
ต่อมาราวปี ๒๕๓๕ จึงมีการนำวิธีการแบบที่เรียกว่า “แทงไส้ไก่” เข้ามาใช้กันมากขึ้นในประเทศไทย โดยการปะยางด้วยวิธีที่ว่ามานี้ จะใช้กับยางแบบไม่มียางในเท่านั้น วิธีการปะก็ไม่ต้องถอดล้อและยาง ออกจากตัวรถเหมือนสองวิธีขั้นต้น เพราะเพียงแค่ยกล้อรถให้ลอยขึ้นจากพื้น จากนั้นหากมีของแหลมคมทิ่มแทงคาอยู่ ก็เอาออกให้หมด แล้วจึงทำความสะอาดรอบๆ แผลรั่วที่ถูกทิ่มตำ ด้วยการใช้ตะไบหางหนูแทงเข้าไปในรูรั่ว
แล้วก็เอายางที่ใช้ปะซึ่งมีลักษณะเป็นเส้น จึงเรียกกันว่า “ไส้ไก่” มาชุบน้ำยาแล้วดันสอดเข้าไปในรูรั่วที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว เพียงเท่านี้ก็ถือว่าได้ปะอุดรูรั่วสำเร็จแล้ว ช่างเพียงทำหน้าที่ตัดยางส่วนเกินที่ยื่นล้นออกมา ให้เสมอเรียบกับหน้ายางเท่านั้น จากนั้นจึงเติมลมแล้วก็นำรถไปใช้งานได้เลย การปะด้วยวิธีแบบที่เรียกว่าแทงไส้ไก่นี้ นิยมใช้กับรถยนต์เก๋งนั่งที่ไม่ได้ใช้ความเร็วสูงมาก แต่จะไม่ถูกนำไปใช้กับรถยนต์ที่ต้องรับน้ำหนักบรรทุกมากๆ
ในโลกอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ยังมีข้อถกเถียงที่ไม่ต่างจากวันก่อน คือ ควรปะยางแบบไหนจึงจะดีที่สุด คำตอบของผมก็คือ หากเป็นรถยนต์เก๋ง หรือรถปิกอัพที่ใช้งานส่วนบุคคลทั่วไป หรือแม้กระทั่งรถตู้ที่ใช้งานบรรทุกคน หากไม่ได้ใช้ความเร็วสูงเกินกฎหมายกำหนดอย่างต่อเนื่อง การปะยางแบบแทงไส้ไก่จะเหมาะสมที่สุด เพราะไม่ทำให้กะทะล้อและโครงสร้างยางช้ำ และไม่มีปัญหาเรื่องการถ่วงล้อที่ไม่ลงตัวตามมา
ส่วนการปะยางแบบสตีมร้อนนั้น เหมาะกับรถยนต์ที่ต้องบรรทุกน้ำหนักมากๆ เพราะปะแล้วสามารถอุดรูรั่วได้เต็มที่ มีโอกาสผิดพลาดที่จะทำให้เกิดการรั่วซ้ำน้อยมาก ข้อเสียก็คือทำให้โครงสร้างยางบริเวณใกล้แผลรั่วบอบช้ำจากความร้อน และต้องถอดและใส่ยางจากกะทะล้อ อาจจะทำให้กะทะล้อเป็นรอยได้ เมื่อปะแล้วยังต้องทำการถ่วงล้ออย่างละเอียด เพราะน้ำหนักของยางปะซึ่งมีขนาดใหญ่และหนา จึงทำให้การถ่วงล้อเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก การปะแบบนี้จึงเหมาะกับรถยนต์ที่ต้องบรรทุกน้ำหนักมากๆ
ในขณะที่การปะแบบสตีมเย็นนั้น แม้จะไม่ทำให้โครงสร้างของยางบอบช้ำจากความร้อน แต่น้ำหนักของแผ่นปะยางก็ทำให้ต้องถ่วงล้ออย่างละเอียด และต้องทำการถอดยางออกจากกะทะล้อ ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดจนทำให้กะทะล้อเสียหายหรือช้ำได้
แต่ไม่ว่าจะปะยางด้วยวิธีใดก็ตาม ข้อแนะนำก็คือควรเอายางเส้นที่ปะแล้ว ไปไว้ในตำแหน่งล้อหลังมากกว่าล้อหน้า และในยางเส้นใดก็ตามที่ทำการปะไปมากกว่าสามครั้ง ก็ไม่ควรนำมาใช้งานต่อไป ไม่ว่าจะเป็นยางที่มีอายุน้อย หรือสภาพดอกยางยังดีมากเพียงใดก็ตาม
ส่วนยางที่แก้มยางมีความบอบช้ำมาก เช่น ครูดกับขอบทางเท้าจนตัวหนังสือเลือนหายไป หรือมีรอยฉีกที่แก้มยาง หรือโดนของแหลมคมทิ่มตำที่แก้มยาง หรือแม้แต่ที่บริเวณไหล่ยางต่อกับแก้มยาง ยางเส้นนั้นแม้ว่าจะปะมาแล้วก็ไม่ควรนำมาใช้งานอีกต่อไป หรือควรนำไปใช้เป็นยางอะไหล่สำรองเพื่อใช้แก้ขัดเท่านั้นครับ