ทางออกฉุกเฉิน

สัปดาห์ก่อนมีข่าวใหญ่ระดับโลกเกิดขึ้นในประเทศไทย นั่นคือความเสียหายของอาคารบ้านเรือนอันเนื่องมาจากแผ่นดินไหว และทั้งที่ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในประเทศเมียนมาร์ แต่สำนักข่าวทั้งโลกต่างพากันลงข่าวความเสียหายในไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เป็นหลัก
ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากประเทศเมียนมาร์ เป็นแผ่นดินปิดสำหรับนักข่าวชาติตะวันตก นักข่าวฝรั่งทั้งหลายจึงจำเป็นต้องรายงานจากสิ่งที่ตนเองพบเห็นด้วยตนเอง นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เพราะเป็นจุดรวมหรือเป็นแหล่งที่อยู่ของนักข่าวตะวันตกทั้งหลาย ทำให้คนจำนวนมากในโลกนี้เกิดความสับสนว่า ศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้คือกรุงเทพฯ ถึงขนาดที่เพื่อนชาวต่างชาติของผมส่งความห่วงใยข้ามโลกมา พร้อมกับถามไถ่ถึงความเสียหายที่ผมอาจจะได้รับ
ความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่กรุงเทพฯ หรือประเทศไทยได้รับในครั้งนี้ ถือว่ามีความรุนแรงมากที่สุดในช่วงอายุกว่า ๗๐ ปีของผม เพราะฉะนั้นเรื่องของการรับมือหรือการเอาตัวรอดในภาวะวิกฤติ จึงทำกันไปตามสัญชาตญาณเป็นส่วนใหญ่ ต่างจากชาวต่างชาติที่บ้านเกิดของเขา อาจจะเจอกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวบ่อย ๆ เช่น ชาวญี่ปุ่นที่ทำงานและอาศัยในกรุงเทพฯ จำนวนมาก พอรู้ว่าเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา ส่วนใหญ่ก็จะมุดตัวเข้าไปซุกอยู่ใต้โต๊ะที่มั่นคง และเมื่อมีจังหวะก็จะหนีออกจากตัวอาคารมาอยู่ยังพื้นที่โล่ง ตามที่เคยได้รับการสั่งสอนและฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก เมื่อครั้งที่ยังอยู่ในบ้านเกิดคือประเทศญี่ปุ่น
สำหรับคนไทยเราเองส่วนใหญ่ก็ยังถือว่าโชคดี ที่รอดจากการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในครั้งนี้ได้ ยกเว้นแต่ผู้ที่เสียชีวิตจากการถล่มของอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพียงอาคารเดียวเท่านั้น ส่วนผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่บนตึกสูงทั้งหลาย ก็ยังพอมีสติหรือยังพอมีเจ้าหน้าที่ประจำตึก ที่นำพาออกจากตึกด้วยทางหนีไฟหรือทางออกฉุกเฉินกันมาได้ แม้ว่าหลายคนจะมุ่งหน้าไปสู่ลิฟต์ด้วยความเคยชิน แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีข่าวว่ามีคนติดค้างอยู่ในลิฟต์เกิดขึ้น จึงคาดเดาว่าน่าจะเกิดจากการที่มีการบอกต่อ ๆ กันระหว่างหาทางหนีออกมาว่า อย่าใช้ลิฟต์แต่ให้ใช้บันไดลงจะปลอดภัยกว่า
เมื่อพูดถึงบันไดหนีไฟและทางออกฉุกเฉิน ผมเชื่อว่าคนไทยทั่วไปให้ความสนใจเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย ตัวอย่างเช่นเรื่องของทางหนีไฟตามโรงแรมต่าง ๆ เวลาที่เข้าพักในโรงแรมเกือบทุกแห่ง ผมจะดูผังทางเดินและทางหนีไฟ ที่มักจะมีการแปะติดเอาไว้ที่ประตูห้องพัก และหากเป็นไปได้ผมก็จะเดินไปดูตรงที่เป็นทางออกฉุกเฉิน หรือทางออกไปสู่บันไดหนีไฟเอาไว้เสมอ บางครั้งคนที่ไปร่วมคณะกับผมก็จะถามว่า “ทำไปทำไม?”
ในส่วนของรถยนต์ก็เช่นกันที่ผมมักจะแนะนำคนใกล้ตัวเสมอว่า เมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นให้หาทางหนีออกจากตัวรถอย่างไร และก็เคยนำมาเผยแพร่ทั้งทางบทความในสื่อสิ่งพิมพ์ และทางรายการโทรทัศน์อยู่บ่อย ๆ แต่ก็ไม่ค่อยจะได้รับความสนใจจากผู้คนมากนัก แถมบางครั้งยังโดนแย้งกลับมา และบางครั้งโดนด่าเสีย ๆ หาย ๆ ด้วยซ้ำไป
ตัวอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะนำมาบอกเล่าเอาไว้ก็คือ เรื่องของสลักป้องกันการเปิดล็อกประตูจากภายในตัวรถ หรือที่เรียกทับศัพท์กันว่า “ชายล์ดล็อก” ซึ่งมักจะทำกระเดื่องซ่อนเอาไว้บริเวณขอบประตูรถทั่วไป เจตนาของผู้ผลิตคือ ป้องกันไม่ให้เด็กเปิดประตูรถออกมาขณะที่รถแล่นอยู่ แต่ในความเห็นของผมเองนั้น ผมบอกเสมอว่าถ้าเราสอนเด็กที่นั่งในรถให้รู้ว่า “ควรทำ และ ไม่ควรทำ” อะไรบ้าง จะดีกว่าไปผลักกระเดื่องล็อกตัวนี้ เพาะหากเป็นกรณีที่รถยนต์ตกลงไปในน้ำหรือตกลงไปข้างทางก็ตาม คนที่นั่งอยู่ภายในรถและตรงกับประตูที่มีการกดกระเดื่องป้องกันการเปิดจากภายในเอาไว้ จะไม่สามารถเปิดประตูหนีออกมาจากตัวรถได้เลย อาจจะทำให้จมน้ำตายคารถ หรือหากรถเกิดไฟไหม้ก็จะทำให้ถูกไฟคลอกตายอยู่ในรถนั่นเอง
ผมจึงบอกกับทุกคนว่าอย่าใช้กระเดื่องล็อกตัวนี้เป็นอันขาด แม้รถที่ผมขับพาหลาน ๆ ตัวเล็ก ๆ ไปด้วยเป็นประจำ ผมก็จะไม่บังคับให้กลไกตัวนี้ทำงาน ซึ่งทุกครั้งที่ผมเผยแพร่ความคิดนี้ออกไป ก็จะมีคนไม่เห็นด้วยกับความเห็นของผม บ้างก็แย้งว่าถ้ามันไม่มีประโยชน์ตามที่ผมว่า แล้วผู้ผลิตรถยนต์เขาจะติดตั้งมาทำไม บ้างก็หาว่าผมอวดเก่งกว่าวิศวกรของผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งผมก็ไม่เคยไปโต้ตอบกับใครแต่อย่างใด แต่ที่ผมแสดงความเห็นของผมไปอย่างนั้น ผมไม่ได้บอกว่ากลไกดังกล่าวไม่ดีหรือมีแต่โทษ
เพียงแต่ในมุมมองของผมนั้น การที่จะให้ใครสักคนหนึ่งที่ไม่สามารถรับรู้ผิดถูกได้ ต้องนั่งไปในรถตามลำพังนั้นเป็นเรื่องไม่ควร เพราะต่อให้เขาไม่เปิดประตูรถขณะรถแล่นอยู่ เขาก็อาจจะคว้าโน่นฉวยนี่ เช่น เอามือไปผลักคันเกียร์ หรือหากนั่งเบาะหลังก็อาจจะเอื้อมมือมาปิดตาคนขับรถ เพราะเขาคิดว่าสามารถเล่นกันได้ตามปรกติก็เป็นได้ ดังนั้นการสอนให้ความรู้ที่ถูกต้องจึงเหมาะสมกว่า เช่นกันกับทางหนีไฟตามอาคารหลายแห่ง ที่เราพบว่ามีการเอาประตูเหล็กมากั้น แถมมีการล็อกกุญแจเอาไว้ เพราะความคิดที่ว่าเพื่อป้องกันโจรผู้ร้ายเข้ามาในตัวอาคาร ทำให้เวลาที่เกิดเหตุจริงจึงกลายเป็นกั้นคนในอาคาร ให้ติดอยู่จนมีอันตรายถึงแก่ชีวิตขึ้นมาได้
ทางหนีภัยฉุกเฉินในรถยนต์อีกช่องทางหนึ่ง ที่ผมแนะนำมาอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลากว่า ๓๐ ปีก็คือ ทางกระจกของรถยนต์ทั้งกระจกหน้าต่างกระจกบังลมหน้าและหลัง ซึ่งคนที่ทำหน้าที่ขับรถยนต์ควรรู้วิธีการทุบกระจกแต่ละบาน เพื่อเอาตัวเองและผู้อื่นให้หนีรอดออกมาได้ง่ายๆ และอีกช่องทางหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นทางหนีภัยฉุกเฉินที่คนมักจะคิดกันไม่ถึงก็คือ ทางฝากระโปรงท้ายรถนั่นเอง
รถยนต์ส่วนมากในโลกนี้จะมีน้ำหนักด้านหน้ามากกว่าด้านท้าย เมื่อรถตกลงไปในน้ำหน้ารถจึงจมน้ำก่อนท้ายรถ และรถเก๋งสมัยนี้จะสามารถเปิดพนักพิงของเบาะหลังลงมา เพื่อเป็นช่องที่ทะลุไปถึงห้องเก็บของใต้ฝากระโปรงท้ายได้ หรือหากเป็นรถประเภทแฮทช์แบคท้ายตัด ก็ไปถึงฝากระโปรงท้ายได้สะดวกมากขึ้น ดังนั้นเมื่อมีภัยเกิดขึ้นเช่นรถจมน้ำ สามารถหนีไปที่ส่วนท้ายหรือห้องเก็บของใต้ฝากระโปรงท้าย แล้วดึงสลักหรือสายสลิงหรืองัดเอาสลักที่ล็อกฝากระโปรงท้ายออกได้ง่ายกว่าการทุบกระจก ทำให้สามารถหนีภัยออกจากตัวรถได้อย่างรวดเร็วขึ้น
แต่ทั้งนี้เหนือสิ่งอื่นใดก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือสติของคนที่กำลังประสบภัย ต้องไม่ตื่นตูมจนเกินไปครับ