แม่..กุญแจยกระดับฐานะครอบครัว
วันแม่เพิ่งผ่านไปไม่กี่วัน ดิฉันจึงจะขอเขียนถึงความสำคัญของแม่ในการยกระดับฐานะในครอบครัวค่ะ จากสถานการณ์ปัจจุบัน เราพอจะมองเห็นว่าแทบจะไม่มีโอกาสเลยที่ครอบครัวทั่วไปจะยกระดับฐานะในหนึ่งรุ่นเหมือนที่รุ่นเบบี้บูมเมอร์ (รุ่นเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงปี ค.ศ. 1946-1964 หรือ พ.ศ. 2489-2507) และรุ่นเจนเนอเรชั่นเอ๊กซ์ (เกิดในช่วง 1965-1979 หรือ พ.ศ. 2508-2522) เคยทำได้ใน 50 ปีที่ผ่านมา
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก และประเทศที่มีปัญหาหนักที่สุดในตอนนี้คือ สหรัฐอเมริกา
แต่พักเรื่องของคนอื่นเอาไว้ก่อน เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าประเทศไทยจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้สถานการณ์นี้ดีขึ้น
ปกติคนเราจะมีรายได้หลักๆอยู่สองทาง คือ รายได้จากการทำงาน และรายได้จากการลงทุน (และสำหรับผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้น้อยอาจจะมีรายได้จากการช่วยเหลือแทนรายได้จากการทำงาน)
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2564 บ่งชี้ว่า ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 27,352 บาท โดยรายได้เป็นรายได้จากทรัพย์สิน (ดิฉันอนุมานว่าเป็นการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ได้จากอสังหาริมทรัพย์ที่ให้เช่า หรือรับดอกเบี้ย เงินปันผล หรือกำไรจากการลงทุน) เพียงเดือนละ 240 บาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.32% ของรายได้เท่านั้น
ท่านที่คุ้นเคยกับการลงทุน หรือแฟนประจำคอลัมน์นี้ คงเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่า อิสรภาพทางการเงินจะเกิดขึ้นเมื่อรายได้ส่วนที่สอง คือรายได้จากการลงทุน สามารถเลี้ยงตัวเราได้ 100% โดยเราไม่ต้องทำงานหารายได้ส่วนแรกคือรายได้จากการทำงาน
แต่ตอนนี้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยของไทยมีรายได้จากทรัพย์สินเพียง 0.32% อีกนานเพียงใด รายได้นี้จึงจะเพิ่มเป็นอย่างน้อย 30% ของรายได้รวม เพราะในสังคมสูงวัย หากมีสัดส่วนครัวเรือนผู้สูงวัย 20% ของครัวเรือน พึ่งรายได้จากทรัพย์สินทั้งหมด100% คนที่เหลือ (ไม่นับเด็กและเยาวชน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 20% ของประชากร) ครัวเรือนที่ยังทำงานควรจะมีรายได้จากทรัพย์สินสัก 20-30% ของรายได้รวม
ตอบได้ว่า เป็นไปไม่ได้เลยค่ะ หากเราไม่เปลี่ยนแปลงอะไรในตอนนี้
ที่น่าตกใจคือ รายได้ที่ได้รับการช่วยเหลือ (เข้าใจว่าจากรัฐ จากสวัสดิการ ได้จากลูกหลานหรือญาติ หรือผู้อุปถัมภ์ ฯลฯ) มีสัดส่วนสูงกว่ารายได้จากทรัพย์สินถึง 16 เท่าเศษ โดยรายได้ที่ได้รับการช่วยเหลือเฉลี่ยต่อครัวเรือนไทยเท่ากับ 3,870 บาท หรือคิดเป็น 5.04% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเฉลี่ย ต้องยอมรับว่าสำหรับบางครอบครัว รายได้ที่ได้รับการช่วยเหลือ กลายเป็นรายได้หลักไปเสียด้วยซ้ำ
เอาละค่ะ เรามาเริ่มตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้จากทรัพย์สินให้เป็นรูปธรรมกันดีกว่า
รายได้จากทรัพย์สินจะเกิดขึ้นได้ต้องมีทรัพย์สินก่อน ดังนั้นจึงต้องเริ่มที่การออม ยังโชคดีที่ครัวเรือนไทยมีรายได้โดยเฉลี่ยสูงกว่ารายจ่าย โดยรายจ่ายต่อครัวเรือนอยู่ที่ 21,616 บาท หากตั้งสมมุติฐานว่าครัวเรือนนำส่วนต่างทั้งหมดไปออม ดังนั้น จึงคาดว่าจะมีเงินออมเฉลี่ย 5,736 บาท ต่อเดือน หรือคิดเป็น 20% ของรายได้เฉลี่ยที่ 27,352 บาท
หากครัวเรือนออมเงินและนำเงินจำนวน 5,736 บาทนี้ไปลงทุนทุกเดือน เป็นเวลา 30 ปี ถ้าได้อัตราผลตอบแทนปีละ 3% ณ สิ้นปีที่ 30 ครัวเรือนจะมีทรัพย์สิน 3.34 ล้านบาท หากได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี ทรัพย์สินที่จะนำไปหารายได้ในอนาคตจะเพิ่มเป็น 4.77 ล้านบาท และหากได้รับผลตอบแทน 8% ต่อปี ความมั่งคั่งของครัวเรือนก็จะเพิ่มเป็น 8.55 ล้านบาท ในความเป็นจริงแล้ว หากมีรายได้เพิ่ม ครัวเรือนสามารถออมเพิ่มได้ และความมั่งคั่งก็จะสูงกว่านี้ค่ะ
แต่ เมื่อหันมามองสภาพในปัจจุบันที่ทุกครัวเรือนต่างชื่นชมต่อวัตถุ อยากได้โน่น อยากมีนี่ ถึงกับต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อมีข้าวของหรูๆแพงๆ แล้วก็เห็นอนาคตชัดเจนว่า คนไทยในอนาคต จะไม่มีเงินออม ไม่มีทรัพย์สิน เพียงภาระหนี้สินที่มีและหนี้ที่จะก่อขึ้นอีกในอนาคต ก็มองไม่เห็นทางที่จะออมเงินเพื่อความมั่นคงของชีวิตเลย
จึงต้องฝากความหวังไว้ที่ “แม่” ของแต่ละครอบครัว ที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในการหาเงินอย่างสุจริต ที่จะเก็บออมเพื่อให้มีเงินลงทุน และทำอย่างมีวินัย ตลอดชีวิตการทำงาน เพื่อให้ทรัพย์สินต่างๆเหล่านั้น กลายเป็นแหล่งรายได้เลี้ยงตัว ในยามที่ร่างกายของเราไม่สามารถทำงานได้ เมื่อนั้น ครอบครัวก็จะมีความสุข สังคมจะดี น่าอยู่
พรรคการเมืองที่หาเสียงจะแจกเงิน ขอเปลี่ยนเป็นหาทางเพิ่มรายได้ให้กับประชากร ส่งเสริมการออมและการลงทุนเพื่อความมั่นคงในชีวิต ผ่านการอบรมและปฏิบัติการติดตามดูแล “แม่” เพื่อให้แม่ถ่ายทอดให้กับคนในครอบครัว ให้แม่เป็นผู้ผลักดัน กำกับดูแลให้มีวินัยในการใช้เงิน ออมเงิน และลงทุน ได้ไหมคะ
_________________________
สถิติน่าสนใจ : ประชากรที่มีรายได้ต่ำสุด 50% ล่างของประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสัดส่วนรายได้รวมกัน 12% ของรายได้รวม ในขณะที่ ประชากรที่มีรายได้ต่ำสุด 50% ล่างของสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนรายได้รวมกัน 2% ของรายได้รวม (ข้อมูลจาก World Inequality Report 2022)