ก.ล.ต. เปิดผลสำรวจประชากรไทยมีทักษะ ด้านการเงิน และการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดี

ก.ล.ต. เปิดผลสำรวจประชากรไทยมีทักษะ ด้านการเงิน และการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดี

ความรู้ด้านการลงทุนเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขยายฐานผู้ลงทุน ฝ่ายวิจัย สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ทำการสำรวจเพื่อประเมินถึงระดับความรู้ความเข้าใจทางการเงิน การลงทุนขั้นพื้นฐาน ในกลุ่มประชากรที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการขยายฐานผู้ลงทุน

โดยเจาะจงไปยังกลุ่มที่มีศักยภาพในการลงทุนคือ ประชากรที่อายุ 25-40 ปี ที่มีรายได้ครัวเรือนเดือนละ 3 หมื่นบาทขึ้นไป และไม่มีการลงทุนในกองทุนรวม โดยกระจายสัดส่วนเท่ากันในทุกภูมิภาคของประเทศไทย[*] รวมทั้งสิ้น 2,500 ตัวอย่าง ซึ่งได้ทำการสำรวจในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564

     

แบบสำรวจเป็นการถามเกี่ยวกับความรู้ทางการเงินและการลงทุนขั้นพื้นฐาน เพื่อวัดระดับความรู้ ของผู้ตอบแบบสำรวจ มีทั้งหมด 8 หัวข้อ ได้แก่ 1.ความสามารถในการรับความเสี่ยง 2.รู้จักการลงทุนใดบ้าง 3.การคิดอัตราดอกเบี้ย 4.การคิดอัตราดอกเบี้ยทบต้น 5.ความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงกับผลตอบแทน

6.การกระจายความเสี่ยง 7.รู้จักกองทุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือไม่ และ 8.กลโกงทางการลงทุน โดยหัวข้อที่จะนำมาวัดคะแนน คือหัวข้อ 3-8 โดยมีคะแนนเต็มทั้งสิ้น 6 คะแนน สำนักงาน ก.ล.ต.จึงขอนำผลการสำรวจนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ

ผลการสำรวจพบว่าประชากรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่รู้จักทองคำ ส่วนน้อยรู้จักตราสารหนี้ และมีทัศนคติรับความเสี่ยงในระดับที่สามารถรับผลขาดทุนได้ 5% ของเงินลงทุน เพื่อให้มีโอกาสรับผลตอบแทนได้สูงสุด 15% ของเงินลงทุน มีความรู้ทางการเงินและการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดีโดยได้คะแนนเฉลี่ย 4.87 คะแนน จากคะแนนเต็ม 6 คะแนน

 แต่ยังมีบางหัวข้อที่สามารถพัฒนาความรู้ได้อีก เช่น ความรู้เรื่องการ กระจายความเสี่ยง การคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น และการรู้เท่าทันกลโกงการลงทุน โดยเฉพาะหัวข้อกลโกงการลงทุนพบว่า 87% ที่ตอบหลงเชื่อกลทางการลงทุนส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 25-30 ปี ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ พบว่าส่วนมากมักประเมินตนเองมีความเข้าใจทางการเงินการลงทุนสูง จึงอาจแสดงถึงความมั่นใจมากเกินไปและก่อให้เกิดความประมาท จึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการเร่งส่งเสริมให้ประชากรไทยรู้เท่าทันกลโกงในการลงทุน และไม่ตกเป็นเหยื่อของการลงทุนที่ไม่น่าไว้ใจ (รูปที่ 1)

ก.ล.ต. เปิดผลสำรวจประชากรไทยมีทักษะ ด้านการเงิน และการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับหัวข้อความรู้เรื่องการกระจายความเสี่ยงมีความสอดคล้องกับงานศึกษา Big data ผู้ถือหน่วยกองทุนรวม ณ สิ้นปี 2563 ที่พบว่า ผู้ลงทุนเกินกว่าครึ่งลงทุนในนโยบายการลงทุนประเภทเดียว ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่าผู้ลงทุนมีการจัดพอร์ตลงทุนที่ยังน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Gen Z และ Gen Y และยังสอดคล้องกับผลสำรวจก่อนหน้าที่ผู้ลงทุนส่วนมากมีความต้องการบริการจัดพอร์ตการลงทุน

จากผลสำรวจโดยรวมแสดงให้เห็นว่า ประชากรกลุ่มนี้มีศักยภาพทางการลงทุนที่ดี อีกทั้งยังมีความสามารถและทัศนคติที่พร้อมรับความเสี่ยงได้ มีแนวโน้มพร้อมที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม 

    ดังนั้น จึงควรได้รับการส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการจัดพอร์ตลงทุน หรือมีผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยในการกระจายจัดพอร์ตลงทุน เช่น กองทุนรวมผสม กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบสมดุลตามอายุ รวมทั้งเน้นส่งเสริมให้ความรู้ให้เท่าทันกลโกงทางการลงทุน โดยอธิบายถึงรูปแบบกลโกงการลงทุน รูปแบบการชักชวนลงทุนที่ต้องระวัง เช่น การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้นๆ และยังการันตีผลตอบแทน

การได้รับผลตอบแทนเพิ่มจากการชักชวนผู้อื่นให้มาร่วมลงทุน เป็นต้น นอกจากนี้ ผลสำรวจยังทำให้ทราบถึงลักษณะของกลุ่มที่ตอบคำถามผิดซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับออกแบบการให้ความรู้ความเข้าใจทางการลงทุนได้ตรงจุดต่อไป เมื่อประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจด้านการลงทุนมากขึ้น ก็จะเป็นแรงจูงใจในการรับบริการต่าง ๆ ในภาคตลาดทุนมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ตอบโจทย์ตลาดทุนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ (capital market for all)

 ผลการสำรวจความรู้ทางการเงินและการลงทุนขั้นพื้นฐาน

 

ที่มา : ฝ่ายวิจัย สำนักงาน ก.ล.ต.

 

หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) “ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ”

 

 

[*] แบ่งเป็น 6 ภูมิภาค คือ 1.กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 2.ภาคกลาง 3.ภาคเหนือ 4.ภาคใต้ 5.ภาคตะวันออก 6.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์