ครึ่งทาง SDG : โลกทำได้ตามเป้า 12%
การตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของกิจการไทยที่ทำการสำรวจ 854 ราย พบว่า มีความคืบหน้าในการดำเนินงานอยู่ที่ 28.2% อ้างอิงจากการเปิดเผยข้อมูลตามรายการและตัวชี้วัดหลัก GCI
องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) เมื่อปี ค.ศ.2015 อันประกอบด้วย 17 เป้าประสงค์ (Goals) 169 เป้าหมาย (Targets) และ 231 ตัวชี้วัด (Indicators) โดยมีอายุการใช้งาน 15 ปี จวบจนถึงปี ค.ศ.2030
ในเอกสาร Sustainable Development Report 20233 ฉบับพิเศษ ได้เปิดเผยตัวเลขความคืบหน้าครึ่งทางการใช้ SDG จากการประมวลข้อมูลราว 140 เป้าหมาย พบว่า สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายเพียง 12% โดยเป้าหมายกว่าครึ่งมีความคืบหน้าเล็กน้อยหรือหลุดเป้า ขณะที่เป้าหมายอีกเกือบหนึ่งในสาม ไม่มีความเคลื่อนไหวหรือถดถอยลงต่ำกว่าเส้นฐานในปี ค.ศ.2015
สาเหตุมาจากผลพวงของความไม่ยุติธรรมในระดับโลกที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ประกอบกับผลกระทบจากสภาพภูมิกาศ โรคโควิด-19 และความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจที่ไปจำกัดประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกให้เหลือทางเลือกน้อยลง หรือทำให้ไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการทำให้เป้าหมายเป็นจริงขึ้นได้
ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้มีการคำนวณต้นทุนที่จะต้องใส่เพิ่มเพื่อเร่งการบรรลุเป้าหมาย SDG สำหรับเป็นแนวทางการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลในแต่ละประเทศทั่วโลก ไว้ที่จำนวน 2.35 ล้านล้านเหรียญ ใน 7 วิถี (Pathway) ได้แก่ การแปลงเป็นดิจิทัล ความเสมอภาคทางเพศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบบอาหาร การคุ้มครองทางสังคม การเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการปฏิรูปการศึกษา ตามลำดับ
สำหรับความคืบหน้าการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของกิจการในประเทศไทย สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการสำรวจข้อมูลสถานภาพความยั่งยืนของกิจการทุกปี โดยเริ่มดำเนินการในปี ค.ศ.2018 เป็นปีแรก และเผยแพร่เป็นเอกสารรายงานสถานภาพความยั่งยืนของกิจการเป็นประจำทุก ๆ 2 ปี
การสำรวจข้อมูลในปี ค.ศ.2022 ครอบคลุมทุกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และกิจการที่อยู่นอกตลาดฯ รวมทั้งสิ้น 854 กิจการ โดยทำการประมวลข้อมูลการดำเนินงานของกิจการที่มีการตอบสนองต่อ SDG ตามแนวทาง GCI (Guidance on Core Indicators) ที่จัดทำโดยคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิระหว่างรัฐบาลด้านมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการบัญชีและการรายงาน (ISAR) พบว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กิจการมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานสูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่ 8 เศรษฐกิจและการจ้างงาน และเป้าหมายที่ 16 สังคมและความยุติธรรม ตามลำดับ
โดย 10 ตัวชี้วัดหลัก GCI ซึ่งใช้ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีการเปิดเผยสูงสุด ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ยอดรายได้ และภาษีและเงินอื่นที่จ่ายแก่รัฐ ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ประสิทธิภาพการใช้น้ำ ด้านสังคม ได้แก่ ชั่วโมงเฉลี่ยการฝึกอบรมต่อปีต่อคน และสัดส่วนค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานต่อรายได้จำแนกตามชนิดการจ้างและมิติหญิงชาย และด้านสถาบัน ได้แก่ จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการและอัตราการเข้าร่วมประชุม จำนวนและร้อยละของกรรมการหญิง ช่วงอายุของกรรมการ จำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบและอัตราการเข้าร่วมประชุม และค่าตอบแทนรวมต่อกรรมการ
ภาพรวมการตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของกิจการไทยที่ทำการสำรวจ 854 ราย พบว่า มีความคืบหน้าในการดำเนินงานอยู่ที่ 28.2% อ้างอิงจากการเปิดเผยข้อมูลตามรายการและตัวชี้วัดหลัก GCI โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดำเนินการได้สูงสุดในสามอันดับแรก ได้แก่ กลุ่มทรัพยากร (33.7%) กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (33%) และกลุ่มธุรกิจการเงิน (30%) ตามลำดับ
ทั้งนี้ ชุดตัวชี้วัดหลัก GCI ที่ ISAR จัดทำขึ้นภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ซึ่งมีอังค์ถัดทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นจุดตั้งต้นหรือจุดนำเข้าในการรายงานผลการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อ SDG และถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลขั้นต่ำ (Minimum Disclosures) ของกิจการ ที่แสดงถึงการมีส่วนในการตอบสนองต่อ SDG และเป็นตัวชี้วัดที่กิจการจำเป็นต้องใช้ในการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ซึ่งหาพบได้ในรายงานของกิจการ และในกรอบการรายงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
การอ้างอิงชุดตัวชี้วัด GCI จะช่วยให้ภาคธุรกิจแสดงความเชื่อมโยงของการดำเนินงานในการตอบสนองต่อ SDG ในระดับตัวชี้วัด (Indicator-level) ตามแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา และสามารถใช้เป็นข้อมูลแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามตัวชี้วัด SDG ที่ 12.6.1 ในส่วนของกิจการได้อีกด้วย
องค์กรธุรกิจที่สนใจเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่มีการตอบสนองต่อ SDG ตามแนวทาง GCI สามารถศึกษารายละเอียดได้จากเอกสาร Guidance on Core Indicators for Sustainability and SDG Impact Reporting ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี ค.ศ.2022 โดยดาวน์โหลดได้ที่ https://unctad.org/isar