ตัวชี้วัด ESG สำหรับธุรกิจครอบครัว
ตัวชี้วัด ESG สำหรับธุรกิจครอบครัว และคำถามที่ใช้วัดผลการดำเนินงาน จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย
ในบรรดากิจการที่มีอยู่ทั่วโลก ธุรกิจครอบครัวมีสัดส่วนอยู่ถึงสองในสาม โดยมีมูลค่ามากกว่า 70% ของจีดีพีโลก และครองสัดส่วนการจ้างงานอยู่ราว 60% นอกจากนี้ 85% ของธุรกิจสตาร์ตอัปทั่วโลก ถูกก่อตั้งขึ้นด้วยเงินจากครอบครัว (ที่มา: FFI Global Data Points)
จากข้อมูลการสำรวจของ Family Business Network องค์กรเครือข่ายธุรกิจครอบครัวที่ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1989 มีสมาชิกรวมกันกว่า 4,500 ครอบครัวธุรกิจ ใน 65 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า แม้กิจการครอบครัวจะให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) แต่เกือบ 60% ของ 191 กิจการครอบครัวที่ทำการสำรวจ ยังมิได้มีการจัดทำรายงานประจำปี โดย 16% ของกิจการที่ถูกสำรวจ มีการเปิดเผยตัวเลขการดำเนินงานตามตัวชี้วัดทางสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อสาธารณะ และมีเพียง 5% ที่มีการรับฟังกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อใช้กำหนดเนื้อหาในรายงาน
เครือข่ายธุรกิจครอบครัว (FBN) ได้ร่วมกับองค์การภายใต้สหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ทำความริเริ่มว่าด้วยธุรกิจครอบครัวเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อปี ค.ศ. 2019 และได้มีการจัดทำชุดตัวชี้วัดความยั่งยืนสำหรับธุรกิจครอบครัว หรือ Sustainability Indicators for Family Businesses (SIFB) ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานในประเด็นด้าน ESG ในหมู่กิจการครอบครัวทั่วโลก
ด้วยความเข้าใจในบริบทของธุรกิจครอบครัว ซึ่งมีโครงสร้างการกำกับดูแลที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีบรรทัดฐานแห่งความเป็นเจ้าของที่เด่นชัด และมีพลวัตสูง ทำให้ชุดตัวชี้วัดความยั่งยืนที่จัดทำขึ้น จำเป็นต้องตอบสนองต่อคุณลักษณะเฉพาะของตัวแบบธุรกิจครอบครัว และคำนึงถึงการวัดผลที่สามารถชี้แนวทางการดำเนินงาน การยกระดับการปฏิบัติด้านความยั่งยืน และการมีส่วนสนับสนุนต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ชุดตัวชี้วัดความยั่งยืนสำหรับธุรกิจครอบครัว แบ่งออกเป็น 4 หมวด ประกอบด้วย 9 ตัวชี้วัดหลัก และ 2 ตัวชี้วัดเผื่อเลือก โดยตัวชี้วัดหมวดธรรมาภิบาล ได้แก่ การสนับสนุนมาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม การทบทวนการปฏิบัติงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ความโปร่งใสในการปฏิบัติงานด้านความยั่งยืน กรรมการอิสระ การกำกับดูแลครอบครัว และความเป็นเจ้าของอย่างรับผิดชอบ
ตัวชี้วัดหมวดสายอุปทาน ได้แก่ นโยบายด้านจริยธรรมในสายอุปทาน และการปฏิบัติด้านจริยธรรมในสายอุปทาน ตัวชี้วัดหมวดผลกระทบชุมชน ได้แก่ การบริจาคเพื่อการกุศล และตัวชี้วัดหมวดผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืน (เผื่อเลือก) ได้แก่ การสร้างผลได้ทางสังคม และการปรับพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของลูกค้า
ในหมวดธรรมาภิบาล คำถามที่ใช้วัดผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย
- บริษัทมีการทำงานกับผู้ออกนโยบาย และ/หรือผู้มีส่วนได้เสียในการพัฒนาหรือสนับสนุนการนำมาตรฐาน ESG มาดำเนินการเพิ่มขึ้นหรือไม่
- คณะกรรมการมีการทบทวนการปฏิบัติงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัท เป็นประจำทุกปีเป็นอย่างน้อย เพื่อกำหนดว่าบริษัทได้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือไม่
- บริษัทมีการเปิดเผยผลการทบทวนไว้ในรายงานสำหรับเผยแพร่ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง อาทิ พนักงาน ผู้ส่งมอบ ลูกค้า และเจ้าของกิจการ หรือไม่
- จำนวนและสัดส่วนของกรรมการอิสระในคณะกรรมการบริษัท
- บริษัทมีธรรมนูญครอบครัว (ข้อควรและข้อห้ามในการปฏิบัติ) เพื่อให้แน่ใจว่าได้ใช้เป็นหลักการกำกับดูแลที่ดีของธุรกิจและครอบครัวในระยะยาวหรือไม่
- ในฐานะที่เป็นธุรกิจครอบครัว ท่านได้มีการใช้ทรัพยากรและจัดเตรียมแนวทางในการส่งเสริมนโยบายที่เน้นการพัฒนา และเตรียมตัวให้แก่ทายาทรุ่นต่อไปเพื่อการเป็นเจ้าของอย่างรับผิดชอบหรือไม่
- ในหมวดสายอุปทาน คำถามที่ใช้วัดผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย
- บริษัทมีการจัดทำจรรยาบรรณผู้ส่งมอบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยใช้เป็นข้อปฏิบัติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสำหรับให้ผู้ส่งมอบดำเนินการ ซึ่งรวมถึงนโยบายการค้าที่เป็นธรรม การต่อต้านการใช้แรงงานทาส แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก ฯลฯ หรือไม่
- ประมาณการร้อยละของวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่จัดซื้อโดยบริษัท หรือมาจากแหล่งที่ยั่งยืน ตามนโยบายด้านจริยธรรมในสายอุปทาน
- ในหมวดผลกระทบชุมชน คำถามที่ใช้วัดผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย
- ท่านได้ใช้กองทุนครอบครัว (อาทิ ผ่านทางมูลนิธิในสังกัด) เพื่อให้การสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนซึ่งเป็นถิ่นที่ตั้งของสถานประกอบการหรือไม่ (ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ความเป็นอยู่ที่ดี งานที่มีคุณค่า ความมั่นคงทางทรัพยากร ระบบนิเวศทางสุขภาพ เสถียรภาพทางภูมิอากาศ ฯลฯ)
ในหมวดผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืน (เผื่อเลือก) คำถามที่ใช้วัดผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย
ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในด้านใด (บริการขั้นพื้นฐาน การศึกษา การสร้างโอกาสและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงตลาด การเสริมสร้างขีดความสามารถแก่องค์กรไม่แสวงหากำไร/วิสาหกิจเพื่อสังคม)
ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท เอื้อให้ลูกค้าประจำและ/หรือผู้ใช้บริการปกป้องสิ่งแวดล้อม หรือปรับพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในด้านใด (การใช้พลังงานหมุนเวียน การอนุรักษ์ทรัพยากร การลดของเสีย การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ การลดสารพิษ/สารที่ก่ออันตราย การศึกษา ตรวจวัด วิจัย หรือจัดหาข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม)
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และขับเคลื่อนประเด็นด้าน ESG ร่วมกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำหลักสูตร ESG Private สำหรับธุรกิจครอบครัว เพื่อให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นระบบ และเป็นการเตรียมธุรกิจครอบครัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตอย่างยั่งยืน
หวังว่า ชุดตัวชี้วัด ESG สำหรับธุรกิจครอบครัว และคำถามที่ใช้วัดผลการดำเนินงานข้างต้น จะเป็นประโยชน์กับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย สำหรับใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวของท่านสู่ความยั่งยืนตามกรอบ SIFB ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้ไม่มากก็น้อย