‘จน-โง่-เจ็บ’ วัฏจักรวงจรอุบาทว์ที่ยังไม่หลุด rho

‘จน-โง่-เจ็บ’  วัฏจักรวงจรอุบาทว์ที่ยังไม่หลุด rho

วลีที่ผู้เขียนได้ยินมาตั้งแต่สมัยเล่าเรียนระดับอุดมศึกษาในยุคที่นักศึกษาเฟื่องฟู นโยบาย “จน โง่ เจ็บ” ซึ่งเป็นโยบายสำคัญในการพัฒนาประเทศนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกปี พ.ศ. 2504 เชื่อว่าเป็นแนวคิดของสหประชาชาติ ที่มองว่าเป็นวัฏจักรชีวิต หรือวงจรอุบาทว์

โดยอธิบายว่าเพราะยากจนจึงโง่ และโรคภัยเบียดเบียนวนเวียนอยู่อย่างนี้ 'จน-โง่-เจ็บ' จึงเป็นปัญหาสำคัญและมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เมื่อเกิดปัญหาหนึ่งจะกระทบไปยังอีกปัญหาหนึ่งเป็นวงจรอยู่เช่นนี้ไม่มีสิ้นสุด

จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านไปแล้วกว่า 60 ปี ปัญหาของวงจรแห่งความเลวร้าย 'จน-โง่-เจ็บ' ก็ยังวนเวียนไม่หนีหายไปไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลจากการแพร่ระบาด COVID -19 นำไปสู่ความยากจนยิ่งขึ้น ไม่มีงานทำ และกระทบไปสู่การขาดโอกาสพัฒนาสติปัญญาของประชากรทุกระดับการศึกษา ที่ต้องออกกลางคัน หรือหลุดออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากพ่อแม่เจ็บป่วย เสียชีวิต

นิยาม 'จน-โง่-เจ็บ'

'จน-โง่-เจ็บ' ไม่ได้เป็นคำดูถูกเหยียดหยาม แต่มันเป็นสภาพการณ์ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน มันคือความจริง จนปัจจุบันคนก็ลืมไปหมด

จน คือ การไม่มีงาน เลยไม่มีรายได้ รายได้ไม่พอเพียง ลำบากยากแค้น

 

โง่ คือ การไม่มีการศึกษา ความไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ข้อมูลข่าวสารไม่ทันคนอื่น ไม่ทันโลก ไม่ทันสังคม

เจ็บ คือ ปัญหาด้านสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะโรคต่างๆ ตั้งแต่โรคขาดสารอาหารไปจนถึงโรคร้ายๆ สารพัด แถมขาดหมอ ขาดโรงพยาบาล ตลอดจนถึงการเข้าไม่ถึงระบบการรักษาพยาบาลแพทย์แผนปัจจุบัน

วงจรนี้เริ่มตรงที่ว่า ประชาชนยากจน ขาดรายได้ (จน) ไม่ได้การศึกษาสูงทำให้ไม่รู้ว่าต้องดูแลสุขภาพตนเองอย่างไร (โง่) และด้วยสาเหตุข้างต้นทำให้คนจนมีสุขภาพแย่ลง (เจ็บ) เมื่อสุขภาพแย่ลงแล้วทำให้คนเหล่านี้ต้องเสียเวลาการทำงานเพื่อไปใช้การรักษา และเสียเงินเพื่อค่ารักษาพยาบาลทำให้คนเหล่านี้ขาดรายได้ และกลายเป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จบวัฏจักร จน-โง่-เจ็บ สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำของคนที่มีการศึกษาน้อย (โง่) มีโอกาสที่ได้รับรายได้น้อยกว่า (จน) คนมีการศึกษาสูง และเมื่อจนแล้วก็จะมีโอกาสป่วยมากกว่า จากการไม่มีเงินเข้ารับการรักษา และจากลักษณะอาชีพของคนจนที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการมีสุขภาพแย่ (เจ็บ)

สาเหตุการเกิด วัฏจักรวงจรอุบาทว์ 'จน-โง่-เจ็บ'

จากการศึกษา พบว่า วัฏจักรวงจรอุบาทว์ 'จน โง่ เจ็บ' เกิดจากเหตุผลสำคัญ 5 ประการคือ

1) เข้าไม่ถึงแหล่งทุน ระบบการเงินของรัฐเอื้อให้กับคนรวยมากกว่าคนจน คนจนมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรน้อย การทำธุรกรรมมีค่าธรรมเนียม สูงหรือการเข้าถึงแหล่งทุนทำได้ยาก

2) ขาดโอกาส ปัญหาเพศสภาพ หญิงมีโอกาสน้อยกว่าชายทั้งที่มีจำนวนประชากรที่มากกว่าและระบบการเมืองในบางประเทศทำให้คนยากจนขาดโอกาส

3) ขาดการศึกษา แม้จะมีการศึกษาฟรี แต่ไม่มีเสรีที่จะเลือก บางคนไม่ได้อยากเรียนวิชาสามัญแต่อยากเรียนอาชีพเพื่อการมีงานทำ มีรายได้ จึงต้องออกแบบหลักสูตรใหม่ให้ตรงกับที่คนจนอยากเรียน

4) ขาดความรู้ คนจนจะยึดมั่นกับความเชื่อที่ผิดๆ เพราะขาดความรู้เช่น ทำเกษตร ใส่ปุ๋ยมาก ใช้ทุนสูง ผลผลิตขายได้ราคาต่ำ จึงมีรายได้น้อย เชื่อเรื่องโชคลาง หวยเบอร์ ก็เพราะขาดองค์ความรู้

5) สาธารณสุขไม่ดี คนจนต้องหมดค่าใช้จ่ายไปกับการดูแลรักษาตัวเอง

'จน-โง่-เจ็บ' วัฏจักรวงจรอุบาทว์ที่ยั่งยืน

จากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2558  ประชากรไทยทั้งสิ้น 67.2 ล้านคน พบว่า กลุ่มตามดัชนีทรัพย์สินครัวเรือนจนที่สุดมี 13.9 ล้านคน (21.0%) ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษาหรือมีการศึกษาสูงสุดระดับประถมศึกษา 9.2 ล้านคน และเป็นคนที่ไม่ได้ทำ งาน 2.4 ล้านคน ประชากรกลุ่มนี้อยู่ในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ 92.2% และไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลใดๆ 59,779 คน (หรือ 0.1% ของประชากรทั้งหมด) ทำให้ประชากรกลุ่ม 59,779 คนนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดของวงจร “โง่ จน เจ็บ” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีฐานะยากจนที่สุด การศึกษาสูงสุดแค่ระดับประถม ไม่ทำ งาน และไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล

ประชากรไทยทั่วประเทศที่มีฐานะยากจนที่สุด การศึกษาไม่เกินระดับประถมศึกษา ไม่ได้ทำ งาน และไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล แม้จะมีน้อยเพียง 0.1% เมื่อเจ็บป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลทั้งหมดเลือกโรงพยาบาลรัฐ และต้องจ่ายเงินเองทุกคนมีค่ามัธยฐานเท่ากับ 9,999 บาท สะท้อนถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ทำ ให้ครัวเรือนเดือดร้อน

นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) จนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งครอบคลุมเวลากว่า 60 ปี จากนิยาม “โง่ จน เจ็บ” สู่ การแก้ไขปัญหา “จนอำนาจ จนโอกาส และการเข้าถึงทรัพยากร” ความยากลำบากของขบวนการภาคประชาชน ในเชิงเศรษฐกิจสังคมชนบทยังพบปัญหาความยากจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ และดูเหมือนจะยั่งยืนไปอีกยาวนาน