หลับอย่างไร ให้หลับฝันดีมีสุข (1)

มนุษย์เราใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการ “นอนหลับ” การนอนหลับเป็นกลไกทางร่างกาย เพื่อให้ระบบร่างกายทำงานอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นระบบฮอร์โมน ภูมิต้านทาน ระบบประสาท ทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร กระดูกและกล้ามเนื้อ
เพราะในขณะที่เรานอนหลับ ร่างกายจะมีการหยุดยั้ง หรือ ลดการทำงานบางอย่าง เพื่อปรับความสมดุลของร่างกาย
แต่การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้จัก “วงจรการนอนหลับ” ว่าคืออะไร มีกี่ระยะ
“การนอนที่มีคุณภาพ มีมากกว่าแค่เรื่องระยะเวลา” เพราะต้องประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ
1.ระยะเวลาของการนอน (Sleep Duration) การนอนที่มีคุณภาพควรมีระยะเวลาการนอนที่เพียงพอ รู้สึกสดชื่นในวันรุ่งขึ้น ซึ่งระยะเวลาการนอนที่เหมาะสมแตกต่างกันตามช่วงอายุ โดยวัยผู้ใหญ่ควรนอนให้ได้ 7-9 ชั่วโมงทุกคืน
2.การนอนอย่างต่อเนื่อง (Sleep Continuity) เริ่มนับตั้งแต่เข้านอนจนเผลอหลับ (Sleep Latency) จนกระทั่งตื่นนอน การนอนที่มีคุณภาพต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ตื่นระหว่างการนอนหลับรวมกันมากกว่า 20 นาที อีกทั้งมีประสิทธิภาพการนอน (Sleep Efficiency : SE) โดยรวมที่ดี เพื่อเข้าสู่กระบวนการหลับลึกขึ้นได้ดีขึ้น
3.การนอนหลับลึก (Sleep Depth) ช่วงนี้ความถี่ของคลื่นสมองจะลดลงอยู่ในช่วงคลื่นเดลต้า (Delta Waves) เป็นคลื่นสมองที่ช้าที่สุด ความถี่ประมาณ 0.5-4 รอบต่อวินาที เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) หรือ ฮอร์โมนชะลอความแก่ ที่ช่วยฟื้นฟูและเสริมสร้างการทำงานของร่างกาย
ระดับการนอนหลับ 4 ระยะ Sleep Stages
ถ้าใครใส่นาฬิกา Smart Watch แล้วมีการรายงานและบันทึก Sleep Tracking เวลาในการนอน เขาจะมีแบ่ง deep sleep เท่าไหร่ REM เท่าไหร่ ฯลฯ แต่ละ stage ในการนอนมีอะไรบ้าง มีความสำคัญอย่างไร และเท่าไหร่ถึงนับว่าดี
วงจรการนอนหลับในคนปกติทั่วไป จะแบ่งคร่าวๆ เป็น 2 ช่วง 4 Stage กล่าวคือ
1.ช่วงหลับธรรมดา (Non-Rapid Eye Movement Sleep หรือ Non-REM Sleep) 3 Stage
2.ช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement Sleep หรือ REM Sleep) 1 Stage