เพิ่มระดับธรรมาภิบาลธุรกิจด้วยมิติการดูแลพนักงาน

เพิ่มระดับธรรมาภิบาลธุรกิจด้วยมิติการดูแลพนักงาน

ว่ากันว่า ช่วงเวลาที่ธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีเวลามาทบทวนจัดระเบียบและพัฒนาระบบการบริหารจัดการธุรกิจได้บ้าง ก็คือช่วงเวลาที่ธุรกิจชะลอตัวหรืออยู่ในช่วงเวลาขาลง

เพราะเมื่อธุรกิจเหวี่ยงกลับมาเป็นขาขึ้นตามจังหวะเวลา ธุรกิจก็จะได้ไปโลดแบบรุดหน้า

เรื่องของการพัฒนาระบบบริหารธุรกิจตามแนวโน้มในยุคสมัยนี้ ก็เห็นจะไม่พ้นเรื่องของธุรกิจกรีน ธุรกิจเพื่อพัฒนาความยั่งยืน และธุรกิจที่มีแนวคิดบริหารแบบ ESG โดยเน้น การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (E-Environment) การดูแลสังคมและชุมชน (S-Social) และการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล (G-Business Governance)

สำหรับเอสเอ็มอีไทยส่วนใหญ่ ในเรื่องของการสร้างธรรมาภิบาลธุรกิจให้กับธุรกิจของตนเองมักจะเป็นเรื่องที่มักจะถูกมองข้ามหรือให้น้ำหนักเป็นเรื่องที่มีระดับความสำคัญเป็นรองอยู่เสมอ ผู้บริการธุรกิจบางส่วน อาจมองว่าเป็นเรื่องของการเพิ่มค่าใช้จ่ายเสียด้วยซ้ำไป

ความจริงแล้ว การบริหารธุรกิจด้วยการมีระบบธรรมาภิบาลธุรกิจที่ดี แม้จะเรื่องที่เห็นผลได้ในระยะยาวแต่อาจจะค่อยเริ่มทำไปทีละเล็กละน้อยด้วยกิจกรรมที่เน้นไปที่การสร้างจิตใจ สร้างขวัญและกำลังใจที่ดีให้กับพนักงาน โดยเน้นไปที่การพูดคุย สั่งสอน แนะนำ อบรม และการที่เจ้าของหรือผู้บริหารเป็นผู้นำ ทำตัวให้เห็นเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม

ไม่ว่าจะเป็น การดูแลสิ่งแวดล้อม เรื่องการกำจัดขยะและน้ำเสียจากธุรกิจที่ถูกสุขลักษณะ การทำบุญกุศลเพื่อตอบแทนสังคมและชุมชนรอบๆ สถานประกอบการ และการดูแลสวัสดิการให้กับพนักงาน ซึ่งอาจรวมไปถึงบุตรหลานของพนักงานด้วยก็เป็นได้

แต่ส่วนสำคัญอีกเรื่องหนึ่งซึ่งจะลืมไม่ได้ คือ เรื่องของการสร้างสวัสดิการให้แก่พนักงานด้วยการสร้างเสริมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงานให้กับพนักงาน

เช่น การทำงานที่ต้องสัมผัสกับวัตถุอันตรายประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สารเคมี สารจุลินทรีย์ สารที่ระเบิดได้ ก๊าซหรือละอองของสารไวไฟ ตลอดจนสารมีพิษต่างๆ

องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดคำนิยามและข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพว่า เป็นโรคที่ทำให้เกิดอันตรายต่อตัวบุคคลที่ทำงานที่ต้องสัมผัสกับสารที่เป็นพิษโดยตรว ที่เกิดจากการขาดองค์ความรู้ความเข้าใจหรือความขัดแย้งกันระหว่าง ผู้ประกอบการ ผู้ปฏิบัติงาน นักวิชาการ รวมไปถึงสื่อสารมวลชนและประชาชนทั่วไป จนกลายเป็นปัญหาที่หาข้อยุติได้ยาก หรือเป็นข้อถกถียงกันในสังคมเป็นเวลานานกว่าจะได้ข้อยุติ

แนวทางเบื้องต้นในการสร้างระบบความปลอดภัยในสถานที่ทำงานที่สอดคล้องกับธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลที่มีต่อพนักงานและบุคลากร อาจได้แก่

1. ให้ความรู้และคำแนะนำในการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องหรือสัมผัสกับสารเคมีหรือระบบเครื่องจักรที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น มีคู่มือการทำงานที่ละเอียดชัดเจน มีการประชุมทบทวนความรู้เป็นระยะๆ และมีการทดสอบความรู้ที่จำเป็นเป็นประจำ

2. มีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่จำเป็นและเพียงพอสำหรับสวมใส่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและอันตรายส่วนบุคคล และมีหลักเกณฑ์การใช้งานอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ถูกต้อง มีการตรวจสอบความเข้มงวดของการใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยตลอดเวลาในขณะทำงาน

3. จัดบริการตรวจสุขภาพพนักงานประจำปีเพื่อติดตามอาการที่เกิดจากสภาพการทำงานให้กับพนักงานได้ทราบก่อนที่จะกลายเป็นอันตรายร้ายแรงภายหลัง

4. จัดเตรียมงบประมาณในการตรวจสภาพความปลอดภัยและสุขอนามัยในการทำงานและระบบการถ่ายเทอากาศ สภาพมลพิษ ฯลฯ จากหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานอื่นที่เชื่อถือได้ เป็นประจำทุก 1-3 ปี ตามลักษณะธุรกิจและงบประมาณที่มีพอเพียง

จะเห็นได้ว่า การสร้างระบบธรรมาภิบาลให้กับธุรกิจ อาจมีได้หลายมติ หลายวิธี ทั้งที่ใช้งบประมาณหรือไม่ต้องใช้งบประมาณ ขึ้นอยู่กับวิธีคิด ความต้องการ และความเหมาะสมกับธุรกิจที่จะเริ่มต้นสร้างขึ้นได้ในทันทีสำหรับเป็นบรรทัดฐานที่จะขยายผลต่อไป

ทั้งนี้ จะต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจทั้งจากเจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจและพนักงานที่ร่วมกันประกอบธุรกิจที่แสดงความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพการดำรงชีวิตของสังคมและชุมชนร่วมกันไปกับการประกอบธุรกิจที่จะเติบโตแข็งแรงต่อไปได้อย่างกลมกลืน!!??!!