กงล้อเป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืน SDG 17

หลายท่านคงเคยสังเกตเห็นสัญลักษณ์เป้าหมายการพัฒนาความยั่งยืนของสหประชาชาติที่ออกแบบออกมาในรูปแบบกงล้อที่สื่อความด้วยสีต่างๆ สวยงามสะดุดตา เพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ให้ประเทศต่างๆ ในโลกได้นำไปใช้เป็นเป้าหมายในระดับประเทศของแต่ละประเทศ และมักใช้ชื่อย่อว่า SDG 17
ซึ่งมาจากคำว่า Sustainable Development Goals จำนวน 17 เป้าหมาย อันได้แก่
1 : ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่
2 : ยุติความหิวโหย สร้างความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน
3 : สร้างหลักประกันสุขภาวะที่ดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย
4 : สร้างหลักประกันว่าทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
5 : บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ เพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน
6 : สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลที่มีการจัดการอย่างยั่งยืนพร้อมใช้สำหรับทุกคน
7 : สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานที่ทันสมัยในราคาที่สามารถซื้อหาและเชื่อถือได้อย่างยั่งยืน
8 : ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง มีการจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และสร้างงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
9 : สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรม
10 : ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ
11 : ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
12 : สร้างหลักประกันให้มีการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
13 : ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดผลกระทบที่เกิดขึ้น
14 : อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน
15 : ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกและจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ฟื้นฟูสภาพการเป็นทะเลทรายและการเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
16 : ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขที่ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่รับผิดชอบกลุ่มคนในทุกระดับได้อย่างมีประสิทธิผล
17 : เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เพื่อประชาสัมพันธ์และสื่อความได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ เป้าหมายเหล่านี้ ได้ถูกนำมาจัดทำเป็นสัญลักษณ์รูปภาพเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมดได้ง่าย โดยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะนำเสนอในรูปแบบสี่เหลี่ยมเรียงกันเป็นระเบียบ และแสดงในรูปแบบกงล้อวงกลมที่แสดงความเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่องของเป้าหมายทุกเป้าหมาย
สัญลักษณ์ SDG 17 ในรูปแบบกงล้อ จะนำมาใช้หลักๆ ใน 3 รูปแบบ คือ รูปแบบเต็มที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษและสัญลักษณ์ควบคู่กัน รูปแบบที่แสดงเฉพาะสัญลักษณ์ และรูปแบบที่แสดงเป็นสีเฉยๆ โดยไม่มีทั้งชื่อและสัญลักษณ์ประกอบ
ความโดดเด่นของ SDG 17 ในรูปแบบกงล้อ ไม่ว่าจะเป็นแบบใด อาจถอดความหมายแฝงออกมาได้ใน 3 มุมมองขึ้นอยู่กับบทบาทหน้าที่หลักขององค์กรและภาคเอกชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาความยั่งยืนให้แก่โลก
ในภาคประชาสังคม แสดงความเชื่อมโยงกับความยั่งยืนในมิติของ 5 P ซึ่งได้แก่ มนุษย์ (People) เป้าหมาย 1, 2, 3, 4, 5 ความมั่งคั่ง (Prosperity) เป้าหมาย 7, 8, 9, 10, 11 โลก (Planet) เป้าหมาย 6, 12, 13, 14, 15 สันติภาพ (Peach) เป้าหมาย 16 และ ความร่วมมือ (Partnership) เป้าหมาย 17
ในภาคธุรกิจ ที่ให้ความสนใจกับการสร้างธรรมาภิบาลธุรกิจผ่านกลไก ESG ที่ให้ความสำคัญกับ สภาวะแวดล้อม (E=Environment) เป้าหมาย 13, 14, 15 สังคม (S=Social) เป้าหมาย 1, 2, 3, 4, 5, 6 และ การกำกับดูแลกิจการที่ดี (G=Good Governance) เป้าหมาย 7, 8, 9, 10, 11, 12 และเพิ่มเติมในส่วนของการสร้างความร่วมมือระหว่างโลกกับทุกภาคส่วน เป้าหมาย 16, 17
นอกจากนี้ ในแง่ของการใช้สีต่างๆ ยังช่วยในการสื่อความหมาย เช่น โทนสีฟ้า เกี่ยวกับน้ำ ทะเล โทนสีเขียว เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โทนสีแดง เกี่ยวกับเรื่องสำคัญเร่งด่วน โทนสีเหลือง เกี่ยวกับเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และโทนสีม่วง เกี่ยวกับเรื่องความเสมอภาคและยุติธรรม เป็นต้น
กงล้อ SDG 17 ยังแสดงให้เห็นว่า การพัฒนาความยั่งยืนให้แก่โลกเพื่อให้มนุษย์โลกทุกคนสามารถอาศัยอยู่ต่อไปในโลก ไม่ได้เป็นเรื่องของการเดินทางมุ่งหน้าเป็นเส้นตรงจากจุดเริ่มต้นไปสู่เป้าหมายสุดท้ายเท่านั้น
แต่ต้องเป็นการเดินทางแบบวัฏจักรที่ค่อยๆ หมุนเวียนไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้นต่อไปอย่างต่อเนื่องไม่มีวันสิ้นสุด!!??!!