อุปสรรคของการปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว

อุปสรรคของการปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว

ธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อยที่กำลังตกอยู่ในสภาวะกับดักของการปรับธุรกิจให้เข้าสู่การเป็นธุรกิจสีเขียว ท่ามกลางกระแสที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของโลกที่เกิดจากปัญหาภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ถูกขนานนามว่าเป็นตัวกลางสำคัญที่ทำให้ทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมบนโลกมาเป็นเวลานาน

จนเกิดเป็นความเสี่ยงที่โลกจะไม่สามารถเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

เอสเอ็มอี เริ่มเกิดความไม่แน่ใจว่า การปรับธุรกิจและวิธีการทำธุรกิจให้อยู่ในบริบทและคำนิยามของ ธุรกิจเขียว จะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากมากกว่าการประคองให้ธุรกิจเดินไปตามแนวทางเดิมที่ทำอยู่ แต่ให้ความระมัดระวังมากขึ้นกว่าเดิมก็พอ

แม้ว่าในด้านทุนทรัพย์ สินทรัพย์ สถานภาพในด้านการเงิน และผลประกอบการยังอยู่ในสภาวะที่พอจะรองรับการปรับตัวทางธุรกิจ ให้กลายเป็นธุรกิจสีเขียวได้ก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดเป็นอุปสรรคสำคัญ ส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากปัจจัยที่จับต้องไม่ได้ ที่อาจมองข้ามไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของ Mind set (จิตสำนึก) และ Attitude (ทัศนคติ) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความเป็น “สีเขียว”

“จิตสำนึก” และ “ทัศนคติ” เป็นคำที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจปรับเปลี่ยนสภาวะที่เป็นอยู่ไปเป็นสภาวะใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน

แม้ว่าทั้ง 2 คำนี้ จะมีความหมายใกล้เคียงกันค่อนข้างมาก เพราะเป็นเรื่องที่สัมผัสจับต้องไม่ได้ทางกายภาพที่เกิดขึ้นภายในความคิดจิตใจของแต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนกัน และตัดสินได้ยากว่า ใครผิดใครถูก

มีผู้ให้คำอธิบายว่า Mind set หรือ จิตสำนึก หมายถึงโครงสร้างความคิดที่มีอยู่ในจิตใจของแต่ละคน ส่วน Attitude หรือ ทัศนคติ หมายถึง ความรู้สึก หรือความคิดที่มีต่อสถานการณ์ที่ได้พบเห็นหรือได้สัมผัส ที่เกิดขึ้นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

จิตสำนึก จะเกิดขึ้นอย่างฝังลึกและติดกับตัวบุคคลไปเป็นเวลานาน แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้จาก การศึกษา การมีประสบการณ์ หรือความท้าทายที่ประสบความสำเร็จ

ส่วน ทัศนคติ จะเกิดขึ้นต่อสถานการณ์เบื้องหน้าที่อาจอยู่ในจิตสำนึก หรืออาจไม่อยู่ในจิตสำนึกเดิมก็ได้ ที่อาจทำให้คนแต่ละคนมีปฏิกิริยาโต้ตอบหรือตอบสนองขึ้นทันที ซึ่งอาจเป็นใน ด้านบวก ด้านลบ หรือเป็นกลาง ต่อข้อเท็จจริงและมุมมองต่อสถานการณ์นั้นๆ

จิตสำนึก มักจะเป็นเรื่องที่มีกรอบกว้างๆ เรื่องของโลก ธรรมชาติ ศาสนา และจักรวาล ส่วน ทัศนคติ มักจะมีกรอบแคบๆ ครอบคลุมเฉพาะแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง

ดังนั้น จิตสำนึก จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญทำให้เกิด ทัศนคติ ขึ้นในด้านใดด้านหนึ่ง ที่จะทำให้เกิดความมุ่งมั่นและตั้งใจ ที่จะเดินทางสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในใจได้อย่างแม่นยำและมั่นคง

การตัดสินใจปรับทิศทางธุรกิจไปสู่การเป็นธุรกิจสีเขียว จึงต้องเริ่มจากการสร้างจิตสำนึกในความห่วงใย และต้องการให้โลกและธรรมชาติปรับตัวให้ดีขึ้นจากเดิม และมนุษย์สามารถดำรงอยู่ และเติบโตต่อไปได้ในอนาคต ในด้านการดำรงชีวิต และอาชีพการงาน ที่ยั่งยืน

ทัศนคติ ในมุมมองด้านธุรกิจ ของเจ้าของหรือผู้นำธุรกิจ จะทำให้เกิดแนวความคิดที่จะนำจุดแข็งของธุรกิจมาตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ของการดำเนินธุรกิจสีเขียว ว่าจะให้เป็นอย่างไร เช่น การปรับเรื่องการใช้วัตถุดิบ ปรับเรื่องการตลาด ปรับเรื่องการใช้พลังงาน หรือปรับเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอน ฯลฯ

กล่าวโดยสรุป อุปสรรคในการปรับทิศทางของเอสเอ็มอีเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว สามารถแก้ไขด้วยการปรับจิตสำนึกสีเขียวของผู้นำธุรกิจ และสร้างทัศนคติสู่สีเขียว ให้กับ พนักงาน ผู้ร่วมงาน คู่ค้า ลูกค้า และหุ้นส่วนธุรกิจ ให้เห็นความสำคัญที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจ ก้าวสู่ความเป็น สีเขียว ได้อย่างราบรื่น และรวดเร็ว!!??!!