ล้อมคอกเหตุ ‘รถบัสไฟไหม้’ ได้เวลายกเครื่อง ‘มาตรฐานภาคขนส่ง’
เหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่บั่นทอนจิตใจคนไทยให้หดหู่ไปทั้งประเทศเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา รถบัสทัศนศึกษาของครูและโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี ที่มาทัศนศึกษาในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เกิดเหตุเพลิงไหม้ระหว่างวิ่งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต จนทำให้มีครูและนักเรียนเสียชีวิตถึง 23 คน จากการตรวจสอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง เริ่มพบหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมีการถอดบทเรียนกันอย่างจริงจัง ผู้ที่มีส่วนกำหนดนโยบายตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิกจะต้องมีการร่วมกันผลักดันให้มีการออกกฎหมายที่จริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะนี้ขึ้นอีก
เพราะจากเหตุการณ์ครั้งนี้เมื่อลงไปดูในรายละเอียดพบว่ามีช่องโหว่ช่องว่างทางกฎหมาย และข้อปฏิบัติหลายอย่างที่มีการทุจริตหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบยานพาหนะจนนำไปสู่เหตุการณ์สุดสลดครั้งนี้
เรื่องแรกคืออายุการใช้งานของรถบัสครั้งนี้ที่มีการจดทะเบียนครั้งแรกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ใช้งานมาจนถึงปัจจุบันมีอายุถึง 54 ปี ทั้งที่ปกติมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะควรให้บริการแค่ 10 – 15 ปีเท่านั้น โดยรถคันนี้ในระหว่างทางมีการแจ้งจดทะเบียนใหม่เมื่อเดือน ต.ค.ปี 2561 โดยมีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ในรถจากน้ำมันมาเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์ CNG และดัดแปลงโครงคัสซีรถ
ยิ่งไปกว่านั้นในการตรวจสอบพบว่ามีการตัดตั้งถังก๊าซ CNG มากกว่าปกติ โดยรถคันนี้ติดตั้งมากถึง 11 ถังจากที่ขออนุญาตแค่ 6 ถัง และบริเวณที่ดัดแปลงเพื่อติดตั้งเพิ่มเติมก็ติดตั้งบริเวณที่เก็บสัมภาระและใต้ที่นั่งด้านล่างและบริเวณใกล้ล้อรถเป็นการซุกซ่อนถังไว้โดยไม่ได้ขออนุญาต ทำให้เมื่อเกิดเพลิงไหม้นั้นไฟลุกท่วมในรถอย่างรวดเร็ว
คำถามก็คือการติดตั้งถังก๊าซเพิ่มเติมโดยไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้องแบบนี้ผ่านการตรวจสอบสภาพรถมาได้อย่างไร มีเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตในหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบอยู่ด้วยใช่หรือไม่ ? หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมการขนส่งทางบก และกระทรวงคมนาคมต้องสอบคำถามสังคมเรื่องนี้ให้ชัด
นอกจากขั้นตอนการตรวจสอบสาเหตุ เพื่อหาตัวผู้มีส่วนกระทำผิด ทุจริตหรือบกพร่องต่อหน้าที่มาลงโทษ อีกประเด็นที่สำคัญคือ เรื่อง“มาตรฐาน”โดยเฉพาะรถที่จะใช้เป็นรถโรงเรียน หรือรถที่ใช้ในการพานักเรียนไปทัศนศึกษาควรจะต้องมีการวางมาตฐานเรื่องนี้ให้ชัดเจน ไม่ใช่เอารถอะไรมาใช้รับส่งนักเรียนก็ได้ เอาใครมาขับรถก็ได้ แทนที่จะเน้นที่ราคาถูกเป็นหลัก ต้องเน้นในเรื่องความปลอดภัยของเด็กเยาวชนแทน
มาตรฐานในสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น กำหนดเรื่องเหล่านี้ไว้เข้มงวด รถที่ใช้ต้องติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย มีระบบดับเพิลงอัตโนมัติ ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ตัวรถติดตั้งอุปกรณ์ที่เป็นฉนวนกันไฟ ติดไฟยาก มีระบบ GPS ติดตามรถ มีทางออกฉุกเฉิน รวมทั้งใช้รถที่เป็นเชื้อเพลิงที่เป็นน้ำมันหรือรถไฟฟ้า ไม่ใช้รถที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง คนขับรถต้องมีใบขับขี่ที่จะขับรถโรงเรียน หรือรถบัสทัศนศึกษาโดยเฉพาะ มีการฝึกอบรม และตรวจสอบประวัติอาชญากรรมโดยละเอียด
เวลาที่เราพร่ำบอกกันว่า“เด็ก”และ“เยาวชน”เป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าของประเทศ คำนี้ไม่ควรเป็นแค่ลมปากจากนักการเมือง แต่ต้องมีการกระทำที่จริงจัง และจับต้องได้เป็นรูปธรรม
ไหนๆก็จะ “ล้อมคอก” กันแล้ว อย่าปล่อยให้เวลาผ่านมาไปต้องลงมือให้จริงจัง อย่าให้โศกนาฎกรรมแบบนี้เกิดขึ้นอีกเลย