ไทยร่วม ‘บริกส์’ จัดระเบียบโลกใหม่ ความท้าทายท่ามกลาง ‘ภูมิรัฐศาสตร์’

ไทยร่วม ‘บริกส์’ จัดระเบียบโลกใหม่ ความท้าทายท่ามกลาง ‘ภูมิรัฐศาสตร์’

รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ (BRICS) ตามนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกที่จะเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างหนังสือแสดงเจตจำนงการเข้าเป็นสมาชิกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 หลังจากนั้นได้ยื่นเรื่องขอเข้าเป็นสมาชิก และล่าสุดในการประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์เมื่อวันที่ 23 ต.ค.2567 ที่รัสเซียเห็นชอบให้ 13 ประเทศ รวมประเทศไทย มีสถานะเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรกลุ่มบริกส์ ซึ่งบันไดขั้นแรกของกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก

เป้าหมายของกลุ่มบริกส์ท้าทายโลกตะวันตกอย่างมาก โดยเฉพาะการจัดระเบียบโลกใหม่ที่จะปฏิรูปโครงสร้างการจัดการเศรษฐกิจโลกเพื่อให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งพิงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และสร้างกลไกระหว่างประเทศทางเลือกทั้งด้านการเงิน การให้ความช่วยเหลือและการระดมทุนเพื่อการพัฒนา โดยกระทรวงการต่างประเทศสรุปชัดเจนว่าการเมืองและความมั่นคง กลุ่มบริกส์ มักมีท่าทีไม่สอดคล้องกับกลุ่มประเทศตะวันตก

หากมองย้อนไปเมื่อปี 2549 ที่มีการจัดตั้งกลุ่มบริกส์ ที่มีสมาชิกเริ่มแรก 4 ประเทศ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดียและจีน คงมีไม่มากที่เชื่อมั่นว่ากลุ่มบริกส์จะกล้าประกาศเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายจัดระเบียบโลกใหม่ โดยเฉพาะการจัดระเบียบของเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เงินสกุลดอลลาร์มีอิทธิพลสูง รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่ชาติตะวันตกให้การสนับสนุนมีอิทธิพลต่อรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนา แต่ปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นจนกล้าท้าชนประเทศตะวันตก

ประเทศไทยที่มีบทบาทไม่สูงมากในเวทีระดับโลกจำเป็นต้องกำหนดจุดยืนบนเวทีโลกให้เหมาะสม ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มขนในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา กำลังสร้างระเบียบโลกใหม่ ในช่วงแรกของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตเข้ามาอาเซียน แต่การย้ายฐานการผลิตเป็นเพียงจุดเริ่มต้นหลังจากเริ่มเห็นความชัดเจนของการแข่งขันสร้างซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น ชิป ซึ่งเกิดการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างจีนและสหรัฐ

การที่ประเทศไทยตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ จึงเป็นที่ท้าทายมากและเดินทางมาถูกเมื่อโลกมีทางเลือกมากขึ้นทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมองโอกาสสำหรับตัวเอง การเข้าร่วมกลุ่มบริกส์จึงไม่ใช่การตัดสินใจจากเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ แต่เป็นการตัดสินใจบนเหตุผลการสร้างโอกาสให้ประเทศ โดยเฉพาะโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ และหลังจากนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ของรัฐบาลในการสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์