ไทยร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรม รอ Soft Power พยุงต้นทุนทรุด
จับกระแส ไทยร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรม รอ Soft Power พยุงต้นทุนทรุด
รัฐบาลประโคมข่าวเรื่องที่ประเทศไทยของเรา ถูกจัดอันดับที่ 8 ของประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมที่สุดในโลก 2567 หรือ Thailand Ranked 8 th in 2024 Best Countries Heritage จากทั้งหมด 89 ประเทศ
รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม อย่าง สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ได้ยกประเด็นการพิจารณาจัดอันดับประเทศที่ร่ำรวยรมรดกทางวัฒนธรรม เกี่ยวกับหลักเกณฑ์พิจารณาค่าเฉลี่ยจากคุณลักษณะของประเทศ 5 ประการ คือ
1.มีวัฒนธรรมที่เข้าถึงได้
2.มีประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง
3.มีอาหารที่ยอดเยี่ยม
4.มีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมมากมาย
5.มีสถานที่ท่องเที่ยวทางภูมิศาสตร์เป็นจำนวนมาก
“การจัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 8 เพราะมีมรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่า เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีอาหารเลิศรส มีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมจำนวนมาก ซึ่งการจัดอันดับมรดกทางวัฒนธรรมครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยว และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกสนใจที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวและสัมผัสมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ” รมว.วัฒนธรรม ระบุ
ประเด็นนโยบายในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) “สุดาวรรณ” ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญสร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก
ประกาศยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ตั้งเป้าหมายปี 2568 ขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยในเชิงมิติวัฒนธรรม ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่มีอิทธิพลด้าน Soft Power ในมิติวัฒนธรรม รวมถึงการจัดเทศกาล Thailand Winter Festivals ช่วงปลายปีมีแนวคิด “7 Wonders of Thailand” หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวมาไทย ได้แก่
1.เทศกาลลอยกระทง
2.เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือ Countdown
3.กิจกรรมเชิงกีฬา
4.กิจกรรมด้านวัฒนธรรม
5.เทศกาลอาหาร
6.เทศกาลดนตรี
7.เทศกาลแสงสี
ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่าตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึง 27 ต.ค. 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากถึง 28 ล้านคน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท
ยิ่งเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวในฤดูหนาว ท่ามกลางมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล ทั้งการยกเว้นวีซ่าและบัตร ตม.6 รวมถึงการกระตุ้นและส่งเสริมให้สายการบินเพิ่มจํานวนเที่ยวบินมากยิ่งขึ้น
แน่นอนว่า ความเป็นจริงต้นทุนทางวัฒนธรรมของไทย ถูกสร้างและส่งเสริมจากชุมชนท้องถิ่นระดับฐานรากจนถึงระดับนโยบายชาติมาอย่างต่อเนื่อง
จึงไม่แปลกถ้าเราจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมที่สุดในโลก แต่ถ้าจำไม่ผิด อันดับไทยตกลงจากเมื่อ 2-3 ปีก่อนหรือไม่
ถ้าประเทศเราเคยถูกจัดอันดับดีกว่านี้ ย่อมสะท้อนว่า ต้นทุนทางวัฒนธรรมถูกใช้ไปแล้วร่อยหรอจนรักษาอันดับไว้ไม่ได้หรือเปล่า
จึงชวนคิดว่า ทำอย่างไรเราจะรักษาต้นทุนทางวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้ดีกว่าเดิม อย่าให้หลุดจากท็อปเท็นประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมที่สุดในโลกเสียก่อนแล้วค่อยตระหนัก
จริงอยู่ รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา ก็มีนโยบายในการพัฒนาส่งเสริมรักษาต้นทุนทางวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แต่ปัจจัยด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมทำให้ความต่อเนื่องทางนโยบายไม่เห็นภาพชัดว่าจะรักษาต้นทุนที่กล่าวมาแล้วไว้ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลที่จะมาปลูกสร้างต้นทุนทางวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้เข้มแข็ง ยังไม่เห็นเป็นเนื้อเป็นหนังพอจะเป็นความหวังได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :