ถอดบทเรียน “ครูปรีชา หวย 30 ล้าน” กระบวนการยุติธรรมกับการ “ฟ้องเท็จ” และ “เบิกความเท็จ”
“ศาลอาญาจังหวัดกาญจนบุรีพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำ ที่ อ.1863/61 ข้อหายักยอกทรัพย์ รับของโจร ในวันที่ 4 มิ.ย. 2562 มีคำพิพากษายกฟ้องหมวดจรูญในคดีอาญา โดยพิพากษาว่า “ไม่ใช่ทรัพย์สินของโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย พิพากษายกฟ้อง
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขดำที่ อ.1863/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1416/2562 เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า
โจทก์ (นายปรีชา) ไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้นศาลอุทธรณ์จึงเห็นด้วยกับศาลชั้นต้นพิพากษายืน” จากคำพิพากษาของทั้งสองศาลทำให้คดีฟ้องยักยอกทรัพย์ที่มีครูปรีชาเป็นฝ่ายโจทก์ฟ้องหมวดจรูญเพื่อพิสูจน์การเป็นเจ้าของฉลากกินแบ่ง 5 ใบ กลายเป็นเรื่องโอละพ่อ ปิดตำนานมหากาพย์หวย 30 ล้าน ที่ยืดเยื้อมานานถึง 3 ปี แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เรียกว่า “ฟ้องเท็จ” หรือ “เบิกความเท็จ” ในทางกลับกัน
จินตนาการว่า “หากท่านถูกหวย” อาจไม่ต้องถึง 30 ล้านบาท ทุกท่านคงจะมีแผนการใช้เงินดังกล่าวอย่างมีความสุข อันอาจรวมถึงวางแผนใช้หนี้เพื่อมีอิสระทางการเงิน แต่ผ่านไปไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ท่านกลับถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาโดยใครก็ไม่รู้ อ้างพยานหลักฐานมากมายรวมถึงพยานบุคคลที่อ้างตนว่าเป็นแม่ค้าผู้ขายฉลากกินแบ่งฉบับดังกล่าวและยืนยันข้อเท็จจริงว่า “ไม่ได้ขายให้กับท่าน” เป็นเหตุให้ศาลต้องอายัดบัญชีการใช้เงินรางวัลของท่านจนกว่า “ความจริงจะปรากฏ” หรือ “คดีจะสิ้นสุด” ท่านจะรู้สึกอย่างไร และจะทำอย่างไรกับบุคคลหรือขบวนการที่พยายามจะใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อบีบบังคับหวังได้รางวัลที่เป็นของท่าน
แน่นอนว่า การสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในการได้มาซึ่งทรัพย์ย่อมเป็นหนทางแห่งสังคมที่พัฒนา แต่ระยะเวลากว่า 4 ปีที่เสียไปย่อมไม่มีใครเรียกกลับมาได้ และหลักการทางกฎหมายก็ไม่ยินยอมให้ใครมาใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อหาผลประโยชน์โดยมิชอบเช่นกัน ดังนั้น “การฟ้องกลับ” บุคคลที่ให้ร้ายจึงเป็นกระบวนการทางคดีอย่างหนึ่ง ผ่านความผิดฐาน “ฟ้องเท็จ” และ “เบิกความเท็จ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 175 และ 177 มีหลักการทางกฎหมาย และพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงในคดี “หวยสามสิบล้าน” ได้ดังต่อไปนี้
1. “ผู้ฟ้องต้องทราบว่าเป็นความเท็จ” กล่าวคือ ในการแจ้งข้อเท็จจริงต่อเจ้าพนักงาน การบรรยายฟ้องคดีอาญา หรือการเบิกความในชั้นพิจารณาของพยานหรือตัวคู่ความเอง หากผู้ใช้สิทธิในกระบวนการไม่ตั้งอยู่บนการกระทำไปโดย “สุจริต” ผ่านการกล่าวอ้างข้อความตามความเป็นจริง ย่อมถือได้ว่า บุคคลดังกล่าว “มีเจตนากระทำผิด” และมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จ หรือ เบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา กลับกันหากปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวไม่รู้ว่าข้อความพิพาทที่ตนเองบรรยายฟ้อง หรือเบิกความ หรือที่แจ้งความต่อเจ้าพนักงานว่าเป็นความเท็จถึงแม้ภายหลังปรากฏความจริงภายหลังว่าเป็นเท็จ ก็ไม่มีเป็นความผิดแต่อย่างใด ทั้งนี้ในคดีอาญาคดีหมายเลขดำที่ อ.1863/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1416/2562 ข้างต้น ศาลพิเคราะห์แล้วว่า “โจทก์(ครูปรีชา)” ไม่มีหลักฐานอันเป็นการยืนยันได้ว่าตนเป็นเจ้าของฉลากกินแบ่งฉบับดังกล่าว โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันลายพิมพ์นิ้วมืออันแสดงความเป็นเจ้าของ ทั้งยังกล่าวอ้างจัดหาพยานบุคคลมาเบิกความเท็จว่าเป็นคนขายฉลากกินแบ่งดังกล่าว เช่นนี้ ผู้ฟ้องจึงทราบตั้งแต่ใช้สิทธิฟ้องคดีแล้วว่าข้อเท็จจริงที่นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้นเป็น “เท็จ” เข้าข่ายมีเจตนาในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
2. “เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงแห่งคดี” กล่าวคือ การแจ้งข้อเท็จจริงที่จะเป็นความผิดนั้น ต้องไม่เป็นเพียงการแจ้งข้อเท็จจริง เพื่อปรับบทกฎหมายที่คลาดเคลื่อน แต่จะต้องเป็นการแจ้งข้อเท็จจริงเพื่อ “บิดเบือนข้อเท็จจริงแห่งคดี” โดยรู้อยู่แล้วว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่ก็ยังบิดเบือน ต่อเติม เสริมแต่งเรื่องราวอันเป็นเท็จขึ้นมาเพื่อหวังจะชนะคดี หากบุคคลใดแจ้งข้อเท็จจริงไปตามความรู้เห็นและเข้าใจของตนเอง ถึงแม้อาจจะไม่เพียงพอให้ฝ่ายตนเองชนะคดี ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ฟ้องเท็จ หรือเบิกความเท็จแต่อย่างใด ประเด็นนี้ฝ่ายโจทก์(ครูปรีชา) ได้กล่าวอ้างพยานปากสำคัญมากมาย อาทิ นางสายรัตนาพร สุภาทิพย์ หรือ เจ๊บ้าบิ่น, นางพัชริดา พรมตา หรือ เจ๊พัช และนางปณัญชยา สุขผล หรือจะเกี่ยว เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงที่ไม่มีอยู่จริงว่าเห็นเหตุการณ์การขายฉลากกินแบ่งให้โจทก์อันเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่มีทางคดี จึงเข้าข่ายความผิดฐานเบิกความเท็จ
3. “ข้อความอันเป็นเท็จเป็นสาระสำคัญแห่งคดี” กล่าวคือ ข้อเท็จจริงที่มีผลทำให้คดีแพ้หรือชนะกันได้เมื่อศาลได้หยิบยกขึ้นมาทำการวินิจฉัย ความผิดตามาตรา 177 บัญญัติขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้จำเลยที่ถูกฟ้องร้องได้รับโทษหรือได้รับความสียหายอันเกิดจากการรับฟังพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ดังนั้น การกล่าวอ้างความเป็นเจ้าของของโจทก์กอปรกับกล่าวอ้างพยานบุคคลนำสืบเพื่อยืนยันความผิดต่อจำเลย(ร.ต.ท.จรูญ) เมื่อมีคำพิพากษายืนว่าแล้วว่าข้อเท็จจริงอันเป็นความผิดฐานยักยอก และรับของโจรดังกล่าวไม่มีอยู่จริง เช่นนี้จึงเป็นการฟ้องบิดเบือนในสาระสำคัญของคดีเพื่อทำให้ฝ่ายจำเลยได้รับโทษหรือได้รับความเสียหายที่ไม่มีจริง เป็นความผิดฟ้องเท็จ หรือเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา
จากหลักการข้างต้นเป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่าน ศาลชั้นต้นจังหวัดกาญจนบุรีนัดฟังคำพิพากษาคดีที่หมวดจรูญ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องครูปรีชา เจ๊บ้าบิ่น และเจ๊พัช ในข้อหา “ร่วมกันเบิกความเท็จ” เนื่องจากจำเลยทั้ง 3 คน เคยเบิกความในชั้นไต่สวนฉุกเฉินในคดีแพ่งขออายัดเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 และมีพิพากษาว่า “จำเลยทั้ง 3 คนมีความผิดตามคำฟ้องจริง จึงพิพากษาจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา จำเลยทั้ง 3 ยอมรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา” คำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นมาตรวัดการใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และส่งต่อบทเรียนถึงสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ในประเด็นที่ว่า “สิทธิในกระบวนการยุติธรรมนั้น ต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เข้าสู่กระบวนการ หาใช่ช่องทางให้ผู้ประพฤติผิดกฎหมายกล่าวอ้าง หรือนำไปใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตนอันทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง” นั่นเอง