เศรษฐกิจไทย ‘รอด-ไม่รอด’ต้องทำเอง

เศรษฐกิจไทย ‘รอด-ไม่รอด’ต้องทำเอง

เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะฟื้นตัวหรือไม่ หรือฟื้นตัวแบบไหน ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัว 3.0-3.5% ตามที่ “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่

 หรือจะเป็นไปตามการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์หลายสถาบันที่บอกว่าขยายตัวเท่า 3% หรือน้อยกว่าไม่ว่าจะเป็น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์อยู่ที่ 3.0% หรือธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และ เกียรตินาคินภัทร (KKP) มองไว้ที่ 2.7% หน่วยงานที่ปรึกษารัฐบาลอย่าง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้กรอบอยู่ 2.3-3.3% ส่วนฝ่ายวิเคราะห์ของสถาบันการเงินอย่างน้อย 2 แห่งคาดการณ์ไว้อยู่ที่ 2.4% คือ SCB EIC และศูนย์วิจัยกสิกรไทย หรือถ้าได้รับผลกระทบจากนโยบายประเทศหลักอาจจะโตได้ไม่ถึง 2%​

จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายว่ารัฐบาลจะทำให้ (จีดีพี) จะขยายตัวมากกว่า 3% ได้อย่างไร ยังไม่นับที่ก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เฉลี่ยปีละ 5% ถึงวันนี้ต้องบอกว่ายังห่างไกลความเป็นจริง จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว การส่งออก รวมไปถึงมาตรการลดดอกเบี้ย เพื่อให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุน เกิดการใช้จ่าย ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบ เพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันประเทศไทยอาจจะต้องหาโอกาสของธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เพราะการพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก อาจจะทำให้เราจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากนโยบายเศรษฐกิจของประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ และได้รับผลกระทบและมีความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องไปตลอด หากสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไปต่อได้ในอนาคตอาจจะเป็นอีกทางรอดที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อหาทางป้องกันสถานการณ์ที่อาจจะเกิดผลกระทบจากนโยบายจากทรัมป์ 2.0 ที่อาจจะมีมากกว่าคาด จะได้ไม่ต้องเห็นเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่า 2% 
   

อีกทางหนึ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ก็คือ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ มาใช้ โดยเฉพาะ Large Language Models (LLMs) หรือโมเดลพื้นฐานการประมวลผลของ AI และการเรียนรู้ที่ซับซ้อนมากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะภาคธุรกิจ นำมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำงานและการให้บริการลูกค้า ก็จะสามารถสร้างโอกาสใหม่ให้กับประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน