บ้านเอื้ออาทร บทเรียน บ้านเพื่อ (คน) ไทย
นโยบายเข้าถึงสิทธิที่ดินและที่อยู่อาศัยของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกกำหนดในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567 ซึ่งนำมาสู่นโยบายบ้านเพื่อคนไทย โดยนำรูปแบบมาจากต่างประเทศในการใช้ที่ดินของรัฐ
หรือรัฐวิสาหกิจมาสร้างที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มผู้ยังไม่เคยมีกรรมสิทธิ์บ้านหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นกลุ่มแรก ซึ่งรัฐบาลดำเนินการนำร่องจากการนำที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มาสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชนเช่าระยะยาว นโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถูกดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องผ่านหลายโครงการ เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โครงการบ้านมั่นคง ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ซึ่งการดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยต้องใช้งบประมาณสูงจึงมีความช่วยเหลือหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายที่อยู่อาศัยด้วยการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ
โครงการบ้านเพื่อคนไทยจำเป็นต้องพิจารณาบทเรียนของบางโครงการที่ไม่ถึงเป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการบ้านเอื้ออาทรที่พบหลายปัญหาไม่ว่าจะเป็นการทุจริตโครงการก่อสร้างที่ส่งผลให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งจำคุก วัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อปี 2565 รวมทั้งมีปัญหาคุณภาพบ้านไม่เป็นไปตามที่กำหนดเพราะมีการทุจริตระหว่างการก่อสร้างด้วยการลดคุณลักษณะของวัสดุก่อสร้าง
รวมถึงมีปัญหาการส่งมอบบ้านเอื้ออาทรไม่ครบตามกำหนด และการเลือกทำเลการพัฒนาโครงการที่ไม่จูงใจสำหรับการอยู่อาศัย และยังมีปัญหาการปล่อยกู้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายเพราะคุณสมบัติของผู้กู้ รวมถึงมีปัญหาได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้วผู้กู้ไม่สามารถผ่อนชำระสินเชื่อได้ต่อส่งผลให้บ้านเอื้ออาทรกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จำนวนหนึ่ง ด้วยปัญหาดังกล่าวจะเป็นเหตุผลที่ให้โครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีหลักการดีสร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
สำหรับโครงการบ้านเพื่อคนไทยมีลักษณะที่แตกต่างไปเพราะเป็นลักษณะการเช่าระยะยาวโดยที่กรรมสิทธิที่ดินยังเป็นของหน่วยงานรัฐ ซึ่งอาจทำให้ค่าเช่าที่จ่ายออกไปมีระดับต่ำกว่าค่าผ่อนบ้านทั่วไปในบางกรณี โดย รฟท.ที่ดำเนินการโครงการนำร่องได้พยายามป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น การโอนสิทธิในที่อยู่อาศัยให้ผู้อื่น แต่ช่องทางการทุจริตมีโอกาสเกิดขึ้นได้จึงเป็นหน้าที่ของ รฟท.ที่จะควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการทุจริตตั้งแต่การก่อสร้าง การได้สิทธิและการโอนสิทธิที่อยู่อาศัย