ไทยเสียโอกาสไป 20 ปี กว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มจะเปิดเต็มรูปแบบ

ไทยเสียโอกาสไป 20 ปี กว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มจะเปิดเต็มรูปแบบ

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นโครงการสำคัญที่เชื่อมการขนส่งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ครอบคลุมเส้นทางบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

 แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ฝั่งตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) งานโยธาเสร็จแล้ว 2 ปี แต่ให้บริการไม่ได้ เพราะงานเดินรถไฟผูกสัญญากับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ที่เสียเวลาในการประมูลถึง 4 ปี จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตัดสินผู้ชนะของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่นำมาสู่การฟ้องศาลปกครอง

รฟม.เปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและการเดินรถทั้งสายเมื่อปี 2563 หลังจาก รฟม.แก้ไขหลักเกณฑ์การตัดสินผู้ชนะประมูลหลังจากที่ขายซองเอกสารไปแล้วและนำมาสู่การฟ้องศาลปกครอง ซึ่งนำมาสู่การยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 รวมแล้วมีการฟ้องการประมูลครั้งที่ 1 ต่อศาลปกครองและศาลอาญาคดีทุจริตรวม 5 คดี หลังจากนั้นนำมาสู่การเปิดประมูลครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2565 ซึ่งมีการยื่นฟ้องศาลปกครองรวม 4 คดี 

จุดเริ่มต้นของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเริ่มจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2553 รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่เห็นชอบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในระยะ 10 ปีแรก (เปิดบริการในปี 2562) จำนวน 7 สาย ระยะทางรวม 154 กิโลเมตร โดยมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นโครงการที่ถูกบรรจุไว้ในแผนดังกล่าวด้วย
   

ความล่าช้าของการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกทำให้การเปิดบริการต้องล่าช้าออกไปถึงปี 2571 ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ-สถานีแยกร่มเกล้า ได้ในช่วงต้นปี 2571 ขณะที่ในปี 2573 คาดว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันตกช่วงสถานีบางขุนนนท์-สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ทำให้เกิดการให้บริการครบทั้งสาย โดยหากเป็นไปตามแผนดังกล่าวกว่าจะเปิดบริการครบทุกสถานีต้องใช้เวลาถึง 20 ปี นับจาก ครม.เห็นชอบแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง

 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มผ่านสถานที่สำคัญที่เป็นย่านการค้า เช่น ประตูน้ำ ห้วยขวาง และรามคำแหง รวมถึงผ่านสถานที่สำคัญ เช่น สนามกีฬาหัวหมาก ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่จัดแข่งกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 ในวันที่ 9 ธ.ค.-20 ธ.ค.2568 จะไม่สามารถใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ เป็นการเสียโอกาสอย่างมากทั้งที่งานโยธาส่วนนี้เสร็จมาหลายปีแล้ว รถไฟฟ้าสายสีส้มจึงเป็นบทเรียนสำคัญของการมองถึงประโยชน์เฉพาะส่วนของกลุ่มการเมืองและภาคธุรกิจที่ทำให้ประเทศเสียหายอย่างมาก