มหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก ไทยพร้อมรับมือแค่ไหน?

มหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก ไทยพร้อมรับมือแค่ไหน?

โลกกำลังเผชิญ “ความเสี่ยงใหญ่” ที่ไม่เคยเจอมาก่อนในรอบเกือบ 100 ปี ...เวลานี้นักเศรษฐศาสตร์เริ่มพูดกันว่า มาตรการ Reciprocal Tariff หรือ “ภาษีตอบโต้” ของสหรัฐกำลังเดินซ้ำรอยกับ Smoot-Hawley Tariff

ซึ่งเป็นกฎหมายของสหรัฐที่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างรุนแรงในอัตราสูงสุดราว 60% โดย Smoot-Hawley มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องภาคเกษตรและอุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐจากการแข่งขันกับต่างประเทศในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งรุนแรงหรือที่รู้จักในนาม The Great Depression แต่กลายเป็นว่ากฎหมายตัวนี้กลับซ้ำเติมเศรษฐกิจของสหรัฐในเวลานั้นจนสาหัสยิ่งกว่าเดิม

สัญญาณเตือนภัยจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด “เจพี มอร์แกน” เพิ่งปรับคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มเป็น 60% ขณะที่รายการ Saturday Night Live ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2568 ได้ล้อเลียนการขึ้นภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ โดยใช้สโลแกนว่า “Make America Great Depression Again” บ่งชี้ให้เห็นถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น

น่าสงสัยว่าถ้าทั่วโลกรับมือกับเรื่องนี้ไม่ดีพอ ต่างคนต่างใช้มาตรการภาษีตอบโต้ใส่กัน ความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้จะหนักกว่าเมื่อ 100 ปีที่แล้วหรือไม่?

...ความต่างระหว่างสองเหตุการณ์นี้ คือ ช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจโลกยังไม่เชื่อมโยงเท่ากับปัจจุบัน การค้าระหว่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีค่อนข้างน้อย จึงแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ห่วงโซ่อุปทานร้อยต่อกันไปทั่วโลก ที่สำคัญธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีตอย่างมาก ถ้าประเทศใดล้ม โดมิโน่ตัวนี้น่าจะวิ่งเร็วและแรงกว่าในอดีตมาก แต่ระดับความรุนแรงคงขึ้นกับว่า ประเทศมหาอำนาจจะตอบโต้กันไปมาอย่างไรด้วย

ขอชื่นชมนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ “ลอว์เรนซ์ หว่อง” ที่ออกมาเตือนให้คนในประเทศตั้งสติรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกใบนี้ ผู้นำหลายประเทศเลือกที่จะบอกว่า “รับมือได้” แต่ “หว่อง” เตือนผู้คนในประเทศให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลกที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง เตรียมพร้อมทางจิตใจ ไม่ประมาท พร้อมกับบอกในสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำว่ามีอะไรบ้างเพื่อลดทอนผลกระทบดังกล่าว

อีกประเด็นที่น่าสนใจ “หว่อง” บอกอย่างมีนัยะในช่วงหนึ่งว่า สถานการณ์ปัจจุบันคล้ายคลึงกับช่วงปี 1930 ที่สงครามการค้านำไปสู่ความขัดแย้งทางอาวุธจนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เขายังทิ้งท้ายอย่างน่าประทับใจว่า ถ้าคนในประเทศสามัคคีกันสิงคโปร์จะยืนหยัดอยู่บนโลกที่วุ่นวายใบนี้ได้ ...เราไม่รู้ว่าอนาคตโลกใบนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ต้องเดาเลยว่า มันต้องเลวร้ายลงเรื่อยๆ แล้วไทยเราละ พร้อมรับมือกับมหาวิกฤติครั้งนี้มากน้อยแค่ไหนใครพอจะบอกได้บ้าง!!?