ท่ามกลางสงครามการค้า ไทยน่าจะใช้ CO ให้เป็นประโยชน์

ในการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา สมัยที่สอง ก็ได้ดำเนินนโยบาย America first ต่ออีก
และได้นำระบบภาษีนำเข้ามาใช้เป็นมาตรการในการต่อสู้ และสยบประเทศคู่ค้าที่ค้าขายกับสหรัฐอเมริกาที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา ด้วยข้อกล่าวหาเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม
โดยการขึ้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าของประเทศทุกประเทศ ที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา บางประเทศยอมสยบ บางประเทศขอเจรจา
จีนและอีกหลายประเทศรวมทั้งสหภาพยุโรป ได้ออกมาตรการตอบโต้ ทั้งการขึ้นภาษีและกำหนดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีตอบโต้ ก่อให้เกิดสงครามการค้าที่ที่มีผลกระทบการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก
ประเทศไทยก็ไม่เว้น โดนสหรัฐอเมริกา ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย ในอัตรา 37% แม้จะน้อยกวาประเทศอาเซียนหลายประเทศ แต่ก็ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐอเมริกาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประเทศไทยไม่ได้กำหนดมาตรการตอบโต้แต่เตรียมการส่งทีมไปเจรจากับสหรัฐ
แต่เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ประกาศชลอการขึ้นภาษีตอบโต้ประเทศอื่นทุกประเทศยกเว้นประเทศจีนไปก่อนเก้าสิบวัน เป็นการพักรบสงครามการค้าชั่วคราวเก้าสิบวัน
การที่ประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า37% ถือว่าค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งอาจมาจากการถูกมองว่า ไทยเป็นเพียงฐานการผลิตและการส่งออกให้บางประเทศ หรือเป็นเพียงทางผ่านของสินค้าจากประเทศอื่นบางประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา
ท่ามกลางสงครามการค้าในขณะนี้ และเป็นช่วงพักรบสงครามการค้าชั่วคราว กระทรวงพาณิชย์ น่าจะใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ได้ คือพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 5 ทีบัญญัติว่า
“มาตรา 5ในกรณีที่จำเป็นหรือสมควรเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สาธารณประโยชน์ การสาธารณสุข ความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อประโยชน์อื่นใดของรัฐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดสินค้าใดให้เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการส่งออกหรือในการนำเข้า
(2) กำหนดสินค้าใดให้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการส่งออกหรือในการนำเข้า
(3) กำหนดประเภท ชนิด คุณภาพ มาตรฐาน จำนวน ปริมาตร ขนาด น้ำหนัก ราคา ชื่อที่ใช้ในทางการค้า ตรา เครื่องหมายการค้า ถิ่นกำเนิด สำหรับสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้า ตลอดจนกำหนดประเทศที่ส่งไปหรือประเทศที่ส่งมาซึ่งสินค้าดังกล่าว
(4) กำหนดประเภทและชนิดของสินค้าที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกหรือในการนำเข้า
(5) กำหนดให้สินค้าใดที่ส่งออกหรือนำเข้า เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเริดสินค้า หรือหนังสือรับรองอื่นใดตามความตกลงหรือประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศ
(6) กำหนดมาตรการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบในการส่งออกหรือการนำเข้าตามพระราชบัญญัตินี้
การแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกประกาศตามมาตรานี้ ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม”
กระทรวงพาณิชย์ ควรดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 5 (5) แห่งพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี
ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร กำหนดให้สินค้า ตามรายการและที่ส่งออกไปประเทศที่กำหนดท้ายประกาศ เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ
ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากร จึงจะส่งออกไปได้ และกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ต้องเป็นสินค้าที่ผลิตโดยถูกต้องตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ท้ายประกาศ
เมื่อมีประกาศกำหนดให้สินค้า ตามรายการและที่ส่งออกไปประเทศที่กำหนดท้ายประกาศเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศไปแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากรแล้ว มีผลบังคับตามกฎหมาย
กล่าวคือ มีผลตามที่บัญญัติในมาตรา 22 ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศซึ่งออกตามมาตรา 5 (3) (5) หรือ(6) ต้องระวางโทษจำคุกเกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
และมีผลให้เป็นสินค้าต้องห้าม ต้องกำกัดตามกฎหมายศุลกากรที่จะทำให้เจ้าพนักงานศุลกากรมีอำนาจช่วยตรวจสอบในขั้นตอนการส่งออกด้วย
ผู้ส่งออกที่ส่งออกโดยหลีกเลี่ยงไม่มีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าไปแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากร มีความผิดตามกฎหมายศุลกากรอีกโสดหนึ่งด้วยด้วย
การดำเนินการเพื่อออกประกาศดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์คงต้องแต่งตั้งคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
เช่นกระทรวงอุตสาหกรรม กรมศุลกากร กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยกรมการค้าต่างประเทศเป็นเจ้าของเรื่อง
คณะทำงานชุดนี้มีหน้าที่พิจารณารายการสินค้าและประเทศที่ส่งออกที่จะกำหนดให้ต้องแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า รวมทั้งแบบของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับกรณีนี้ด้วย
สำหรับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า อาจอิงกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่บังคับใช้อยู่ ตามโครงการให้สิทธิพิเศษ GSP ของสหรัฐ หรือความตกลงเรื่องเขตการค้าเสรีต่างฯ ที่เหมาะสม เป็นแนวก็ได้
ส่วนแบบของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอาจใช้แบบหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบใดแบบหนึ่งของโครงการต่างฯ เป็นต้นแบบได้
การดำเนินการของไทยดังกล่าวข้างต้น ย่อมชอบด้วยกฎหมายไทยและกฎกติการค้าระหว่างประเทศ คาดว่าน่าจะช่วยลดแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาได้ระดับหนึ่ง และช่วยให้การผลิตสินค้าในประเทศมีการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มมูลค่าเพิ่มภายในประเทศด้วย.