เข้าเมืองตาหลิ่ว ไม่ต้องหลิ่วตาตาม

เข้าเมืองตาหลิ่ว ไม่ต้องหลิ่วตาตาม

ลัทธิเอาอย่างในวิถีชีวิตของมนุษย์เงินเดือน ที่ผ่านมาสะท้อนในหลายรูปแบบ ปะปนกันไป มีทั้งดี และไม่ดี

แม้ “Planking” จะจากไปแล้ว ผมก็ยังให้คะแนนสูง ถ้าพิจารณาในแง่ของความนิยมและลัทธิเอาอย่างที่เป็นกระแสคนแห่ทำตามกัน จนโด่งดัง ลามไปทุกภูมิภาคทั่วโลก


ผมเข้าใจว่า คำๆ นี้มีรากศัพท์มากจากคำว่า “Plank” ที่แปลว่าไม้กระดาน ทำให้กิริยาอาการที่เล่น ก็คือท่า               เบสิค นอนคว่ำหน้าแล้วทำตัวให้แข็ง เรียบคล้ายกับแผ่นไม้


มาหลังๆ เมื่อจุดกระแสติด ก็ค่อยๆ พัฒนาจากท่าธรรมดา ไปเป็นการนอนในสถานที่หรือโลเคชั่นแปลกๆ ใครยิ่งประหลาดมาก โพสต์เน็ตแล้วโดนใจมาก ก็ยิ่งดัง 


ผมสืบค้นใน Wikipedia ต่อ เข้าใจว่าคนที่คิดเรื่องนี้ และ claim เป็นคนแรก คือ Tom Green ราวปี 1994 ขณะที่ Gary Clarkson และ Christian Langdon สองคนก็ claim เป็นผู้คิดค้นเหมือนกัน และทำให้เกมส์ๆ นี้โด่งดังขึ้นมา
เท่าที่ตามข่าว เกมส์ๆ นี้เล่นเอาคนถึงตายได้เลย อย่างนาย Acton Beale หนุ่มวัยยี่สิบเก้า ที่เกิดพิเรนทร์ไปแกล้งนอนบนระเบียงชั้นเจ็ด แล้วเผลอพลัดตกลงมา กลายเป็นข่าวใหญ่หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์


บ้านเรา ก็เห่อเล่นตาม โพสต์รูปเป็นว่าเล่น แม้ไม่ถึงกับมีข่าวร้ายอย่างชาวออสซี่ แต่ก็มีกระแสวิพากษ์ เพราะมีพระภิกษุรูปหนึ่งเผลอเล่นจนเกินงาม กรมการศาสนาเลยต้องออกมาสั่งสอบเป็นการด่วน


จะว่าไปแล้ว “ลัทธิเอาอย่าง” ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม ผมเห็นมาตั้งแต่เกิด เพียงแต่รูปแบบ ลักษณะจะเปลี่ยนไปตามแต่ละยุคสมัย ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อม


อย่างบ้านเราทุกวันนี้ เมื่อไรก็ตามที่เกิดกระแสต่อสู้ เรียกร้อง ปกป้องสิทธิ์ การก่อม็อบปิดถนนได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่นิยมเอาอย่างกัน ซึ่งผมเห็นกระจายไปทั้งระดับเล็กๆ อย่างชุมชน จนถึงการเมืองระดับประเทศ
ในบริบทองค์กร ผมมอง “ลัทธิเอาอย่าง” เป็นส่วนหนึ่งของ Organizational Behavior ที่น่าสนใจ กูรูหลายสำนักก็ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ในด้านพฤติกรรมศาสตร์อย่างจริงจัง


ตลอดเกือบยี่สิบปีที่ผมเฝ้าสังเกตวิถีชีวิตของมนุษย์เงินเดือน ผมเห็นลัทธิเอาอย่าง สะท้อนในหลายรูปแบบ ปะปนกันไป  มีทั้งดี และไม่ดี


“ครูพักลักจำ” ก็เป็นลัทธิเอาอย่างแบบอ้อมๆ เพราะเมื่อไหร่ที่เรามองเห็นความโดดเด่นของเพื่อน หรือของใครในบางมุมที่เราไม่มี หรือมีแต่ด้อยกว่า แล้วจดจำ เอามาทำตาม ก็ถือเป็นการเอาอย่างในทางสร้างสรรค์


ยิ่งทำกันเยอะ ก็ยิ่งดี ผมสนับสนุน เพราะจะมีประโยชน์ต่อตัวเรา และองค์กร


แต่กระนั้นก็ต้องระวังด้วย ต้องไม่ให้เสียความเป็นตัวตน ดีที่สุดคือการปรับให้เข้ากับตัวเอง และไม่พยายามจะเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่เรา เพราะนั่นจะทำให้เกิดอาการไปไม่รอดในระยะยาว


ในบางมุม ผมก็เห็นการเอาอย่าง ที่เข้าข่ายแปลก เป็นการเลือกทำตาม ทั้งๆ ที่ไม่รู้เลยว่าสิ่งๆ นั้นถูกหรือไม่?


ยกตัวอย่างให้ชัดขึ้น ที่องค์กรหนึ่งที่ผมเคยไปให้คำปรึกษา ผมเฝ้าสังเกตและตั้งข้อสงสัยว่ารูปแบบของ                   พรีเซ็นเตชั่น ภาพประกอบ เทคนิคสไลด์ดีมาก และเผลอๆ ยอดเยี่ยมยิ่งกว่า Content เสียอีก


พอแกล้งถาม ก็จับได้ว่า เป็นสไตล์ที่ผู้บริหารชอบ สไลด์สวย ทำให้ผู้พูดดูดี มีชาติตระกูล


ที่น่าเศร้ายิ่งกว่า เพราะเรื่องนี้กลายเป็น Norm ไปแล้ว แทนที่ทุกคนจะสนใจเนื้อหา กลับสร้างค่านิยมแข่งกันทำสไลด์ ด้วยหลงเชื่อว่า สิ่งนั้นสำคัญ 


ไม่มีใครไม่ชอบของสวยงาม ดูแล้วเจริญหู เจริญตา แต่สิ่งนี้สำหรับผมคือองค์ประกอบ คุณค่าที่แท้จริง ต้องอยู่ที่ Content เป็นหลัก การทำตามโดยไม่แยกแยะความสำคัญก่อนหลัง ถือเป็นเรื่องอันตราย


แต่นั่นก็คงไม่หนักเท่ากับการทำตามในเรื่องที่ไม่สมควร


เราคงเคยได้ยินบ่อยว่า หลายคนมาทำงานสาย เพราะในสังคมนั้น การเข้างานช้าเป็นเรื่องปรกติ หรือบ่ายโมงแล้ว ยังไม่มีใครเข้าออฟฟิศ เพราะออกไปกินข้าวเที่ยงเกินเลยไปถึงบ่ายสอง แบบไม่สะทกสะท้าน


บางครั้งเห็นใครกลับบ้านเร็ว ก็กลับด้วย ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริง “เข้าเมืองตาหลิ่ว ไม่ต้องหลิ่วตาตาม” ก็ได้


ผมเคยวิเคราะห์และพบว่า โดยพื้นฐานสังคมก็ทำให้คนอ่อนแอได้ หลายคนไม่ได้ต้องการทำแบบนั้น แต่เพราะวัฒนธรรมที่ทำกันมา จึงเกิดการเอาอย่าง ทำตามๆ กัน จนเป็นเรื่องธรรมดา


ผมเองก็พลาดหลายหน หรืออย่างล่าสุดตั้งใจจะทำบางอย่างลงไป ด้วยอาการคล้ายๆ กัน ทั้งๆ ที่รู้ว่าเรื่องนั้นไม่สมควร แต่เราก็ดันทุรัง เพราะไม่ต้องการเสียเปรียบคนอื่น


เข้าทำนอง “เขาทำได้ ฉันก็ต้องทำได้”


จนได้กัลยาณมิตรเตือนสติ เพื่อนสอนผมว่า ทุกๆ สังคม มีคนดี คนไม่ดี คนกลางๆ ปะปนกัน และจริงอยู่ที่บ่อยครั้งคนไม่ดี ก็ทำให้คนดีท้อแท้ เพราะไม่ได้รับบทลงโทษ หรือผลที่ตัวเองทำไป


แต่คนทำไม่ดี เพราะไม่รู้ กับเราทั้งๆ ที่รู้แล้วก็ยังทำ เพราะกลัวน้อยหน้า อย่างนี้ใช้ไม่ได้  เป็นการเอาอย่าง แบบเอาเปรียบองค์กร


เมื่อย้อนกลับไปวัยเด็ก เราคงจำภาพเด็กตัวน้อยๆ นั่งหน้าทีวีทุกเช้า ดูมดเอ็กซ์ มดแดง หน้ากากเสือ และมีของเล่นเป็นการ์ตูนที่ว่าอยู่เต็มกระเป๋า


บางครั้ง เราก็วาดฝันอยากเก่งให้ได้อย่างซูเปอร์ฮีโร่ ที่มีคุณธรรม และช่วยเหลือปราบศัตรู คนพาลทั้งหลาย


ผมยังอยากให้เรามีวิธีคิดแบบนี้ เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าทุกคนคิด และเลือกทำตามกัน ยิ่งมากเท่าไหร่ ต่อไปภายหน้า เราจะอยู่ในสังคมที่ดีแน่นอนครับ