ปรากฏการณ์"เหนือเมฆ" แค่พลังสังคมบนหน้าคอม?

ปรากฏการณ์"เหนือเมฆ" แค่พลังสังคมบนหน้าคอม?

ลองตั้งสติมองเข้าไปในปรากฏการณ์"เหนือเมฆ2" แล้วลองตั้งคำถามว่าพวกเราจะใช้"พลังทางสังคม"ช่วยกันป้องกัน

ไม่ให้ปรากฏการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร

ผมเชื่อว่าในที่สุดผู้บริหารช่อง3 ก็จะไม่พูดไม่ชี้แจงเพิ่มเติม เพราะถือว่าได้ชี้แจงผ่านหน้าจอโทรทัศน์ไปแล้วและเป็นบริษัทเอกชนที่ไม่จำเป็นจะต้องไปตอบชี้แจงสาธารณะหรือคนดูทุกครั้ง ท้าพิสูจน์กันได้เลยว่าเรทติ้งของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ก็จะไม่ลดลง มิหนำซ้ำกลับจะเพิ่มขึ้นรักษาแชมป์ได้มั่นคงยิ่งขึ้น งบการเงินของช่อง 3 จะยิ่งมีตัวเลขกำไรสุทธิมากยิ่งขึ้น

ผู้บริหารช่อง 3 ตระกูลมาลีนนท์เป็น"ผู้รับสัมปทาน"คลื่นโทรทัศน์ช่อง 3 มาตั้งแต่ปี 2513 ระหกระเหินในช่วงแรกๆและผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนถึงวันนี้ยาวนานกว่า 43 ปีแล้วและยังเหลืออายุสัมปทานอีก 7 ปีจะหมดอายุในปี 2563

ผู้บริหารระดับสูงของช่อง 3 ล้วนแต่เป็นนักธุรกิจที่ฉลาดเป็นกรดทำธุรกิจประสบความสำเร็จมาโดยตลอด เรียนรู้การรักษาตัวรอดเป็นยอดดีเมื่อได้กลิ่นอาการผิดปกติในช่วงเวลาเดียวกันกับกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ไปหยิบการต่ออายุสัญญาสัมปทานช่อง 3 อัตโนมัติอีก 10 ปีที่เกิดขึ้นในสมัยคณะกรรมการอสมท.ชุดที่แล้วในช่วงรอยต่อรัฐบาล"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"มาสู่รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"มาตรวจสอบ

การตัดสินใจ"ยุติการออกอากาศ"ละครเรื่อง"เหนือเมฆ 2 มือปราบจอมขมังเวทย์"ให้เป็น"ละครที่ไม่มีตอนจบ" ย่อมประเมินผลได้ผลเสียแล้วจะสูญเสียเงินไปครั้งเดียวประมาณ 10 ล้านบาท เทียบกับอายุสัมปทานยังเหลืออีก 7 ปีที่ทำรายได้ปีละร่วมหมื่นล้านบาทและกำไรสุทธิประมาณ 3 พันล้านบาทต่อปี

พวกเขาอยู่ในสังคมทุนนิยมที่เงินเป็นใหญ่ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นจะต้องกดเครื่องคิดเลขบวกลบคูณหารออกมาเป็นตัวเงินแล้วค่อยตัดสินใจ นักสื่อสารมวลชนแบบอุดมคติอย่าเพิ่งตีโพยตีพายมากเกินความจำเป็น เอาเป็นว่าวิพากษ์วิจารณ์อย่างพอท้วมๆ อย่าถึงขั้นเอาเป็นเอาตายกันเลย

"ละครที่ไม่มีตอนจบ"คือการตัดสินใจแบบสุดยอดของการบริหารในยามวิกฤติแบบ"เหนือเมฆ"ที่ตระกูลมาลีนนท์มีความเชี่ยวชาญที่ไม่ได้แตกต่างจาก"นักธุรกิจสัมปทาน"ในประเทศไทยสักเท่าไหร่
การไม่มีคำอธิบายใดๆเพิ่มเติม นอกเหนือจากคำชี้แจงว่า"เนื้อหาไม่เหมาะสม"คือคำตอบที่"ปลอดภัยที่สุด"ในสังคมแบบไทยๆที่นักธุรกิจสัมปทานยังต้องอยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมืองที่ชี้เป็นชี้ตายได้
ผู้บริหารช่อง 3 ไม่ได้โกหกสังคมและไม่ได้ White Lie อีกด้วย ก็เพียงแค่ไม่สามารถอธิบาย"ความจริง"ทั้งหมดได้เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าหากเป็น"นักการเมือง"พฤติกรรมแบบนี้ ถือเป็น"การโกหก"ต่อประชาชนเพราะพวกเขาอาสาเข้ามารับใช้ประชาชน

แต่สำหรับ"นักธุรกิจ"ก็คือการรักษาผลประโยชน์ของธุรกิจไม่ให้ถูกกระทบกระเทือน ซึ่งใครๆก็ทำกันในสังคมไทยที่อย่าไปปฏิเสธเลยว่ายังมีอำนาจเถื่อนๆของนักการเมืองครองเมืองอยู่ยากที่นักธุรกิจจะต่อกรได้

ในขณะที่ผมไม่คิดว่า"รัฐมนตรี"หรือ"คนในรัฐบาล"คนไหนจะไร้สติปัญญาไปออก"คำสั่ง"เป็นลายลักษณ์อักษรให้ช่อง 3 เลิกออกอากาศละครเหนือเมฆ และไม่คิดว่า"คนเหนือรัฐบาล"คนไหนที่ทำตัวเหมือนจะเป็น"จอมขมังเวทย์"มีอำนาจเหนือเมฆเหนือ"นายกรัฐมนตรีหญิงของเรา"จะไปทำอะไรโง่เง่าเช่นนั้น อาจจะเพียงแค่ใครสักคนรอบๆคุณทักษิณกระแอมออกมาเท่านั้นก็ทำให้ผู้บริหารช่อง 3 ตื่นตกใจจนต้องรีบเซนเซอร์ตัวเองสั่งเลิกออกอากาศละครเหนือเมฆ

ผมจึงคิดว่าไม่ควรประณามผู้บริหารช่อง 3 อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู แต่ออกจะ"เห็นใจ"ว่าอย่างน้อยที่สุดช่อง 3 ยังมีความพยายามผลิตละครน้ำดีที่ไม่ใช่ละครตบตีแย่งผัวแย่งเมียกันที่ทำเมื่อไหร่ก็เรทติ้งกระฉูดขายโฆษณาได้เต็มล้น เมื่อเทียบกับละครของช่อง 7 ที่ว่ากันตามความเป็นจริง ยังแทบไม่เห็นความพยายามผลิตละครน้ำดีออกมาให้เป็นข้อคิดดีๆกับสังคมไทย เนื้อหายังซ้ำซากแย่งผัวแย่งเมียอิจฉาริษยาหรือไม่ก็พาฝันออกจากโลกความเป็นจริงไปเสียเป็นส่วนใหญ่

เพราะฉะนั้น จงอย่าเพิ่งไปตื่นเต้นเป็นกระต่ายตื่นตูมจนเกินเหตุ แล้วรุมด่าด้วยภาษาหยาบคายถึงใครบางคนแบบไทยมุงรุมกระทืบผู้ต้องหา โดยไม่ดูข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
อย่าเพิ่งไปฟูมฟายว่าละครโทรทัศน์เรื่องเดียวไม่ได้ถูกออกอากาศแล้วจะทำให้เสรีภาพสูญสิ้นจากแผ่นดินไทย ถ้ายังรุมด่ารุมประณามกันได้ขนาดนี้แสดงให้เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยังมีอยู่ในสังคมไทย

อย่าเพิ่งไปชี้หน้าด่านายทุนช่อง 3 ว่าเป็นนายทุนขี้ขลาดตาขาว เพียงแค่ยังไม่พร้อมจะอธิบายชี้แจงเพิ่มเติมถึงเหตุผลจริงๆ อยากให้ลองทำตัวเป็นเจ้าของช่อง 3 บ้างในภาวะเช่นนี้
แล้วก็อย่าเพิ่งไปโพนทะนาว่ารัฐบาล"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"เป็นเผด็จการปิดกั้นสื่อด้วยละครเรื่องเดียวไม่ได้ออกอากาศ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์ที่ถูกแบนหลายเรื่องแล้วด้วยเหตุผลแบบไร้เหตุผล
แล้วก็อย่าเพิ่งไปโยงอาการโหมกระแสในโซเชี่ยลมีเดียของบรรดาคนไม่ชอบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จนกลายเป็นเรื่องของพวกสลิ่มไร้สมองถึงเวลาได้จังหวะรุมตีกินด่าทักษิณ ฯลฯ

สังคมไทยเข้าสู่ยุคแบ่งฝ่ายแบ่งสีที่ไม่ยอมรับฟังไม่คุยกัน จึงเกิดความพยายามของแต่ละฝ่ายแย่งชิงพื้นที่สื่อในทุกๆแพลทฟอร์ม ปรากฏการณ์แบบ"ดราม่า"ขยายเรื่องจนเยอะเกินความเป็นจริงย่อมเกิดขึ้นได้บ่อยๆและเกิดขึ้นได้ง่ายมากในโลกสื่อสารสมัยใหม่ อยากให้มองว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางสังคมของการแบ่งสีแบ่งฝ่ายที่ไม่มีใครยอมใคร หาใช่เป็นความเลวร้ายของพวกสลิ่มเลอะเทอะแต่อย่างใด

ในขณะที่อีกฝ่ายที่มักเรียกตัวเองว่าเป็นพวก"ก้าวหน้า-เสรีนิยม"ก็อย่าเพิ่ง"สวมแว่นบังตา"หรือ"ปิดตาข้างเดียว"แล้วรีบสรุปแบบเดาทางได้ทุกครั้งอีกเหมือนกัน เอาแต่ปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์แบบสุดลิ่มทำถูกทุกเรื่องไม่ว่าจะเห็นตำตาว่าผลาญงบประมาณจากโครงการจำนำข้าว,รถยนต์คันแรกไปมากแค่ไหนว่าการเลิกออกอากาศละครเหนือเมฆไม่เกี่ยวกับการเมืองหรือทักษิณ ซึ่งไม่ต่างจากคนอีกสีที่มักถูกเย้ยหยันว่าเป็นพวกสลิ่มที่ไม่มีสมองเชียร์พรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ไม่สนว่าเป็นรัฐบาลฆาตกร 100 ศพ

อยากให้ลองประมวลเรื่องราวปรากฏการณ์"เหนือเมฆ2"จะเห็นเบาะแสหรือร่องรอยว่าน่าจะมีประเด็นหลายอย่างให้คิดได้ว่าเนื้อหาและชื่อตัวละครพ้องจองกับเหตุการณ์การเมืองไทยในยุคนี้จริงๆ ทำให้มีมูลเหตุโยงไปถึง"การเมือง"ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะทำให้"คนเหนือเมฆ"หรือคนรอบข้างเดือดร้อนแทนนายใหญ่ได้

ละครเหนือเมฆมีตัวละครชื่อ"แพร"นำหน้าเหมือนกับลูกสาวคนหนึ่งของคุณทักษิณ , บทพูดถึงการขอสัมปทานดาวเทียมของนักธุรกิจสาวใหญ่ , การตั้งชื่อหน่วยงานสอบสวนพิเศษที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองใกล้เคียง DSI , บทพูดด้วยภาษาแรงๆจงใจด่านักการเมืองที่น่าจะเป็นบทละครเวทีมากกว่าละครโทรทัศน์ , บทบาทของจอมขมังเวทย์ที่มีอำนาจเหนือนายกรัฐมนตรี ฯลฯ
แต่ปรากฏการณ์"เหนือเมฆ"ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นครั้งแล้วเล่าในสังคมไทย แล้วสักพักก็จะกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งหายไปในไม่กี่วัน พวกเราล้วนกำลังเป็นเหยื่อปรากฏการณ์จากอำนาจ"เหนือเมฆ"ที่ยังไม่เห็นว่าพลังสังคมจะทำให้เรื่องแย่ๆแบบนี้หมดไปจากสังคมไทยได้เมื่อไหร่

เหมือนๆกับ"ปรากฏการณ์เหนือเมฆ"อีกหลายเรื่องในสังคมไทยที่คนไทยพวกเรากันเองนั่นแหละที่มีนิสัยไม่ได้เอาจริงเอาจังหาทางแก้ไข ไม่ได้เกาะติดแบบไม่ปล่อยให้นักการเมืองที่ใช้อำนาจแบบเหนือเมฆ"ลอยนวล"ได้อีก ไม่ได้อุ้มชูสนับสนุนศิลปินคนสร้างงานศิลปะอย่างจริงจังให้พวกเขาหลุดพ้นจากวงจร"เหนือเมฆ"ที่ดิ้นไม่พ้นสักคน

เอาเข้าจริงแล้ว พวกเราก็แค่ช่วยกันกระพือ แต่ก็ไม่ได้"ลงมือ"ทำอะไรกันจริงจังสักครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์เหนือเมฆของการใช้อำนาจเถื่อนๆของนักการเมืองหรือข้าราชการอนุรักษ์นิยมมาปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกของสื่อ-ศิลปินได้อีกต่อไป เพียงแต่ครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่รุกล้ำเข้ามาสู่"ละครโทรทัศน์"เป็นครั้งแรกทำให้เกิดกระแสโหมแรงจัด

ผู้กำกับภาพยนตร์หลายคนที่ตกเป็นเหยื่อแบบ"เหนือเมฆ"คนแล้วคนเล่าที่แรกก็ครึกโครม แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่มีใครไปแยแสพวกเขาที่บางคนยังต่อสู้,บางคนท้อถอยเลิกต่อสู้ ฯลฯ ส่วนใหญ่หนังถูก"แบน"ด้วยคำอธิบายแปลกๆทั้งๆที่พวกเขาตั้งอกตั้งใจผลิตด้วยความเชื่อในงานศิลปะแขนงภาพยนตร์ที่สามารถสะท้อนภาพสังคมได้ออกฉาย เช่น เจ้ย-อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุลที่ไม่ยอมตัดบางฉากของ"แสงศตวรรษ", อิ๋ง-สมานรัชฎ์ กาญจนะวนิชย์ จากหนังเรื่อง"เชคสเปียร์ต้องตาย", ธัญญ์วาริน สุระพิศิษฐ์จาก Insect in The Backyard

แม้กระทั่งเสียงเรียกร้องให้ใช้กระแสสังคม"บอยคอตเลิกช่อง 3-เลิกลงโฆษณาช่อง 3 "ที่เกิดขึ้นมาหลายกรณีตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่น กรณีรายการไทยแลนด์ก็อตทาเล้นท์ที่ให้ผู้หญิงใช้"เต้านม"ละเลงสีมาทาถูเป็นภาพศิลปะ, กรณีบริษัทไร่ส้มของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดาที่ถูกกล่าวหาทุจริตเงินโฆษณาของช่อง 9 จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ฯลฯ ทั้งหมดไม่ได้เกิดผลกระทบจากคนดูลดลงหรือผู้ลงโฆษณาหายไปจนทำให้ช่อง 3 ต้องกลับมาฟังพลังทางสังคมมากกว่ายอมรับสภาพจำนนภายใต้ระบบสัมปทานที่นักการเมืองยังมีอำนาจเหนือ

พวกเราลองตั้งสติกลับมาถามตัวเอง ก่อนจะออกไปชี้หน้าด่าใครว่าเลว,ขี้ขลาดตาขาว,เผด็จการปิดกั้นสื่อ ฯลฯ พวกเรายังทำได้แค่ส่งเสียงด้วยการเขียนสนุกๆด้วยคำพูดสะใจบน Facebook แม้ว่าได้ตั้งกลุ่มรณณรงค์ไม่เอาช่อง 3 ผ่านหน้าคอมพิวเตอร์,แท็ปเล้ตหรือโทรศัพท์ไอโฟน ฯลฯ หากยังทำได้แค่นี้ก็เสียเวลาเปล่าๆ ไม่ได้ป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์"เหนือเมฆ2"ได้อีกต่อไป
พลังของสังคมในพ.ศ.นี้ที่มีเครื่องมือสื่อสารผ่าน Social Media และโอกาสการทำกิจกรรม Offline มากมายน่าจะลงมือทำจริงจัง,ต่อเนื่องให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้มีพลังมากกว่านี้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ให้นักการเมืองชั่วครองเมืองอีกต่อไปแม้ว่าจะต้องใช้เวลานาน